ยาลดน้ำหนัก อาหารเสริมลดความอ้วน หลายครั้งที่ออกข่าวว่าตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย ว่าแต่อาการข้างเคียงของสารชนิดนี้เป็นยังไง แล้วทำไมถึงทำให้คนอยากลดความอ้วนถึงตายได้ ลองมาดู ไซบูทรามีน คือสารอะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงถูกลักลอบนำมาใช้กับอาหารเสริมลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนบางยี่ห้อ วันนี้เราจะพามารู้จักการออกฤทธิ์ของไซบูทรามีน รวมไปถึงผลข้างเคียงของสารอันตรายชนิดนี้ พร้อมเช็กอาการที่พอสังเกตได้ว่าเรารับสารไซบูทรามีนเข้าร่างกายไปแล้ว ไซบูทรามีน (Sibutramine) เดิมคือยาที่ใช้ในการควบคุมโรคอ้วนในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจากโรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง หรือโรคความดันโลหิตสูง มีชื่อทางการค้าว่า รีดักทิล (Reductil) และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะยาตัวนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และลดความอยากอาหาร แต่เนื่องจากผลข้างเคียงที่ร้ายแรงและอันตรายต่อสุขภาพ ยาไซบูทรามีนจึงถูกถอนออกจากตลาดทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากมีผลทดลองทางคลินิกวิทยาที่พบว่า ไซบูทรามีน มีผลข้างเคียงอันตราย เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ใช้ยามากนัก ดังนั้น สารไซบูทรามีนจึงถูกแบน เพราะประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ต้องเจอ ด้วยกลไกการทำงานของไซบูทรามีน ที่จะออกฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) รวมไปถึงโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความอยากอาหารและต้านอาการซึมเศร้า เมื่อได้รับยาเข้าไปจึงลดความรู้สึกหิว ทำให้อารมณ์ดี อีกทั้งยังพบว่าไซบูทรามีนมีฤทธิ์กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงยังคงถูกลักลอบนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนักนั่นเอง เมื่อได้รับยาไซบูทรามีนอาจพบผลข้างเคียงจากสารตัวนี้ เช่น นอนไม่หลับ ปากแห้ง การรับรู้รสเปลี่ยนไป ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ยังอาจพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาไซบูทรามีน เช่น หายใจลำบาก, อาเจียน, ท้องเสีย, ช้ำหรือเลือดออกง่าย, เจ็บหน้าอกตื้อ ๆ, ปวดลามไปที่แขนหรือไหล่, ชาหรืออ่อนแรงเฉียบพลัน (โดยเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย), มองเห็นภาพไม่ชัด, สับสน, สูญเสียการทรงตัว และอาจร้ายแรงถึงขั้นหัวใจขาดเลือด หัวใจตาย หรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้ แม้จะถอนทะเบียนยาและประกาศห้ามใช้ไซบูทรามีนแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีการลักลอบใส่สารอันตรายนี้มาในอาหารเสริม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก บล็อก-เบิร์นไขมันได้ทันใจ ดังนั้น การจะหลีกเลี่ยงสารอันตรายชนิดนี้ก็เพียงแค่ไม่ซื้ออาหารเสริม กาแฟ หรือยาที่อวดอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วช่วยลดน้ำหนัก แล้วเลือกลดความอ้วนด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและปลอดภัยที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายไซบูทรามีน จะมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้ มาตรา 149 วรรคสอง (1) ฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ที่กระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท มาตรา 58 ผู้ที่ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ (ตามมาตรา 25 (1)) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 51 เข้าข่ายผลิตเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารที่มีฉลาก ข้อความในฉลาก เงื่อนไข วิธีการแสดงฉลาก หลักเกณฑ์ และวิธีการโฆษณาในฉลากไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 6 (10)) มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท มาตรา 70 โฆษณาอาหารโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 คือ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ เป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนผ่านออนไลน์ มีความผิดตามมาตรา 14 (1) ฐานโฆษณาโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โดยทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าอยากลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย แนะนำว่าอย่าใช้ทางลัดเป็นอาหารเสริมหรือยาลดความอ้วนจะดีกว่า เพราะหากพลั้งพลาดขึ้นมาอาจไม่ได้เสียสุขภาพอย่างเดียว แต่อาจเสียชีวิตได้เลย 10 ทริกลดน้ำหนักแบบ IF ให้เห็นผลไว Fasting ยังไงให้ผอมลง ลดน้ำหนัก 4 กิโลกรัมใน 1 เดือน ควรลดความอ้วนด้วยสูตรไหน กินอาหารอะไรได้บ้าง ลดน้ำหนักแบบคีโต ต้องกินยังไง ให้ลดความอ้วนได้จริง เปิดสูตรลดน้ำหนัก 10 ดาราเกาหลี ทำยังไงให้ได้หุ่นแบบนี้ต้องดู ! 20 เมนูอาหารเย็นลดน้ำหนัก ไม่เกิน 200 แคลอรี อิ่มแบบไม่อ้วน ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กองควบคุมวัตถุเสพติด, สภาองค์กรของผู้บริโภค, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ราชกิจจานุเบกษา (1), (2), drugs.com
แสดงความคิดเห็น