x close

อัพเดทสมรภูมิไวรัส รู้ทันก่อนเชื้อแพร่กระจาย


สุขภาพ
 

อัพเดทสมรภูมิไวรัส รู้ทันก่อนเชื้อแพร่กระจาย (Lisa)

          ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกังวลเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 เราอยากบอกเหลือเกินว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่านั่นคือการล้างบางมนุษยชาติด้วยเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายที่ยังไม่มีเซรุ่มรักษา หรือแม้แต่ไวรัสที่มากับอาวุธชีวภาพก็ตามแต่

          หลาย ๆ คนคงได้ติดตามข่าวของการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาที่คร่าชีวิตคนในทวีปแอฟริกาไปแล้วกว่าพันคน ก่อนหน้านั้นก็เป็นที่น่าวิตกกับเชื้อไวรัส H1N1 และอีกมากที่อยู่ในประเภทของไวรัส ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่ยืนยันว่าจะมีทางรักษาให้หายขาดได้

เชื้ออีโบล่า

อีโบลา ไวรัสมฤตยู

          จะว่าไปการควบคุมให้หยุดระบาดนั้นยากมากและเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าผู้ป่วย (ที่มีเชื้อแฝง) จะเดินทางมายังประเทศเราเมื่อไร เช่น ในกรณีล่าสุดที่มีผู้ป่วยเดินทางไปกับเครื่องบินจากไลบีเรียแล้วต่อมาไปเสียชีวิตที่ประเทศไนจีเรีย รวมทั้งนายแพทย์ชีคห์ อูมาร์ ข่าน จากเซียร์ราลีโอน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในการต่อต้านเชื้อโรคอีโบลา ที่สุดท้ายก็กลับมาเสียชีวิตเพราะติดเชื้อเสียเอง

          อีโบลาเป็นโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง (Zaire Ebolavirus) ที่พบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ใกล้กับลุ่มแม่น้ำอีโบลา ในสาธารณรัฐคองโก แม้จะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นแหล่งต้นตอ แต่ไวรัสชนิดนี้ก็มีถึง 5 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ร้ายแรง ได้แก่ สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี และสายพันธุ์บันดิบูเกียว สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ไม่ยากเย็น ไม่ว่าจะการรับหรือสัมผัสของเหลวนับจากเลือด น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ สารคัดหลั่งต่าง ๆ ตลอดจนเชื้ออสุจิจากผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่พบว่าเกิดจากการหายใจในอากาศร่วมกัน

          สำหรับสถานการณ์ที่ดูน่าเป็นห่วงนั้นเกิดจากการระบาดในแถบแอฟริกาอีกครั้ง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนถึงชายแดนของไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แม้จะมีการป้องกันและสกัดกั้นอย่างเข้มข้น แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของเชื้อได้ ผู้ที่คาดว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกคือหญิงวัยกลางคนชาวไนจีเรียที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากคาดว่าได้รับเชื้อจากสัตว์จำพวกลิงหรือค้างคาว โดยเป็นตัวปล่อยเชื้อแต่ไม่เป็นอันตรายในตัวสัตว์เอง นับจากนั้นก็มีคนติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่าสองพันราย โดยที่ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันได้

Facts Sheet:

           โรคอีโบลามีระยะฟักตัว 2-21 วัน

           อาการ แรกคือมีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งตัว เจ็บคอ ท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูน มีเลือดออกตามเยื่อบุของร่างกาย เลือดออกที่อวัยวะภายใน เรื่อยไปถึงการทำงานของตับและไตล้มเหลว

           ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิต 50-90%

           ยังไม่มีเซรุ่มที่รักษาให้หายขาดได้ และยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย

ไข้หวัดใหญ่ H1N1

ไข้หวัดใหญ่ H1N1

          นี่คือไวรัสอีกสายพันธุ์ที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย และน่าตกใจยิ่งกว่าที่แพร่กระจายไปแล้วทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยมากกว่าแสนราย และเสียชีวิตกว่า 18,000 ราย ทั้งยังอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ เพราะมีคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อนี้แล้ว โดยเฉพาะภาคกลางหลังจากที่โลกเคยระวังไวรัสชนิดนี้มาก่อน และกลับมาอีกครั้งในปีพ.ศ. 2552 (ไข้หวัด 2009) ที่หวั่นวิตกกันว่าจะรุนแรงกว่าเดิม

