ง่วงนอนทั้งวัน หลับได้ทุกที่ ระวังให้ดีอาจเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy)

           ง่วงนอนทั้งวัน แถมยังพร้อมจะหลับได้ทุกที่ นี่อาจเป็นอาการของโรคลมหลับ ละเลยไปอาจร้ายแรงเกินควบคุม 
ง่วงบ่อย

          อาการง่วงเหงาหาวนอน ดูผิวเผินแล้วไม่น่ากังวลอะไร แต่ถ้าหากง่วงมาก ๆ จนผล็อยหลับง่าย ๆ ในเวลากลางวันบ่อยเกินไปละก็ นั่นอาจเป็นสัญญาณของ "โรคลมหลับ" ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะอาการของโรคนี้ ทั้งรบกวนชีวิตเวลาตื่นนอน และส่งผลเสียต่อการนอนหลับในเวลากลางคืนด้วย มาทำความรู้จักว่า โรคลมหลับ เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ง่วงบ่อย

โรคลมหลับ คืออะไร

          โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง โดยจะทำให้เรามีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ และผล็อยหลับไปในเวลากลางวันโดยไม่รู้ตัว หรือในบางครั้งก็อาจจะมีคล้ายกับการหลับ อย่างเช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก ในขณะที่อารมณ์เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ผู้ป่วยก็มักจะรู้สึกว่าตัวเองนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงจนเกินที่จะควบคุม และทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายได้หากผล็อยหลับในขณะที่กำลังขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานกับเครื่องจักร

โรคลมหลับ เกิดจากอะไร

          โรคลมหลับยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองกลุ่มสารสื่อประสาทไฮโปเครติน (Hypocretin) ทำให้สมองไม่สามารถควบคุมวงจรการนอนหลับให้เป็นปกติได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบางรายก็ได้สันนิษฐานไปอีกว่าโรคลมหลับอาจเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยภายนอกบางอย่าง เพราะมีการพบว่าผู้ป่วยมักจะมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ด้วยเช่นกัน

          ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชายและหญิงแล้ว โรคลมหลับมักจะเกิดขึ้นกับเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มักจะพบในกลุ่มคนวัยรุ่นอายุ 15-25 ปี รองลงมาคือกลุ่มวัยทำงานอายุ 35-45 ปี แต่อาการโรคลมหลับก็สามารถเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 5-6 ขวบ หรือผู้สูงอายุได้เช่นกัน

ง่วงบ่อย

โรคลมหลับ อาการเป็นอย่างไร


          อาการหลัก ๆ ของโรคลมหลับที่สามารถเห็นได้ชัดก็คืออาการอ่อนเพลียตลอดเวลา และอาจหลับได้ตลอดเวลา แต่นอกจากนี้ก็ยังสามารถพบอาการอื่น ๆ ได้ดังนี้
 
1. หลับแบบเฉียบพลัน (Sleep attacks)

          อาการดังกล่าวเป็นอาการง่วงหลับไปแบบทันทีในขณะที่กำลังกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ โดยเป็นการหลับแบบตากระตุก ซึ่งคนปกติเวลาที่นอนหลับจะหลับแบบตาไม่กระตุก ทั้งนี้อาการหลับเฉียบพลันจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหากอยู่ในท่าที่ไม่สะดวก เช่น ยืน หรือนั่ง แต่ก็อาจจะหลับไปได้เป็นชั่วโมงหากอยู่ในท่านอน เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจะรู้สึกสดชื่นเหมือนคนตื่นนอนปกติ แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็จะหลับอีก เป็นวงจรแบบนี้ไปทั้งวัน อีกทั้งอาการหลับแบบเฉียบพลันยังส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ชอบนั่ง ๆ นอน ๆ ทั้งวันอีกด้วย

2. กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Cataplexy)

          อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือหมดแรงฉับพลันในโรคลมหลับนั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่ออารมณ์เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ ประหลาดใจ กลัว หรือหัวเราะอย่างหนัก อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีและผู้ป่วยจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาที่เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งนี้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มมีการสำแดงของโรคลมหลับ และสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย ที่พบบ่อยก็มักจะเป็นศีรษะตก ขากรรไกรตก แขนตก เข่าอ่อน พูดตะกุกตะกัก มองเห็นภาพซ้อน ในกรณีที่เป็นมาก อาจจะถึงขั้นล้มลงกับพื้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

          แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้ป่วยโรคลมหลับมักจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือเป็นชั่วครู่ก็หาย แต่ก็สามารถสังเกตได้เบื้องต้น ดังนี้

          - อาการเข่าอ่อนเล็กน้อย ทำให้ต้องยืนพิงเสา หรือยืนพิงกำแพง
          - พูดตะกุกตะกัก หรือมีการมองเห็นภาพซ้อนโดยไม่เคยมีปัญหาสายตาก่อนหน้านี้
          - มือไม้อ่อนจนทำให้ถ้วยหรือจานตกจากมือ หรือน้ำหกจากถ้วยที่ถืออยู่
 
3. เกิดภาพหลอน (Hallucinations)

          โรคลมหลับนอกจากจะทำให้มีอาการนอนหลับที่ผิดปกติแล้วก็ยังอาจทำให้เกิดอาการภาพหลอนได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนว่าความฝันนี้เป็นความจริง สามารถมองเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น หรือลิ้มรสชาติได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นเรียกว่า "ฝันเสมือนจริง" สามารถเกิดได้ทั้งในขณะที่นอนหลับ หรือตอนเคลิ้มหลับ แม้แต่ตอนที่ตื่นนอนก็อาจจะเห็นได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ภาพหลอนที่ผู้ป่วยมักจะเห็นได้แก่ วงสีต่าง ๆ สัตว์ วัตถุที่มีขนาดคงที่หรือขนาดเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หรือเป็นภาพธรรมชาติทั่วไป ขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจเห็นภาพน่ากลัว อย่างเช่น ผีสาง หรือสัตว์ประหลาด เป็นต้น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหลอนได้ยินเสียงอะไรบางอย่าง อาทิ เสียงเพลง เสียงน้ำ เสียงลม เสียงขู่กรรโชก ฯลฯ

