x close

โรคมือเท้าปาก กับ 12 คำถามชวนสงสัยที่ควรรู้คำตอบ !

 
          โรคมือเท้าปาก ระบาดมากในช่วงฤดูฝน แต่หากติดเชื้อโรคมือเท้าปากสายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส (EV) 71 จะทำให้อาการทรุดเร็ว เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วัน อย่างนี้ต้องมารู้จักโรคมือเท้าปากให้มากขึ้น
 
          ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวโรคมือเท้าปากระบาดทำให้เด็กเสียชีวิตได้ภายใน 3 วัน คงทำให้ผู้ปกครองเริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับโรคมือเท้าปากกันมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากเกรงว่าโรคมือเท้าปากจะเกิดขึ้นกับลูกหลานเราได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรายังอาจรู้จักโรคนี้กันไม่มากพอ หรือบางคนก็อาจมีคำถามเกี่ยวกับโรคมือเท้าปากเต็มไปหมด ถ้าอย่างนั้นเรามาไขข้อข้องใจโรคมือเท้าปากให้ชัด ๆ ตรงนี้กันเลย
 

             
โรคมือเท้าปาก กับโรคปากเท้าเปื่อย แตกต่างกันอย่างไร
 
          โรคมือเท้าปากกับโรคปากเท้าเปื่อยเป็นคนละโรคกันนะคะ โดยโรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบเฉพาะในคน และติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น ส่วนโรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease) หรือโรคมือเท้าปากเปื่อยที่หลายคนเข้าใจผิดกัน จริง ๆ แล้วเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสตัวอื่น และจะติดต่อกับสัตว์กีบ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ หมู เป็นต้น โดยสัตว์จะมีแผลเปื่อยที่ปากและกีบเท้า ที่สำคัญเชื้อไวรัสโรคปากเท้าเปื่อยยังไม่สามารถแพร่มาถึงคนได้ค่ะ

โรคมือเท้าปาก สาเหตุเกิดจากอะไร

          สาเหตุโรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หรือเชื้อไวรัสลำไส้ โดยเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากได้ก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่เชื้อที่รุนแรงที่สุดคือ เอนเทอโรไวรัส 71 หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเชื้อ EV 71 โดยโรคมือเท้าปากจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นประปรายตลอดปี แต่จะระบาดมากในช่วงหน้าฝน ซึ่งมักมีอากาศเย็นและชื้น
   

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก

          ปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคมือเท้าปากอาจเกิดจากความแออัดในพื้นที่ การถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี รวมทั้งสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง ดังนั้นเราควรสร้างสุขอนามัยที่ดีในพื้นที่อาศัย โดยเฉพาะในโรงเรียนด้วยนะคะ

โรคมือเท้าปากในเด็ก ติดต่อกันได้ทางไหน

          โรคมือเท้าปากมักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งการติดต่อของโรคก็ติดกันได้ง่ายมาก เพียงสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน จามใส่กัน หรือไปสัมผัสกับอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ก็สามารถติดเชื้อไวรัสได้แล้ว ดังนั้นหากสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาลแห่งไหนมีเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ก็ควรรีบดำเนินการควบคุมโรคทันที



อาการโรคมือเท้าปาก เริ่มแรกสังเกตได้จากสัญญาณไหน

          อาการโรคมือเท้าปาก เริ่มแรกอาจไม่ค่อยรุนแรงมาก โดยอาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากอาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

          - มีไข้
          - เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้
          - น้ำลายไหล
          - มีแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน
          - มีผื่นเป็นจุดแดง หรือตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือตุ่มอาจขึ้นตามลำตัว แขน และขาได้
          - อาการจะหนักในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากนั้นอาการป่วยจะทุเลา และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
   

          ทั้งนี้อาการโรคมือเท้าปากโดยทั่วไปจะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ทว่าอาจมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยติดเชื้อ EV 71 หรือมีภูมิต้านทานต่อโรคค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่ว่าอาจทำให้เกิดอาการก้านสมองอักเสบ ก่อให้เกิดภาวะระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

          โดยจุดสังเกตสัญญาณอันตรายจากเชื้อ EV 71 ได้แก่

          - ซึม อ่อนแรง
          - ชักกระตุก
          - มือสั่น
          - เดินเซ
          - หอบ
          - อาเจียน

   
          ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

มือเท้าปาก

การรักษาโรคมือเท้าปาก ทำได้อย่างไร
   
          โรคมือเท้าปากยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ การรักษาจึงทำได้เพียงบรรเทาตามอาการของผู้ป่วยไป เช่น การให้ยาลดไข้และยาแก้ปวด ซึ่งโดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่รุนแรงและหายป่วยได้เองภายใน 7-10 วัน
   
การดูแลผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ต้องทำอย่างไร

          หากมีเด็กในปกครองป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ผู้ปกครองควรหมั่นเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ หรือน้ำผลไม้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มาก ๆ และหากผู้ป่วยเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้เด็กแทนการให้เด็กดูดนม เพื่อลดอาการปวดแผลในปาก
   
