x close

เก็บยาอย่างไรให้ปลอดภัย เช็กเลยว่าคุณทำผิดอยู่หรือเปล่า


วิธีเก็บยา


          ถ้ายาเสื่อมสภาพไปแล้ว ทานเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่นนั้นแล้วเราก็ควรรู้ถึงวิธีการเก็บรักษายาที่ถูกต้อง ที่ไม่ใช่แค่วางทิ้งไว้เฉย ๆ

          เมื่อเราไม่สบายไปโรงพยาบาล คุณหมอก็จะสั่งยาให้กลับมาทานที่บ้าน ซึ่งเภสัชกรของโรงพยาบาลก็จะอธิบายถึงรายละเอียดของยาแต่ละชนิด ว่าใช้อย่างไร ทานเมื่อไร ก่อน-หลังอาหาร พร้อมบอกวิธีเก็บรักษาด้วย แต่เชื่อว่าหลายคนจะรู้สึกสับสน ฟังไม่ละเอียดเวลาที่เภสัชกรแนะนำ ทำให้เราเก็บยาผิดวิธี และอาจมีผลต่อการรักษาได้เหมือนกัน

          เพื่อป้องกันปัญหานี้ องค์การเภสัชกรรม ก็เลยมาแนะนำวิธีเก็บยาที่ถูกต้องเมื่อกลับจากโรงพยาบาล เรื่องใกล้ตัวที่เราไม่ค่อยระวังกัน

วิธีเก็บยา

          สำหรับการเก็บรักษายาที่ถูกต้องนั้น ทำดังนี้

          * ไม่วางยาไว้ในรถ เพราะอุณหภูมิในรถสูงกว่าอุณหภูมิห้องปกติ (15-30 องศาเซลเซียส) ซึ่งอาจจะสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ยาเสื่อมสภาพ คุณสมบัติในการรักษาลดลงหรือเสียไป ทำให้สิ่งที่เหลืออยู่อาจจะเป็นสารอื่นที่นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว อาจจะเกิดโทษได้ หรือแม้ถ้ายังคงมีเปอร์เซ็นต์ของยาอยู่บ้างก็น้อยกว่าขนาดที่จะให้ผลในการรักษาได้ ยาบางชนิดจะหลอมละลายเมื่อถูกความร้อน เช่น ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น
      
          * ยาหลายชนิด เช่น วิตามินบี 6, วิตามินเอ, ยาพวกฮอร์โมน,ยาคุมกำเนิด, ยาน้ำเชื่อมของเด็กหลายชนิด, ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ต้องเก็บในภาชนะทึบแสง เช่น ขวดสีชา และถึงแม้จะเก็บในภาชนะทึบแสงแล้ว ก็ไม่ควรวางไว้รับแสงโดยตรงเป็นเวลานาน เพราะก็ทำให้ยาเปลี่ยนสภาพและหมดอายุเร็วขึ้นได้

          * หากนำถุงยาวางไว้ที่โต๊ะอาหาร ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก เพราะหากเด็กนำไปรับประทานโดยไม่เจตนา ก็ทำให้เกิดผลเสียได้ เนื่องจากขนาดยาของผู้ใหญ่กับเด็กแตกต่างกัน

          * ยาชนิดใดต้องเก็บแช่เย็น ไม่ควรนำมาวางไว้ข้างนอก ให้นำไปแช่เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยบรรจุในภาชนะที่มิดชิด เพื่อไม่ให้ชื้นจนฉลากยาหลุดหรือลบเลือน จนไม่สามารถอ่านได้ และให้ปลอดภัยจากการที่เด็กจะนำไปรับประทานได้ และทุกครั้งเมื่อใช้ยาแล้วปิดภาชนะบรรจุให้มิดชิด เพื่อป้องกันความชื้นในอากาศ หรือเกิดอุบัติเหตุหกเลอะเทอะเมื่อต้องการใช้ในครั้งต่อไป

          นอกจากนี้ที่สำคัญก็คือ ก่อนใช้ยาควรดูวันหมดอายุของยาด้วย โดยให้สังเกตที่ฉลากซึ่งจะระบุวันหมดอายุ (EXP. DATE) เอาไว้ ยาต่างชนิดกันจะมีอายุไม่เท่ากัน ให้สังเกตให้ละเอียด หากไม่เข้าใจสามารถสอบถามได้จากเภสัชกรทั้งในโรงพยาบาลที่ไปรับการรักษา หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ที่ร้านขายยาทุกแห่ง และควรสำรวจปริมาณยาที่มีอยู่ในบ้านด้วยว่า มียาดังกล่าวเก็บไว้จำนวนเท่าไร  และไม่ควรเก็บยาไว้นานจนเกินไป





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เก็บยาอย่างไรให้ปลอดภัย เช็กเลยว่าคุณทำผิดอยู่หรือเปล่า อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 09:46:56 5,613 อ่าน
TOP