ปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้กับทุกวัย เช็กอาการต้องสงสัย รู้ตัวไวรักษาทัน

          ภาวะปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อย่างบางคนมีอาการไอ จาม แรง ๆ หน่อยปัสสาวะก็เล็ดแล้ว ทำให้กังวลใจเวลาอยู่นอกบ้าน บางรายถึงขั้นจิตตก เป็นกังวลจนไม่อยากเข้าสังคม เพราะปัสสาวะเล็ดเป็นอุปสรรคปัญหาหนึ่งของชีวิต

ปัสสาวะบ่อย


          สำหรับใครที่ต้องเผชิญกับปัญหาปัสสาวะเล็ด มีปัสสาวะซึมเป็นปัญหากวนใจ คงมีความรู้สึกเครียดกับอาการนี้กันพอสมควร และแน่นอนค่ะว่า อาการปัสสาวะเล็ดเป็นอุปสรรคในชีวิตที่ถึงกับทำให้บางคนไม่กล้าออกนอกบ้านกันเลยทีเดียว งั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักภาวะปัสสาวะเล็ดกันก่อน แล้วหากพบว่าเป็นคนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จะรักษายังไงได้บ้าง มาเริ่มกันเลยค่ะ

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด คืออะไร

          ภาวะปัสสาวะเล็ด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Stress Urinary Incontinence โดยการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ก็คือ การที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยไร้ซึ่งการควบคุม (อั้นไม่อยู่) โดยเฉพาะในขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เช่น ไอ จาม การยกของหนัก หัวเราะดัง ๆ หรือออกกำลังกาย ก็อาจมีปัสสาวะเล็ดออกมาได้ ทั้งนี้พบว่า ประชากรเพศหญิงประมาณ 10-20% จะประสบปัญหาปัสสาวะเล็ด ขณะที่ก็มีข้อมูลว่าพบภาวะปัสสาวะเล็ดในผู้ชายด้วยเช่นกัน แต่อยู่ในอัตราที่น้อยกว่าเพศหญิงประมาณ 3 เท่า

ปัสสาวะบ่อย
 
ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดขึ้นได้กับทุกคน

          เราอาจจะเคยคิดว่าปัญหาหูรูดเสื่อมสภาพ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการปัสสาวะเล็ดเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยค่ะ ตั้งแต่ในเด็กเล็ก ๆ วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยกลางคน และผู้สูงอายุ (พบบ่อยในเพศหญิง) กันเลย

ปัสสาวะเล็ด เกิดขึ้นได้อย่างไร

         บางคนแปลกใจว่าเราอายุยังน้อย ทำไมมีปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งต้องอธิบายก่อนค่ะว่า สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความผิดปกติของระบบควบคุมประสาทในร่างกาย โรคที่เป็นอยู่ หรือแม้แต่พฤติกรรมของเราเอง ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

- ความบกพร่องของระบบประสาท

          ในทางการแพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยและเร็วกว่าปกติ โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทซึ่งควบคุมการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและบีบตัวไวกว่าปกติ โดยที่ยังมีปริมาณปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ

- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน

          ภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนก็เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น อายุที่มากขึ้น ความอ้วน ภาวะไอเรื้อรัง จนทำให้อุ้งเชิงกรานมีความผิดปกติ ขาดตัวช่วยพยุงท่อปัสสาวะจนทำให้ปัสสาวะเล็ดรั่วออกมา

- การผ่าตัด

          ในคนที่ผ่าตัดมดลูก หรือเพิ่งคลอดบุตร อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจมีการเสื่อมของหูรูดและการหย่อนยานของผนังช่องคลอด รวมทั้งบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะปิดไม่สนิท เกิดอาการปัสสาวะรั่วออกมาได้

- ภาวะขาดความสมดุลของฮอร์โมนเพศ

          การขาดความสมดุลของฮอร์โมนเพศ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุเพศหญิง ซึ่งจะพบว่ามีโอกาสเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มากกว่าเพศชาย

- เกิดจากโรคที่เป็นอยู่เดิม

          เช่น โรคต่อมลูกหมากโต ทำให้เลือดไปเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะขาดเลือดและนำไปสู่ความผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้ หรือโรคเบาหวาน และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่จะมีอาการปัสสาวะบ่อย ๆ ก็เป็นอกีสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติได้

- ความบกพร่องของสารสื่อประสาท

          มีข้อมูลซึ่งพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเวช อาทิ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล สมาธิสั้น สมองเสื่อม จะมีอัตราการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้ โดยทางการแพทย์เชื่อว่า น่าจะเป็นผลจากความบกพร่องในการทำงานของสารสื่อประสาท

- พฤติกรรมเสี่ยง    

          พฤติกรรมของเราเองก็มีส่วนกระตุ้นอาการปัสสาวะเล็ดด้วยนะคะ โดยเฉพาะคนที่ดื่มน้ำน้อย ชอบกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ หรือกลั้นปัสสาวะนาน ๆ อาจทำให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะแปรปรวน บีบตัวผิดปกติได้

