บัคกี้บอล (ว่าที่) ยามหัศจรรย์ในอนาคต



ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล
ครบรอบ 25 ปีของ บัคกี้บอล




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Wikipedia , rmutphysics.com

            ชะแว่บ...เปิดหน้ากูเกิ้ลมาวันที่ 4 กันยายน ต้องพบกับความประหลาดใจ เมื่อเจอภาพลูกอะไรกลม ๆ หมุนอยู่ในหน้าจอ พร้อมกับคำว่า "ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล" เอ...มันคืออะไรกันเอ่ย วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาบอกค่ะ

            บัคกี้บอล ที่ปรากฎในโลโก้ google วันที่ 4 กันยายน ก็คือ บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน (Buckminsterfullerene) แต่เราเรียกสั้น ๆ ว่า บัคกี้บอล (Bucky Ball) ซึ่งเป็นสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม เชื่อมต่อกันเป็นรูปทรงกลมคล้ายกับลูกฟุตบอล จัดเป็นสารในกลุ่มฟูลเลอรีนส์ (fullerenes, Cn) ซึ่งเป็นอัญรูป (allotrope) แบบที่สามของคาร์บอนต่อจากเพชรและกราไฟต์

            ทั้งนี้ บัคกี้บอล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโมเลกุล ประมาณ 1 นาโนเมตร ประกอบด้วยวงหกเหลี่ยมของคาร์บอน จำนวน 20 วง และวงห้าเหลี่ยม จำนวน 12 วง โดยที่บัคกี้บอลถือว่าเป็นโมเลกุลสารอินทรีย์ที่มีรูปทรงสมมาตรที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบจนถึงปัจจุบัน

            สำหรับการค้นพบบัคกี้บอลนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1985 โดย ศ.ดร. ฮาร์โรลด์ โครโต้  (Harold Kroto) นักฟิสิกส์ด้านอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็ก (University of Sussex) สหราชอาณาจักร ร่วมกับ ศ.ดร. ริชาร์ด สมอลลีย์ (Richard Smalley) และ ศ.ดร. โรเบิร์ต เคิร์ล (Robert Curl) ณ มหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice university) สหรัฐอเมริกา วางแผนวิจัยเรื่องโครงสร้างของกลุ่มสารประกอบคาร์บอนที่น่าจะพบในบริเวณบรรยากาศรอบ ๆ ดาวยักษ์แดง (Giant Red Star) ดวงหนึ่งที่อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 1 พันล้านปีแสง 

            โดยระหว่างการทดลองพวกเขาได้จำลองสภาพบรรยากาศของดาวยักษ์แดงขึ้น โดยใช้แสงเลเซอร์ความร้อนสูงยิงไปยังกราไฟต์ เพื่อให้สารประกอบคาร์บอนรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นไอระเหยขึ้นมาในบรรยากาศที่เป็นก๊าซฮีเลียม หลังจากปล่อยให้ไอระเหยของโมเลกุลคาร์บอนรูปแบบต่าง ๆ เย็นลงและจับตัวกันเป็นโครงสร้างโมเลกุลรูปแบบต่าง ๆ แต่เมื่อโครงสร้างโมเลกุลจับตัวกัน กลับทำให้ทั้ง 3 ประหลาดใจ เพราะพบว่า โครงสร้างโมเลกุลคาร์บอนที่พบเกือบทั้งหมด มีรูปร่างเป็นทรงกลมเหมือนลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม จึงได้เรียกรูปทรงกลมนี้ว่า บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน ซึ่งชื่อนี้ก็ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติต่อ "บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์" (Buckminster Fuller) สถาปนิกและวิศวกรชื่อดังแห่งยุค ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคาร และสิ่งก่อสร้างรูปโดมทรงกลมที่มีลักษณะคล้ายกับลูกฟุตบอลขนาดใหญ่อันเลื่องชื่อหลายแห่งนั่นเอง


บัคกี้บอล

ภาพการ์ตูนล้อเลียน  บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ บนนิตยสารไทมส์


            เมื่อมีการค้นพบ "บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน" เกิดขึ้นมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษาต่อ และพบว่า "บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน" หรือ "บัคกี้บอล" มีความเสถียรสูงมาก และมีคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีที่แปลกประหลาดหลายประการ ซึ่งการค้นพบ "บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน" ในครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ.1996 ในเวลาต่อมา


บัคกี้บอล

บัคกี้บอล


            และสำหรับ "บัคกี้บอล" นั้น นักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้วิจัย ค้นคว้า ทดลองต่าง ๆ นานา จนพบว่า จริง ๆ แล้ว "บัคกี้บอล" มีประโยชน์ในหลายด้านเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะ "บัคกี้บอล" มีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ "บัคกี้บอล" เป็นส่วนประกอบหลักในการพัฒนาเซลล์สุริยะแบบไดแอด และยังใช้เป็นตัวบรรจุอะตอมโลหะและโมเลกุลของก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น ไฮโดรเจน เป็นต้น

            แต่คุณสมบัติของ "บัคกี้บอล" ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ สรรพคุณทางด้านเภสัชกรรม เนื่องจากมีการค้นพบว่า "บัคกี้บอล" น่าจะสามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ โรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะ ยายับยั้งการตายของเซลล์ ฯลฯ นั่นเพราะ "บัคกี้บอล" มีสรรพคุณในการต่อต้านไวรัส ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ต่อต้านมะเร็งและเนื้องอก ต่อต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ซึ่งหากพัฒนาต่อยอดไปในอนาคต เราก็อาจจะเอาชนะเจ้าโรคร้ายต่าง ๆ ได้

            อย่างไรก็ตาม แม้ "บัคกี้บอล" จะมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ ดร. อีวา โอเบอร์ดอสเตอร์ (Eva OberdÖrster) กลับได้ตรวจสอบพบความเป็นพิษของ "บัคกี้บอล" เช่นกัน โดยระบุว่า "บัคกี้บอล" สามารถชักนำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายเยื่อหุ้มเซลล์สมองได้ โดยผลวิจัยนี้ ดร.อีวา ได้ทดลองกับปลา และยังพบว่า มันเป็นพิษต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ ด้วย ซึ่งถ้าหาก "บัคกี้บอล" เข้าไปสะสมในตัวของสัตว์น้ำเล็ก ๆ ที่มนุษย์รับประทาน ก็มีความเป็นไปได้ที่ "บัคกี้บอล" จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการค้นคว้าตรวจสอบต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุด

            และนี่ก็คือเรื่องราวของ "บัคกี้บอล" ยามหัศจรรย์ของยุคนาโน ก็หวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ "บัคกี้บอล" จะกลายเป็น "ยาวิเศษ" อย่างแท้จริง ที่จะมาช่วยรักษาชีวิตของมวลมนุษย์ได้อีกจำนวนมาก


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
วิชาการ.คอม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัคกี้บอล (ว่าที่) ยามหัศจรรย์ในอนาคต อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 08:49:13 9,597 อ่าน
TOP
x close