x close

ลมแดด อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

อาบแดด


ลมแดด  อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม (Hairworld)
ข้อมูลจาก : ผศ.น.พ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล

          ลมหนาวหมดไป ลมร้อนเข้ามา เป็นวัฐจักรของธรรมชาติ แต่ตอนนี้ธรรมชาติเริ่มจะไม่ปกติ เพราะวันหนึ่งสามารถมีได้ถึง 3 ฤดูในวันเดียว เช้าอากาศเย็น กลางวันร้อน เย็นฝนตกซะงั้น ถ้าไม่อยากให้โลกเป็นแบบนี้พวกเราทุกคนก็ต้องช่วยกันลดภาวะโลกร้อน เพราะไม่มีใครที่จะช่วยโลกได้ถ้าพวกเราทุกคนไม่ช่วยกัน

          เอาล่ะ อากาศร้อน ๆ อย่างนี้คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า ความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งที่มากันหน้าร้อนที่หลาย ๆ คนมองข้าม ได้แก่ "ภาวะลมแดด เพลียแดด" นั่นเอง ซึ่งเป็นภาวะที่ทุกคนคิดว่าคงไม่มีอะไร แต่หารู้ไม่ว่าโรคนี้เป็นอันตรายเป็นอย่างมาก แต่ก็สามารถป้องกันได้

          โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ เนื่องจากความร้อนที่มากเกินไป เพราะโดยปกติร่างกายคนเรามีอุณหภูมิประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส ถ้าเมื่อไหร่ที่อากาศร้อนมากจนร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ถึง 40 องศาเซสเซียส อาการนี้เรียกว่า "เพลียแดด" แต่ถ้าสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และมีอาการชัก เกร็ง ซึม หรือหมดสติ อาการนี้เรียกว่า "โรคลมแดด"

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นอาการเพลียแดด

          อาการที่บ่งบอกว่าเป็นอาการเพลียแดด ได้แก่ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียไม่มีแรง เป็นตะคริวและมีไข้ แต่ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการเพลียแดดเป็นสัญญาเตือนว่า ต้องรีบแก้ไขก่อนที่จะเกิดลมแดดซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

          อาการลมแดดมีความรุนแรงกว่าเพลียแดด และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนเพลียแดด แต่มีตัวแดง ร้อนจัด (เกิน 40 องศาเซลเซียส) ผิวแห้งไม่มีเหงื่อ หอบหายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีอาการทางสมอง เช่น เห็นภาพหลอนสับสน หงุดหงิด ชักหรือหมดสติ ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด เกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด และช็อกได้

ปัจจัยเสี่ยง

          ภาวะนี้เกิดได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัด หรืออยู่ในที่ที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ง่ายขึ้น ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางสมอง ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ผู้ที่ติดเหล้า นักกีฬา คนงาน เกษตรกร หรือทหารที่ต้องออกกำลังอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

          นอกจากนั้นผู้ที่ได้รับยาบางชนิด อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ง่ายขึ้นถ้าอยู่ในที่ร้อน ๆ นาน ๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ยากันชัก ยาทางจิตเวชบางชนิด ยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัด ยาลดความดัน และยาโรคหัวใจบางชนิดยาไทรอยด์ เป็นต้น


การดูแลรักษาเบื้องต้น

          1.นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่อากาศร้อน นำเข้าที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือห้องแอร์

          2.ถ้าผู้ป่วยยังไม่หมดสติ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเย็น แต่ไม่ต้องให้ยาลดไข้แอสไพริน หรือพาราเซตามอล

          3.พ่นละอองน้ำบนตัวผู้ป่วย และใช้พัดหรือพัดลมเป่า หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวผู้ป่วย

          4.ถ้าผู้ป่วยชักเกร็งให้เอาสิ่งกีดขวางรอบตัวผู้ป่วย ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายได้ออก

          5.ถ้าผู้ป่วยหมดสติและอาเจียน ให้จับศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้าง เพื่อลดโอกาสการสำลัก


วิธีป้องกัน

          1.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก ติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด

          2.ในช่วงที่อากาศร้อน สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง ไม่หนา ระบาย อากาศดี ควรสวมหมวก หรือถือร่มกันแดด ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าSPF สูงกว่า 15

          3.ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ก่อนออกกำลังกาย

          4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศร้อน ๆ เป็นเวลานาน ๆ

          5.สำหรับผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก ควรระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิอากาศไม่ให้ร้อนอบอ้าว และควรให้ได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอ

          6.สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นกับเมืองร้อน อย่าเพิ่งออกกำลังกายอย่างหักโหม ควรให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศก่อน 1-2 สัปดาห์

          ถ้าหากทุกคนมีความตระหนัก และรู้จักวิธีการป้องกัน รับรองว่าร้อนนี้ไม่ว่าจะโรคอะไรก็ไม่สามารถทำอะไรคุณได้แน่นอนค่ะ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลมแดด อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2553 เวลา 15:06:15 43,101 อ่าน
TOP