ปัสสาวะบ่อย

ปัสสาวะเล็ด อาการเป็นอย่างไร

          ถ้ายังไม่มั่นใจว่าเราเข้าข่ายกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเปล่า มาลองสำรวจตัวเองจากอาการหลัก ๆ ของภาวะปัสสาวะเล็ดกันค่ะ

          1. มีปัสสาวะเล็ดเมื่อไอหรือจาม โดยเกิดขึ้นมากกว่า 7 ครั้งต่อวัน

          2. รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างเฉียบพลัน และมีปัสสาวะเล็ดออกมาก่อนถึงห้องน้ำเป็นประจำ

          3. ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ (มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ครั้ง) โดยไม่มีการติดเชื้อหรือพยาธิสภาพอื่น ๆ

          4. ปัสสาวะราดโดยไม่รู้ตัว มักมีพฤติกรรมปัสสาวะรดที่นอน

          5. พบปัสสาวะหยดเปื้อนกางเกงชั้นใน หลังปัสสาวะเสร็จเรียบร้อยแล้ว

          หากใครมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ดังข้อมูลข้างต้น ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เพราะปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดบ่อย ๆ รักษาได้
 

ปัสสาวะบ่อย

ทดสอบสมรรถภาพอุ้งเชิงกราน เช็กหน่อยว่าเราเข้าข่ายอั้นปัสสาวะไม่อยู่ไหม

          เรามีวิธีเช็กง่าย ๆ ว่าอุ้งเชิงกรานของเรายังทำงานเป็นปกติดี ไม่มีภาวะเสื่อมสภาพ จนก่อให้เกิดอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยวิธีทดสอบสมรรถภาพของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน สามารถทำได้ดังนี้

          1. ขมิบอุ้งเชิงกรานได้นาน 10 วินาทีติดต่อกัน ต่อเนื่อง 10 ครั้ง

          2. ระหว่างวันสามารถหยุดน้ำปัสสาวะได้ทันที

          3. ขณะปวดปัสสาวะ (มีน้ำปัสสาวะอยู่เต็มกระเพาะปัสสาวะ) ให้ยืนบนกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วทำการทดสอบตามลำดับ ดังนี้

          - กระโดดพร้อมกันทั้ง 2 เท้า โดยให้เท้าทั้งสองลอยเหนือพื้น ติดต่อกัน 20 ครั้ง

          - กระโดดกางขา หน้า-หลัง 4 ครั้ง

          - ไอ 2-3 ครั้ง

          เมื่อทำการทดสอบสมรรถภาพอุ้งเชิงกรานแล้ว ให้สังเกตว่ามีปัสสาวะเล็ดออกมาหรือไม่ เพราะหากอุ้งเชิงกรานทำงานได้ตามปกติ ก็จะสามารถควบคุมกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้กลั้นปัสสาวะได้ ไม่มีอาการปัสสาวะเล็ดออกมา ทว่าหากทดสอบแล้วพบว่ามีอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก็แสดงว่าอุ้งเชิงกรานของคุณเริ่มมีปัญหาแล้วล่ะค่ะ

ปัสสาวะบ่อย

ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รักษาอย่างไร

แนวทางการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดมีอยู่หลายทางเลือกด้วยกัน ดังต่อไปนี้


1. เปลี่ยนพฤติกรรม

          พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน หรือกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อีกทั้งควรงดเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้มีอาการปวดปัสสาวะ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ได้

          นอกจากนี้ก็ควรฝึกดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (ประมาณ 1.5-2 ลิตร) เพื่อช่วยให้ร่างกายขับถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ (4-6 ครั้งต่อวัน) ซึ่งวิธีนี้อาจได้ผลดีกับผู้ที่เริ่มมีปัสสาวะเล็ดในระยะแรก ๆ

          - อาหารอะไร ? คนมีอาการปัสสาวะเล็ดควรเลี่ยง

2. ฝึกกลั้นปัสสาวะ

          อีกหนึ่งวิธีพฤติกรรมบำบัดที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือการฝึกกลั้นปัสสาวะ โดยการขมิบหูรูด ลักษณะเหมือนตอนที่กลั้นปัสสาวะ ทำอย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง แล้วเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเรื่อย ๆ วิธีการนี้ต้องมีความอดทน เพราะต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะเห็นผลและควรทำต่อเนื่องเพื่อลดการเกิดซ้ำ

ปัสสาวะบ่อย

3. บริหารกล้ามเนื้อหูรูด

          นอกจากการฝึกกลั้นปัสสาวะแล้ว ยังมีวิธีบริหารอุ้งเชิงกราน หรือกล้ามเนื้อหูรูดเพื่อช่วยบรรเทาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วย โดยท่าบริหารก็มีดังนี้