          ในบางรายอาจมีความรู้สึกหลอน (cenesthopathic feeling) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อยในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมหลับ โดยจะรู้สึกเหมือนมีคนมาแตะต้องหรือลูบคลำร่างกาย รู้สึกเหมือนแขนขาอยู่ผิดที่ผิดทาง รู้สึกตัวเบาเหมือนลอยอยู่บนอากาศ และมองเห็นตัวเองนอนอยู่ หรือมีความรู้สึกมีคนกระโดดลงมาทับหรือนั่งทับตนเอง

          อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่นาน และจะหยุดลงพร้อมกับอาการอวัยวะบางส่วน เช่น แขนหรือขากระตุก ทว่าอาการหลอนไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคลมหลับเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนที่นอนไม่พอหรือนอนผิดเวลาได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยด้วย

4. อาการผีอำ (Sleep Paralysis)

          ผู้ป่วยด้วยโรคลมหลับมักจะเคยเจออาการคล้ายกับผีอำ โดยจะไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายหรือไม่สามารถพูดได้แม้จะเป็นในเวลาที่นอนหลับหรือตื่นนอน แต่อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติค่ะ

5. นอนไม่หลับ

          หลายคนที่ต้องประสบกับอาการของโรคลมหลับมักจะนอนไม่หลับในเวลากลางคืน เนื่องจากฝันเสมือนจริงที่เกิดขึ้นไปรบกวนเวลานอนหลับ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ผล็อยหลับได้บ่อยขึ้นในเวลากลางวัน

6. ไม่มีสมาธิ

          เมื่อกลางคืนไม่สามารถนอนหลับได้สนิท และกลางวันมักจะผล็อยหลับบ่อย ผู้ป่วยโรคนี้ก็จะเริ่มไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ เนื่องจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และจะส่งผลเลวร้ายไปถึงปัญหาเรื่องความจำ และภาวะอารมณ์จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

ง่วงบ่อย

โรคลมหลับ วินิจฉัยได้อย่างไร


          การวินิจฉัยโรคลมหลับในขั้นต้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยอาการที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคลมหลับมีดังนี้

          1. อาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน ร่วมกับอาการนอนหลับแบบเฉียบพลัน หรืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

          2. อาการนอนหลับแบบตากระตุก โดยอาการนอนหลับแบบนี้จะต้องสังเกตในขณะที่เกิดอาการนอนหลับแบบเฉียบพลัน ซึ่งถ้าหากในขณะที่หลับไปอย่างเฉียบพลันนั้น มีอาการกระตุกของเปลือกตาทั้ง 2 ข้างจากการเคลื่อนไหวของดวงตา หายใจไม่สม่ำเสมอและช้า และปลุกให้ตื่นได้ง่ายกว่าการนอนหลับแบบปกติ
 
          หากพบว่ามีอาการตรงกับ 2 ข้อข้างต้น ก็ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อตรวจชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งวิธีการตรวจโรคลมหลับสามารถทำได้ด้วยการตรวจการนอนหลับ (Polysomnogram) และการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test - MSLT) ซึ่งการตรวจด้วยวิธีเหล่านี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินว่าอาการง่วงนอนบ่อย ๆ นั้นไม่ใช่อาการของโรคร้ายแรง จึงจะสามารถตรวจการนอนหลับได้

ง่วงบ่อย

โรคลมหลับ รักษาได้อย่างไรบ้าง


          เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบประสาท จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งนี้การรักษาสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม

          การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะสามารถช่วยอาการทุเลาลงได้ โดยผู้ป่วยควรจะจัดตารางชีวิตใหม่ เริ่มจาก

          - เพิ่มการงีบหลับอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที เพื่อลดความง่วงที่เกิดขึ้น
          - จัดตารางการนอนหลับของตัวเองในแต่ละวัน ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาการโรคลมหลับส่งผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารให้ตรงเวลาอยู่เสมอ
          - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน และไม่สูบบุหรี่
          - หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดอาการขึ้น ได้แก่ การขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร การทำอาหาร หรือการยกของหนัก เป็นต้น

2. การรักษาด้วยการใช้ยา

          การใช้ยาในการรักษามีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาภาวะง่วงนอนมากกว่าปกติ และการผล็อยหลับ โดยแพทย์มักใช้ยาในกลุ่มกระตุ้นประสาทอย่าง ยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate), แอมเฟตามีน (Amphetamines) หรือ โมดาฟินิล(Modafinil) เพื่อให้รู้สึกตื่นตัว และจะใช้ยาในกลุ่มต้านเศร้าอย่าง ยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) เพื่อรักษาอาการผล็อยหลับ ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัดค่ะ

          โรคลมหลับเป็นโรคที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหนักแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพที่มาจากการนอนหลับไม่เพียงพออีกด้วย ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการตามที่ว่ามาข้างต้นก็ควรรีบไปพบแพทย์อย่างด่วน จะได้ทำการรักษากันได้อย่างทันท่วงทีค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
National Sleep Foundation
National Institutes of Health


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ง่วงนอนทั้งวัน หลับได้ทุกที่ ระวังให้ดีอาจเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2561 เวลา 14:46:54 60,345 อ่าน
TOP
x close