          แรกเริ่มถูกเรียกว่าไข้หวัดหมู เพราะพบว่าเชื้อดั้งเดิมมาจากสัตว์ชนิดนี้ โดยพบในทวีปอเมริกา แต่ผู้เสียชีวิตคนแรกคือชาวเม็กซิกัน และต่อมาก็มีคนทยอยเสียชีวิตมากขึ้นโดยคาดว่าเกิดจากการรับมือที่ยังไม่ถูกวิธี และสาเหตุสำคัญอีกอย่างคือเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้ง่ายแค่การไอหรือการจามต่อกัน หรือการสัมผัสกับสิ่งที่มีไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในบริเวณนั้น ส่วนในประเทศไทย เราเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 (ที่มีไข้หวัดนก) จนในปี พ.ศ. 2552 เราก็มีผู้ป่วยรายแรกโดยพบพร้อมกันหลายสิบคน
         
          อย่างน้อย ๆ สิ่งหนึ่งที่เรายังได้พักหายใจบ้าง นั่นคือเป็นไวรัสที่แพร่ตามฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าฝนและหน้าหนาว ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงและมีวัคซีนป้องกัน และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สำหรับคนที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งเป็นมากในกลุ่มคนสูงวัย คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ หญิงมีครรภ์ ผู้เป็นโรคอ้วน และเด็กเล็กที่ร่างกายไม่แข็งแรงนั้น ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะเฉียบพลันและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา

          จนถึงขณะนี้เราอาจตอบไม่ได้ว่าในอนาคตโลกจะเกิดไวรัสชนิดใหม่ชนิดใดขึ้นอีกหรือไม่และเราจะรับมืออย่างไร ทำได้เพียงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากเข้าไปในที่ชุมชนก็ควรป้องกันตัวเองทุกครั้งเพื่อให้ปลอดภัยโดยพื้นฐานและพร้อมรักษาได้อย่างทันท่วงที

Facts Sheet:

           ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน

           อาการคือมีไข้ ท้องเสีย เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนล้า บางคนมีอาการท้องเสียกับอาเจียนร่วมด้วย และอาจทำให้เสียชีวิตได้

           มียาต้านเชื้อแล้วคือกลุ่มนิวรามินิเดส และมีวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่บรรเทาอาการป่วยได้เพียง 62% เท่านั้น และผู้ที่ป่วยแล้วอาจกลับมาป่วยได้อีก

           กลุ่มผู้เสียชีวิตมีอายุ 35-44 ปี ตามด้วย 25-34 ปี และ 10-14 ปี

ไวรัสร้ายในอดีต

          ไวรัสคร่าผู้คนมาแล้วมหาศาล นับจากยุคที่เรายังไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จนถึงวันนี้ที่เราก็ยังต้องติดตามและคิดค้นยารักษาไวรัสชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง

           พ.ศ. 2461-2462 เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน (Spain Flu) ที่ระบาดไปทั่วโลก และมีผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน แต่ผู้เสียชีวิตจำนวนมากอยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

           พ.ศ. 2500-2501 เกิดไข้หวัดใหญ่ชนิด H2N2 หรือที่เรียกกันว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) ระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนแพร่เชื้อไปทั่วโลกจนมีผู้เสียชีวิต 70,000 คน

           พ.ศ. 2511-2512 เกิดไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด H3N2 หรือไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) เพราะผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 คน

           พ.ศ. 2520-2521 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 กลับมาระบาดใหม่ กับที่คุ้นเคยในชื่อไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian Flu) เริ่มต้นที่ทางตอนเหนือของจีนแล้วกระจายไปทั่วโลก และพบว่าเป็นชนิดเดียวกับไข้หวัดใหญ่สเปน

           พ.ศ. 2546 พบไข้หวัดใหญ่ชนิด H5N1 บ้านเราเรียกว่าไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดในทวีปเอเชีย มีความรุนแรงกว่า H1N1 แต่ติดจากสัตว์สู่คน ยอดรวมผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตประมาณเกือบ 300 ราย







ขอขอบคุณข้อมูลจาก




 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัพเดทสมรภูมิไวรัส รู้ทันก่อนเชื้อแพร่กระจาย อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2557 เวลา 15:50:37
TOP