          * ท่านอนหงายชันเข่า

          ฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แรง คล้ายจะยกอวัยวะในช่องเชิงกรานขึ้นมาเก็บไว้ในหน้าท้อง หายใจเข้าเต็มที่ กลั้นหายใจไว้ พร้อมกับแขม่วท้องน้อย นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วคลายออก ทำเช่นนี้ 10 ครั้ง จากนั้นขมิบแล้วปล่อยทันที ทำ 5-20 ครั้ง

          * ท่านอนเหยียดขา

          นอนหงายเช่นเดิม แต่วางขาเหยียดตรง ขมิบกลั้น และขมิบปล่อย เช่นเดียวกับท่านอนหงายชันเข่า

         * ท่าลุกขึ้นนั่ง

          นอนหงาย งอเข่า ฝึกขมิบกล้ามเนื้อช่องเชิงกราน ขณะที่ลุกขึ้นเอามือแตะเข่า นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วคลายการขมิบขณะที่เปลี่ยนไปอยู่ในท่านอนเช่นเดิม ทำเช่นนี้ 10 ครั้ง

4. ใช้อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ

          อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดและช่วยบรรเทาปัสสาวะเล็ด ผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์เหล่านี้เฉพาะตอนออกกำลังกายหรือใส่ไว้ตลอดเวลา เช่น ในกรณีของอุปกรณ์พยุงในช่องคลอด (Vaginal pessary) สตรีบางคนที่ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดขนาดใหญ่ก่อนออกกำลังกาย อาจช่วยป้องกันหรือลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะเหล่านี้ส่วนใหญ่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเล็ดเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผ่าตัด

5. รักษาด้วยยา

          ยาที่ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดยากลุ่ม Antimuscarinic เช่น darifenacin, hyoscyamine, oxybutynin, tolterodine, solifenacin, trospium, fesoterodine และในปัจจุบันนี้ยา oxybutynin ยังมีรูปแบบพลาสเตอร์ปิดบนผิวหนังหรือรูปแบบเจลทาผิว เพื่อให้ยาค่อย ๆ ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย โดยยากลุ่มนี้จะช่วยรักษาด้วยการไปต้านผลของระบบประสาทอัตโนมัติชนิดพาราซิมพาเตติก เพราะเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนั้น เป็นผลจากการที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะตอบสนองต่อสารสื่อจากระบบประสาทพาราซิมพาเตติกมากเกินไป

          ทว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาปัสสาวะเล็ดก็มีไม่น้อยค่ะ เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปวดศีรษะ เป็นต้น อีกทั้งตัวยาอาจทำได้แค่บรรเทาอาการในระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ช่วยรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดให้หายขาดได้ ฉะนั้นการรักษาโรคปัสสาวะเล็ดอาจเน้นไปที่การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นหลัก โดยเฉพาะในคนที่อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ยังไม่รุนแรงมากนัก

6. การฉีดสารช่วยลดขนาดท่อปัสสาวะ

          โดยการฉีดสารบางชนิดบริเวณด้านนอกของท่อปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้อาการปัสสาวะเล็ดน้อยลง หรือไม่เล็ดเลย แต่ในบางรายอาจจำเป็นต้องฉีดสารนั้นซ้ำอีกหากพบว่าอาการปัสสาวะเล็ดยังไม่หายดี

7. การกระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยไฟฟ้า

          ในรายที่พบว่ามีอาการกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง แพทย์อาจใช้ขั้วไฟฟ้ากำลังอ่อนสอดเข้าไปทางช่องคลอด แล้วปล่อยไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานได้ดีขึ้น

8. การผ่าตัด

          ในกรณีที่อาการปัสสาวะเล็ดเป็นมาก รักษาด้วยยาหรือท่าบริหารอุ้งเชิงกรานไม่ค่อยได้ผล ทางการแพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดใส่สายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางอย่างถาวร โดยสายเทปนี้จะทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะไว้ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม หรือออกกำลังกาย เป็นการผ่าตัดทางช่องคลอดโดยการกรีดแผลเล็ก ๆ ที่ผิวช่องคลอดแล้วสอดสายเทปเข้าไปคล้องใต้ท่อปัสสาวะในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้วิธีการผ่าตัดรักษาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย

          หากใครมีอาการปัสสาวะเล็ดจนเป็นปัญหาในชีวิต แนะนำให้เข้าไปปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสมและได้ผลดีที่สุด ซึ่งในระหว่างที่ทำการรักษา ผู้ป่วยสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนด้วยการสวมกางเกงอนามัย หรือผ้าอ้อมผู้ใหญ่ได้นะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โรงพยาบาล BNH












เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้กับทุกวัย เช็กอาการต้องสงสัย รู้ตัวไวรักษาทัน อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2562 เวลา 14:52:04 77,737 อ่าน
TOP
x close