ยาลดน้ำหนัก อาหารเสริมลดความอ้วน หลายครั้งที่ออกข่าวว่าตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย ว่าแต่อาการข้างเคียงของสารชนิดนี้เป็นยังไง แล้วทำไมถึงทำให้คนอยากลดความอ้วนถึงตายได้ ลองมาดู
ไซบูทรามีน คือสารอะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงถูกลักลอบนำมาใช้กับอาหารเสริมลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนบางยี่ห้อ วันนี้เราจะพามารู้จักการออกฤทธิ์ของไซบูทรามีน รวมไปถึงผลข้างเคียงของสารอันตรายชนิดนี้ พร้อมเช็กอาการที่พอสังเกตได้ว่าเรารับสารไซบูทรามีนเข้าร่างกายไปแล้ว
ไซบูทรามีน (Sibutramine) เดิมคือยาที่ใช้ในการควบคุมโรคอ้วนในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจากโรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง หรือโรคความดันโลหิตสูง มีชื่อทางการค้าว่า รีดักทิล (Reductil) และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะยาตัวนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และลดความอยากอาหาร แต่เนื่องจากผลข้างเคียงที่ร้ายแรงและอันตรายต่อสุขภาพ ยาไซบูทรามีนจึงถูกถอนออกจากตลาดทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
ไซบูทรามีน
กับผลข้างเคียงสุดอันตรายจนถูกห้ามใช้
เนื่องจากมีผลทดลองทางคลินิกวิทยาที่พบว่า ไซบูทรามีน มีผลข้างเคียงอันตราย เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ใช้ยามากนัก ดังนั้น สารไซบูทรามีนจึงถูกแบน เพราะประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ต้องเจอ
ไซบูทรามีน ออกฤทธิ์ยังไง
ทำไมนิยมใส่ในยาลดน้ำหนัก
ด้วยกลไกการทำงานของไซบูทรามีน ที่จะออกฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) รวมไปถึงโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความอยากอาหารและต้านอาการซึมเศร้า เมื่อได้รับยาเข้าไปจึงลดความรู้สึกหิว ทำให้อารมณ์ดี อีกทั้งยังพบว่าไซบูทรามีนมีฤทธิ์กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงยังคงถูกลักลอบนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนักนั่นเอง
ไซบูทรามีน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย
มีอาการเป็นยังไง
เมื่อได้รับยาไซบูทรามีนอาจพบผลข้างเคียงจากสารตัวนี้ เช่น
อย่างไรก็ดี ยังอาจพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาไซบูทรามีน เช่น หายใจลำบาก, อาเจียน, ท้องเสีย, ช้ำหรือเลือดออกง่าย, เจ็บหน้าอกตื้อ ๆ, ปวดลามไปที่แขนหรือไหล่, ชาหรืออ่อนแรงเฉียบพลัน (โดยเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย), มองเห็นภาพไม่ชัด, สับสน, สูญเสียการทรงตัว และอาจร้ายแรงถึงขั้นหัวใจขาดเลือด หัวใจตาย หรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้
แม้จะถอนทะเบียนยาและประกาศห้ามใช้ไซบูทรามีนแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีการลักลอบใส่สารอันตรายนี้มาในอาหารเสริม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก บล็อก-เบิร์นไขมันได้ทันใจ ดังนั้น การจะหลีกเลี่ยงสารอันตรายชนิดนี้ก็เพียงแค่ไม่ซื้ออาหารเสริม กาแฟ หรือยาที่อวดอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วช่วยลดน้ำหนัก แล้วเลือกลดความอ้วนด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและปลอดภัยที่สุด
ไซบูทรามีน มีโทษทางกฎหมายยังไง
ปัจจุบันประเทศไทยจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายไซบูทรามีน จะมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564
มาตรา 149 วรรคสอง (1) ฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ที่กระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522
-
มาตรา 58 ผู้ที่ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ (ตามมาตรา 25 (1)) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-
มาตรา 51 เข้าข่ายผลิตเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารที่มีฉลาก ข้อความในฉลาก เงื่อนไข วิธีการแสดงฉลาก หลักเกณฑ์ และวิธีการโฆษณาในฉลากไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 6 (10)) มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
-
มาตรา 70 โฆษณาอาหารโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 คือ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ เป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
กรณีจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนผ่านออนไลน์ มีความผิดตามมาตรา 14 (1) ฐานโฆษณาโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โดยทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าอยากลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย แนะนำว่าอย่าใช้ทางลัดเป็นอาหารเสริมหรือยาลดความอ้วนจะดีกว่า เพราะหากพลั้งพลาดขึ้นมาอาจไม่ได้เสียสุขภาพอย่างเดียว แต่อาจเสียชีวิตได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้องกับวิธีลดน้ำหนัก