          อย่างไรก็ตาม แม้โดยมากแล้วอาการของโรคมือเท้าปากจะไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่ผู้ปกครองควรใส่ใจอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยหากพบว่ามีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร อาเจียนบ่อย หอบ อ่อนแรง และชัก ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เด็กที่ติดเชื้อ HIV เด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมทั้งเด็กที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น



วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก ต้องทำอะไรบ้าง

          - แยกผู้ป่วยที่เป็นโรค เพื่อป้องกันเด็กป่วยไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น

          - เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
   
          - หมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ของเด็กทุกชิ้น โดยการทำความสะอาดด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป หลังจากนั้นควรเช็ดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แห้งสนิท
   
          - ระมัดระวังสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร รวมทั้งของใช้ทุก ๆ อย่างที่เด็กอาจหยิบเข้าปากได้
   
          - ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่น หรือใช้ของที่ปนเปื้อนน้ำลาย หากเป็นไปได้ไม่ควรให้เด็กใช้ของใช้ร่วมกัน
   
          - ควรสอนให้เด็ก ๆ ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
   
          - ทางโรงเรียนไม่ควรให้เด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปากมาโรงเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติดี ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
   
          - ผู้ปกครองไม่ควรให้บุตรหลานที่ป่วยไปโรงเรียนจนกว่าจะรักษาอาการจนหายสนิท เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
   
          - ควรระวังการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระต่ออีกนาน เนื่องจากเชื้อยังคงหลงเหลืออยู่ในอุจจาระได้อีกนานหลายสัปดาห์ ดังนั้นควรล้างมือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือดูแลบุตรหลานให้ทำความสะอาดห้องน้ำและล้างมือหลังทำธุระเสร็จเรียบร้อย ด้วยสบู่ เนื่องจากการใช้เจลทำความสะอาดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสได้
   
          - ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานอยู่ในที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันมาก ๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสจากเด็กคนอื่น

โรคมือเท้าปาก เป็นแล้วเป็นอีกได้ไหม

          โรคมือเท้าปากเป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ไหม คำตอบคือ เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากมีโอกาสกลับมาเป็นโรคนี้ได้อีกครั้ง หรืออาจจะหลายครั้งค่ะ เนื่องจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ดังนั้นแม้จะเคยเป็นโรคมือเท้าปากมาแล้ว แต่อาจจะกลับมาเป็นโรคมือเท้าปากได้อีกครั้ง จากสาเหตุไวรัสเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น ซึ่งร่างกายยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานมาป้องกันนั่นเอง

โรคมือเท้าปาก ผู้ใหญ่เป็นได้ไหม
   
          โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะเคยเป็นโรคนี้แบบไม่รุนแรงมาแล้วในตอนเป็นเด็ก ทว่าหากได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัสตัวใหม่ที่ร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรคหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภูมิต้านทานของผู้ใหญ่ต่อโรคนี้ค่อนข้างแข็งแรงกว่าเด็ก ๆ ทว่าผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือคนอื่น ๆ ได้นะคะ



แม่ท้อง เสี่ยงโรคมือเท้าปากหรือไม่
   
          ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีอาการป่วยเพียงเล็ก น้อย และยังไม่มีข้อมูลแสดงว่าแม่ตั้งท้องที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากจะเสี่ยงต่อ การแท้งบุตร ความพิการของเด็ก หรือมีกรณีที่เด็กเสียชีวิตในครรภ์แต่อย่างใด ทว่าหากมีอาการป่วยที่สังเกตได้ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะเด็กอาจได้รับเชื้อโรคมือเท้าปากขณะคลอด ในกรณีที่มารดาป่วยด้วยโรคนี้ในช่วงใกล้คลอด ซึ่งส่วนมากทารกแรกเกิดที่ได้รับเชื้อจะมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง และสามารถป้องกันได้โดยการปฏิบัติสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี
   
วิธีทำความสะอาดโรคมือเท้าปาก จะฆ่าเชื้อได้อย่างไรบ้าง
   
          จริง ๆ แล้วเชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ไม่นาน เพียงเจอรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด หรือความร้อนที่อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที จากการอบหรือต้ม รวมทั้งการใช้น้ำยาซักล้างทั่วไปทำความสะอาดเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปากได้แล้ว

          แม้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอาจจะยังไม่สูงมาก แต่ความรุนแรงของโรคก็ดูท่าจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นแล้วนะคะ ดังนั้นผู้ปกครองทุกคนควรทำความเข้าใจกับโรคมือเท้าปากอย่างละเอียดถี่ถ้วน และควรใส่ใจกับอาการผิดปกติที่เกิดกับคนในครอบครัว รวมทั้งอย่าลืมสร้างสุขอนามัยที่ดีในที่อยู่อาศัยด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลพญาไท
                                                          
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคมือเท้าปาก กับ 12 คำถามชวนสงสัยที่ควรรู้คำตอบ ! อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2565 เวลา 15:17:46 185,184 อ่าน
TOP