x close

โลดทะนงแดง แก้พิษงู สัตว์มีพิษ ถอนพิษเมาเบื่อ

โลดทะนงแดง

โลดทะนงแดง แก้พิษงู สัตว์มีพิษ ถอนพิษเมาเบื่อ (ไทยโพสต์)

          ในแวดวงหมอพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาพิษงูหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ต้องรู้จักประโยชน์และการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรโลดทะนงแดงเป็นอย่างดี เพราะสมุนไพรตัวนี้มีความโดดเด่นในการถอนพิษสัตว์ร้ายได้ดีมาก บางรายมีพิษตกค้างสะสมในร่างกายเป็นเวลานานหลายปี แต่พอได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้านผู้เชี่ยวชาญโดยการใช้โลดทะนงแดงถอนพา อาการที่เกิดจากพิษนั้นก็หายลุล่วงด้วยดี
    
 วิธีการใช้ในการรักษาพิษงู หมอพื้นบ้านจะใช้ส่วนของรากโลดทะนงแดง 

           ใช้ราก ฝนกับน้ำมะนาว น้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง พิษแมงมุม ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา

           ใช้ราก ผสมกับเมล็ดหมาก ฝนกับน้ำรับประทาน แก้พิษงู หรือผสมกับน้ำมะนาวใช้ทาแผลแก้พิษงู

           ใช้ราก ฝนน้ำกินทำให้อาเจียน เพื่อถอนพิษคนกินยาเบื่อ เมาพิษเห็ดและหอยแก้พิษงู แก้เสมหะเป็นพิษ (เสมหะหรืออุจจาระเป็นมูกเลือด) แก้หืด แก้วัณโรคเป็นยาระบาย    

           ใช้ราก ฝนกับน้ำมะนาวหรือสุรา รับประทานแก้พิษงู 

           ใช้ราก ฝนกับน้ำใช้ทาแก้ฟกช้ำ เคล็ดบวมเกลื่อนฝี หรือดูดหนอง แก้ปวดฝีแตก 

           แพทย์แผนไทยทางอีสาน ใช้รากต้มดื่มแก้วัณโรค
    
          นอกจากนี้ ยังใช้ถอนพิษเบื่อเมา เช่น พิษจากเห็ด พิษเมาหอย ยาเบื่อหรือยาพิษ จัดเป็นพวกยาระบายที่ถ่ายพิษของเสียออกจากร่างกาย
   
          มีรายงานการวิจัยว่าโลดทะนงแดงสามารถต้านพิษงูในสัตว์ทดลองได้
    
          โลดทะนงแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemonreidioides (Kurz) Craib อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่อเรียกอื่นตามท้องถิ่นข้าวเย็นเนิน (ราชบุรี,  ประจวบคีรีขันธ์), ดู่เบี้ย ดู่เตี้ย (เพชรบุรี), ทะนง รักทะนง (นครราชสีมา), ทะนงแดง (ประจวบคีรีขันธ์), นางแซง  (อุบลราชธานี), โลดทะนงแดง (บุรีรัมย์), หนาดคำ (เหนือ) หัวยาเข้าเย็นเนิน ข้าวเย็นเนิน (ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์)

โลดทะนงแดง
    
          โลดทะนงแดง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 1 เมตร ลำต้นเรียวเล็ก ขึ้นเป็นกอ ทุกส่วนของต้นมีขน ลำต้นมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบ เดี่ยวเรียงสลับ เนื้อใบหนา แผ่นใบรูปขอบขนาน  หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก โคนใบมน ปลายใบแหลม เห็นเส้นใบย่อยเห็นชัด และมีขนนุ่มหนาแน่นบนผิวใบทั้งสองด้าน 

          ดอก แบบกระจะ ดอกสีขาว ชมพูม่วงเข้มหรือเกือบดำ ออกเป็นช่อตามซอกใบและตามกิ่งก้าน ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้มีจำนวนมากกว่าอยู่บริเวณโคนช่อมีลักษณะตูมกลม ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ก้านดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ ไม่มีขน มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นแท่งเดียว ดอกเพศเมียตูมรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนจานฐานดอกล้อมรอบฐานของรังไข่ มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบดอกสีขาว 

          ผลแห้งแตกได้ รูปค่อนข้างกลม มีขนสั้นนุ่มปกคลุมหนาแน่น แบ่งเป็น 3 พูชัดเจน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร มีก้านสีแดง ยาว 3-5 เซนติเมตร เมล็ด รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่แกมสามเหลี่ยม  ผิวเรียบ
    
          ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเจริญงอกงามในฤดูฝน พบถึงฤดูแล้งต้นมักตายแล้วเกิดหน่อใหม่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน พบตามป่าเบญจพรรณแล้ง 

โลดทะนงแดง
    
          สรรพคุณทางยา ส่วนราก รสร้อน ใช้ฝนดื่มทำให้อาเจียน ทำให้ถ่าย ใช้ถอนพิษ ยาเมาเบื่อ ถอนพิษเห็ดเมาเบื่อ ถอนพิษเสมหะ แก้หืด คุมกำเนิด แก้วัณโรค ฝนกับน้ำมะนาวหรือสุรารับประทานแก้พิษงู และสัตว์มีพิษได้ทุกชนิด ฝนกับน้ำทาแก้ฟกช้ำ เคล็ดยอกบวม เกลื่อนฝี ดูดหนอง ปวดฝี
   
          ใครที่นิยมปลูกพันธุ์ไม้สมุนไพรก็ไม่ควรพลาดที่จะลองหาโลดทะนงแดงมาปลูกและศึกษาประโยชน์ไว้ใช้ในคราวจำเป็น







ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โลดทะนงแดง แก้พิษงู สัตว์มีพิษ ถอนพิษเมาเบื่อ อัปเดตล่าสุด 22 ตุลาคม 2557 เวลา 10:59:12 14,986 อ่าน
TOP