เนื้องอกรังไข่...สาวท้องป่องเช็กอาการให้ไว อาจไม่ใช่แค่อ้วนลงพุง

          เนื้องอกรังไข่ โรคใกล้ตัวที่คุณผู้หญิงอาจไม่ได้สังเกต แต่รู้ไหมว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ได้ หากเนื้องอกนั้นเป็นเนื้อร้าย !
เนื้องอกรังไข่

          ถ้าคุณผู้หญิงคนไหนอยู่ ๆ ก็รู้สึกพุงป่อง ๆ ท้องโต ๆ ทั้งที่ไม่ใช่คนอ้วน ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ท้องผูกประจำ แถมยังคลำพบก้อนที่หน้าท้อง แบบนี้คงต้องไปเช็กร่างกายดูสักหน่อยค่ะ เพราะสาว ๆ หลายคนที่มีอาการทำนองนี้ มีเนื้องอกซ่อนอยู่ในรังไข่ บางคนไม่รู้ตัวปล่อยให้อ้วนอยู่นานหลายปีจนรู้สึกอึดอัด มีปัญหาสุขภาพร่างกาย สุดท้ายแพทย์ผ่าตัดเจอเนื้องอกหนักหลายกิโลกรัมอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวมาหลายครั้ง ดังนั้นเรื่องของ "เนื้องอกในรังไข่" เป็นภาวะใกล้ตัวที่ผู้หญิงควรศึกษาไว้หน่อย


เนื้องอกรังไข่ คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร


          เนื้องอกรังไข่ ภาษาอังกฤษ คือ Ovarian tumor คือก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาจากรังไข่ สาเหตุเกิดจากเซลล์รังไข่มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกหรือถุงหุ้มที่มีน้ำบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมถึงมีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ ทั้งนี้เนื้องอกรังไข่ จะแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ

          1. ชนิดที่เป็นถุงน้ำ หรือซีสต์ (Cyst) จะมีลักษณะเป็นถุง ภายในมีของเหลว น้ำ เนื้อเยื่อต่าง ๆ บรรจุอยู่ เกิดขึ้นได้ตามรอบประจำเดือน ซึ่งสามารถโตขึ้นได้ หรือยุบลงได้ และอาจกลายสภาพเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้เช่นกัน

          2. เนื้องอกธรรมดา (Benign) หรือก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นในรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง ไม่ใช่เนื้อร้าย

          3. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant) หรือมะเร็งรังไข่  ซึ่งกรณีนี้อาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่โอกาสพบเนื้องอกประเภทนี้มีน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ มาก คือประมาณ 6% เท่านั้นที่เนื้องอกในรังไข่จะแปรสภาพเป็นมะเร็ง

เนื้องอกในรังไข่

เนื้องอกรังไข่ ใครเสี่ยงกว่าเพื่อน ?


          ต้องบอกว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เช่น

          - ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวฝ่ายหญิงป่วยเป็นมะเร็ง เช่น คุณย่า คุณแม่ คุณป้า พี่สาว น้องสาว
          - ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็ว มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย
          - ผู้หญิงที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะพบว่าผู้หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมีความเสี่ยงน้อยกว่า
          - ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
          - คนอ้วน เพราะความอ้วนทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล
          - ผู้หญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก
          - ผู้ที่รับประทานยาต้านฮอร์โมนหญิง หรือทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
          - ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ 

เนื้องอกรังไข่ อาการแบบไหนสังเกตได้


          หากเนื้องอกรังไข่ยังมีขนาดเล็กอยู่ มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เราสังเกตเห็น แต่เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น คุณผู้หญิงอาจมีอาการเช่น

          - รู้สึกปวดท้องน้อย
          - มีความผิดปกติของประจำเดือน
          - ท้องโตหรือบวมขึ้นจนดูเหมือนท้องป่อง อ้วนลงพุง ทั้งที่ไม่ใช่คนอ้วน รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง
          - คลำพบก้อนที่หน้าท้อง
          - ท้องอืด คลื่นไส้
          - หากก้อนนั้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ก็จะมีอาการปัสสาวะบ่อย
          - หากก้อนไปกดเบียดลำไส้จะมีอาการท้องผูก ถ่ายลำบาก 
          - หากก้อนมีขนาดใหญ่มาก ๆ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า "ภาวะรังไข่บิดตัว" จะรู้สึกปวดท้องน้อยเฉียบพลันร่วมกับมีไข้ รังไข่อาจแตกออกจนเกิดการตกเลือด ติดเชื้อได้

          ทว่า...หากก้อนเนื้อนั้นเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งรังไข่ อาการที่แสดงออกมาจะเห็นได้ชัดกว่าก้อนเนื้อธรรมดา คืออาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีภาวะท้องมานหรือมีน้ำในช่องท้อง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันเนื้อร้ายนั้นลุกลาม (ศึกษาเรื่องโรคมะเร็งรังไข่เพิ่มเติมที่..มะเร็งรังไข่ อาการเป็นอย่างไร รู้ไว้ เฝ้าระวัง สังเกตตัวเอง)

          อย่างไรก็ตาม ถ้าใครพบว่ามีเนื้องอกรังไข่ก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะโอกาสที่จะเป็นเนื้องอกชนิดมะเร็งนั้นมีน้อย

เนื้องอกรังไข่

เนื้องอกรังไข่ รักษาได้ อย่าเพิ่งตกใจ


          หากพบความผิดปกติขึ้นกับตัวเองหรือสงสัยว่าเราเป็นเนื้องอกรังไข่หรือเปล่า ควรไปตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์อาจจะใช้วิธีตรวจอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะเลือด หรือตัดชิ้นเนื้อไปวินิจฉัย ซึ่งหากเป็นเนื้องอกรังไข่แบบธรรมดาสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายนั้น หากพบระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน โดยจะใช้วิธีการรักษาดังนี้...

          - กรณีเป็นถุงน้ำขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการตกไข่ตามธรรมชาติ และอาจหายไปได้เอง แพทย์จะใช้วิธีติดตามอาการ โดยอาจให้ทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แล้วนัดมาตรวจเป็นระยะเพื่อดูว่าถุงน้ำเล็กลงหรือไม่

          - กรณีเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง หากเนื้องอกมีขนาดเล็กอาจจะยุบไปได้เอง แต่หากเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ หรือขนาดของเนื้องอกเพิ่มขึ้นรวดเร็วผิดปกติ แพทย์จะให้ยารักษา ไปจนถึงขั้นผ่าตัด
 
          - กรณีเนื้องอกเป็นมะเร็ง หากตรวจพบเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แพทย์จะผ่าตัดเนื้อร้ายออกให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายออกไป และให้เคมีบำบัดหรือใช้รังสีรักษาหลังผ่าตัด ขึ้นอยู่กับว่าระยะมะเร็งรุนแรงแค่ไหน

          ทั้งนี้การจะผ่าตัดเนื้องอกหรือไม่นั้น แพทย์จะพิจารณาว่าเนื้องอกนั้นอันตรายแค่ไหน เช่น หากมีการแตกออก ทำให้มีเลือดออก ตกเลือด ก็ควรที่จะผ่าตัดซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และผ่าตัดแบบส่องกล้อง

เนื้องอกรังไข่

เนื้องอกรังไข่ ป้องกันได้ไหม ?


          ต้องบอกว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการตรวจสุขภาพ โดยผู้หญิงควรตรวจภายในทุกปี เพราะหากพบเนื้องอกหรือความผิดปกติใด ๆ ขึ้นมาจะได้รักษาทัน

          ลองสังเกตอาการตัวเองกันดูสักทีค่ะ และอย่านิ่งนอนใจหากพบความผิดปกติอะไรขึ้นมา เพราะยิ่งตรวจวินิจฉัยได้เร็ว โอกาสรักษาโรคให้หายยิ่งมีสูงขึ้นนะคะ นอกเหนือจากนี้อย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็พอจะช่วยลดความเสี่ยงเนื้องอกรังไข่ได้ระดับหนึ่ง



ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  โรงพยาบาลพญาไท, ครอบครัวข่าว 3, webmd.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เนื้องอกรังไข่...สาวท้องป่องเช็กอาการให้ไว อาจไม่ใช่แค่อ้วนลงพุง อัปเดตล่าสุด 29 ธันวาคม 2565 เวลา 13:28:41 155,736 อ่าน
TOP
x close