ไข้หวัดมะเขือเทศ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Tomato Flu เป็นโรคระบาดที่พบในประเทศอินเดีย โดยที่เรียกว่า “ไข้หวัดมะเขือเทศ” ก็มาจากลักษณะผื่นสีแดงคล้ายสีของมะเขือเทศที่ปรากฏบนร่างกายของผู้ป่วยนั่นเอง
ส่วนสาเหตุของไข้หวัดมะเขือเทศเกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากี A16 (Coxsackie A 16) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก (Hand, foot and mouth disease) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายติดเชื้อมาจากไวรัสชิคุนกุนยาและไวรัสไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะอีกด้วยค่ะ
อาการไข้หวัดมะเขือเทศ สังเกตได้ดังนี้
- มีไข้
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- มีผื่นขึ้น โดยลักษณะผื่นจะเป็นตุ่มแดง เป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- มีอาการบวมที่ข้อ (ในบางราย)
จะเห็นว่า โรคไข้หวัดมะเขือเทศยังมีอาการที่คล้ายกับโรคมือเท้าปาก โรคชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งไข้เลือดออกอีกด้วย จึงต้องสังเกตอาการให้ดี
ไข้หวัดมะเขือเทศกับโรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากี A16 (Coxsackie A 16) เหมือนกัน ลักษณะอาการรวมไปถึงผื่นที่ขึ้นก็มีความคล้ายกับโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อคอกซากี A16
แต่ต่างกันตรงที่โรคมือเท้าปากเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายตัวกว่า โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุดคือ เอนเทอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเชื้อ EV 71 โดยเชื้อตัวนี้จะระบาดในบางปี และอาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก
แพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยก่อนว่าเป็นไข้หวัดมะเขือเทศหรือไม่ ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ PCR เพื่อดูว่าติดเชื้อไวรัสคอกซากี A16 หรือไม่
จากนั้นจึงทำการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ร่วมกับแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีไข้ก็ให้หมั่นเช็ดตัวลดไข้ จัดอาหารอ่อน ๆ ให้เด็กรับประทาน พร้อมกับดื่มน้ำเยอะ ๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ
ไข้หวัดมะเขือเทศ สามารถป้องกันได้โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง ให้ช่วยดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยรอบ ๆ ตัวเด็ก เช่น
- หมั่นทำความสะอาดพื้น ของเล่น ของใช้ของเด็ก เป็นประจำ
- ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน รวมทั้งสอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการให้เด็ก ๆ อยู่ในสถานที่แออัด หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- หากพบเห็นความผิดปกติกับบุตรหลาน เช่น มีอาการไข้ มีผื่นแดงขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที