ปวดท้องน้อย หรือปวดอุ้งเชิงกราน
เป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตที่หลาย ๆ คนคงเคยเป็น
แต่เอ…อาการปวดท้องน้อยของเรากำลังส่งสัญญาณบอกอาการหรือโรคอะไรอยู่นะ
ตำแหน่งของท้องน้อยที่เราปวดจะมีความสัมพันธ์กับโรคค่ะ เช่น ถ้าเราปวดท้องน้อยด้านซ้ายร่วมกับอาการท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรังเราอาจจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวน แต่ถ้าปวดท้องน้อยด้านขวา เราอาจจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าปวดตรงกลางท้องน้อย เราอาจจะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็ได้
สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยนั้นมีหลากหลายจริง ๆ ค่ะ ตั้งแต่อาการไม่อันตรายมากนัก หายได้เอง เช่น ปวดประจำเดือน ไปจนถึงโรคที่อันตรายร้ายแรงต้องได้รับการรักษาทันท่วงทีอย่างไส้ติ่งอักเสบ
วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมอาการและโรคที่พบได้บ่อยจากอาการปวดท้องน้อยมาฝากกัน เพื่อให้เราได้ลองเช็กตัวเองเบื้องต้นว่า อาการปวดท้องน้อยที่เราเป็นนั้นอาจจะเป็นอาการหรือโรคอะไรได้บ้าง แต่ถ้าใครไม่แน่ใจหรือเป็นมานานแล้วไม่หายสักที ควรรีบไปหาหมอเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะอาการปวดท้องน้อย อาจไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยค่ะ
ท้องน้อยอยู่ตรงไหนกันนะ ?
ท้องน้อยอยู่ตรงบริเวณส่วนท้องตอนล่าง (บริเวณใต้สะดือ) เป็นที่อยู่ของอวัยวะสำคัญ ๆ อย่างลำไส้เล็ก (small intestine), ลำไส้ใหญ่ (large intestine), มดลูก (uterus), รังไข่ (ovaries), ช่องคลอด (vagina), กระเพาะปัสสาวะ (bladder), ท่อปัสสาวะ (urethra) ในผู้ชายยังมีองคชาต (penis), ต่อมลูกหมาก (prostate gland), หลอดนำอสุจิ (vas deferens) และอัณฑะ (testicle) และด้วยสรีระของผู้หญิงที่ซับซ้อนกว่าผู้ชายนี่เองที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสปวดท้องน้อยมากกว่าผู้ชาย
ปวดท้องน้อยมี่กี่ประเภท ?
ในทางการแพทย์แบ่งอาการปวดท้องน้อยได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน (Acute pelvic pain) และอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain)
ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าว่าอาการปวดท้องน้อยที่เราเคยเป็นนั้นอยู่ในกลุ่มไหน และมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ส่งสัญญาณโรคอะไรบ้างนะ ?
อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน (Acute Abdomen) เป็นอาการปวดแบบรุนแรงทันทีทันใด มักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในช่องท้องที่เป็นสาเหตุ อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย รวมทั้งในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อยก็อย่างเช่น
1. โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease : PID)
คือ การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบนของสตรี ได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ และอวัยวะใกล้เคียง โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นคำเรียกกว้าง ๆ ของโรคนี้ แต่ถ้าทราบว่ามีการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งแน่ชัดก็อาจจะระบุให้ชัดไปเลย เช่น ปีกมดลูกอักเสบ รังไข่อักเสบ ผนังมดลูกอักเสบ เป็นต้น
โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นหากคุณชอบเปลี่ยนคู่นอน และมีอาการปวดท้องน้อยทั้งสองข้างก่อนและหลังมีประจำเดือนแบบหน่วง ๆ ตลอดเวลา บางครั้งอาจปวดเกร็งเป็นระยะ และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือมีเพศสัมพันธ์ มีไข้ ตกขาวมากผิดปกติ สีเหลืองคล้ายหนอง ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบค่ะ แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะโรคนี้รักษาหายได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ต้องรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้มีลูกยาก หรือท้องนอกมดลูกในอนาคตได้
2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
ถ้ามักมีอาการปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ โดยเฉพาะเมื่อปัสสาวะสุด อีกทั้งยังปัสสาวะบ่อยขึ้น การปวดท้องน้อยกรณีนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ใครที่ชอบกลั้นปัสสาวะนาน ๆ ลองสังเกตตัวเองดูค่ะ และควรรีบไปรักษา เพราะถ้าปล่อยให้โรคลุกลามมากขึ้นอาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบ หรือโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้
* กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการฮิตคนชอบอั้นปัสสาวะ
3. ถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว หรือ ถุงน้ำรังไข่แตก (Twisted or ruptured ovarian cyst)
โรคนี้จะทำให้เรารู้สึกปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันในด้านที่มีรังไข่บิดขั้ว โดยจะปวดเป็นพัก ๆ ในระยะแรก ๆ มักรู้สึกปวดเวลาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย ทั้งนี้ หากรังไข่บิดขั้วมานานอาจมีอาการไข้ร่วมกับอาการปวดท้องไปทั่วช่องท้องที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และหากยิ่งมีการบิดขั้นรุนแรงมากขึ้น จะทำให้รังไข่คั่งเลือด ซึ่งหากถุงน้ำรังไข่แตก จะทำให้เส้นเลือดฉีกขาดจนเลือดตกในท้องเป็นอันตรายถึงชีวิต กรณีนี้ต้องรีบผ่าตัดโดยด่วน
4. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
ไส้ติ่งอักเสบก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ทำให้เรารู้สึกปวดท้องน้อยได้เช่นกัน โดยมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยด้านขวาล่าง ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ปวดตรงบริเวณสะดือ ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง แถมยังรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกปวดเวลาท้องน้อยด้านขวาถูกกระเทือนหรือถูกกดด้วย บางคนอาจมีไข้ต่ำ ๆ และหนาวสั่น ซึ่งถ้าใครมีอาการเช่นนี้ แนะนำว่าให้รีบไปหาหมอทันทีเลยค่ะ เพราะถ้าชักช้าไส้ติ่งอาจจะแตก ทำให้เชื้อโรคกระจายเข้าสู่ช่องท้อง ติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้เลย
* ลองเช็กอาการไส้ติ่งอักเสบอย่างละเอียดที่ ไส้ติ่งอักเสบ อาการต้องสงสัยอย่างนี้ไม่ควรมองข้าม
5. ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่รู้สึกปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านที่ตัวอ่อนฝังตัวนอกโพรงมดลูก) อย่างมากจนจะเป็นลม หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย (คล้ายประจำเดือนแต่มีปริมาณน้อยกว่า) และอาจมีประวัติขาดประจำเดือนมาก่อน อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้คุณแม่ต้องรีบไปหาหมอโดยด่วน เพราะนี่เป็นสัญญาณของการท้องนอกมดลูก ซึ่งถ้าปล่อยให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตนอกมดลูกต่อไป อาจทำให้อวัยวะฉีกขาด เลือดออกในช่องท้อง เป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงท้องนอกมดลูกก็ได้แก่ คนที่เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน เคยได้รับการผ่าตัดทางช่องท้อง เคยใช้ยาหรือเทคนิคการกระตุ้นให้ไข่ตก เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือเคยมีประวัติสำส่อนทางเพศ รวมทั้งคนที่มีนิสัยชอบสูบบุหรี่ เคยใช้ห่วงยางคุมกำเนิด และตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปี
นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ยังมีอาการและโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันได้ เช่น ท้องผูก (Constipation), โรคลำไส้อุดตัน (Bowel obstruction), การบาดเจ็บที่เส้นเอ็น (Strained tendons), ภาวะติดเชื้อ, (Septic) และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) ถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ ควรไปหาหมอเพื่อจะได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีกว่าค่ะ
* อาการท้องนอกมดลูก สัญญาณนี้อันตรายแค่ไหน ?
ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ส่งสัญญาณโรคอะไรบ้างนะ ?
ถ้าเรามีอาการปวดท้องน้อยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถือว่าเราเป็นโรคปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) แล้วค่ะ ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ เช่น ต้องลาป่วย ลางาน หรือในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นต้องออกจากงาน ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจตามมาได้ ทีนี้มาดูว่าอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่พบได้บ่อย ๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง
1. อาการหงุดหงิดขั้นรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome : PMS)
ถ้าคุณสาว ๆ มีอาการปวดท้องน้อยในช่วงประมาณ 7-10 วัน ก่อนมีประจำเดือน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขัดอกขัดใจ อยากเหวี่ยงอยากวีนไปหมด แบบนี้แสดงว่าอาการปวดท้องน้อยที่เป็นนั้นคือกลุ่มอาการเริ่มต้นของการมีประจำเดือน หรือ PMS (Premenstrual Syndrome) นั่นเอง ซึ่งไม่ต้องตกใจไป เพราะเมื่อประจำเดือนมา อาการปวดท้องน้อยจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหมดไปเองค่ะ
แต่ถ้าปวดท้องน้อยแล้วมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ มากผิดปกติ เครียดจัด โมโหร้าย ร้องไห้บ่อย ๆ หรืออาจมีอาการซึมเศร้าในบางครั้ง ร่วมกับอาการทางกายอื่น ๆ อย่างปวดหัวรุนแรง คัดเต้านมมาก ๆ ขาดสมาธิจนเสียการเสียงาน งานนี้แนะนำให้ไปพบแพทย์สักหน่อย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder : PMDD) ซึ่งควรได้รับการรักษา เพื่อจะได้ไม่กระทบกับตัวเองและคนรอบข้างที่อาจรับอารมณ์ที่แปรปรวนของคุณไม่ทัน
2. ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
ปวดประจำเดือนเป็นอาการที่พบกันประจำเมื่อถึงช่วงนั้นของเดือน โดยสาว ๆ จะรู้สึกปวดหน่วง ๆ แถวท้องน้อย หรือปวดบิดเป็นระยะ เนื่องจากมดลูกรัดตัว โดยทั่วไปจะมีอาการปวดมากภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจปวดนาน 2-3 วัน หลังจากเริ่มมีประจำเดือน และอาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบั้นเอว ปกติแล้วการปวดประจำเดือนไม่อันตราย แนะนำว่าถ้ารู้สึกปวดมากให้กินยาแก้ปวด หรือหากระเป๋าน้ำร้อนมาประคบบริเวณหน้าท้อง จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น หรือจะลองดูวิธีแก้ปวดประจำเดือนตามนี้ดูก็ได้ค่ะ
* 3 ท่านอนแก้ปวดท้องประจำเดือน ช่วยมนุษย์เมนส์หลับเต็มตื่นโดยไม่ทรมาน
* 7 ท่ายืดเหยียดร่างกายคลายปวดประจำเดือน ทำปุ๊บหายปวด ณ บัดนาว !
* เป็นประจำเดือน กินอะไรดี เสริมสุขภาพด้วยอาหารให้ดีเต็มแม็กซ์
3. ปวดท้องจากตกไข่ (Painful Ovulation)
ประจำเดือนก็หมดไปหลายวันแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อยอยู่เลย อาการปวดท้องน้อยที่มักเกิดช่วงกลาง ๆ ของรอบประจำเดือนแบบนี้ (ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนประจำเดือนมารอบถัดไป) และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย เกิดจากการตกไข่ค่ะ ซึ่งเป็นอาการปวดชั่วคราวและไม่รุนแรงให้น่าวิตกอะไร นอนพักผ่อนหรือกินยาแก้ปวดก็หายได้ เว้นเสียแต่ว่ามีอาการตกไข่ใกล้เส้นเลือด เกิดผนังรังไข่ฉีกขาด ทำให้เส้นเลือดขาด นี่จะทำให้เลือดออกในช่องท้องซึ่งเป็นอันตรายได้ แต่กรณีแบบนี้พบได้น้อยมาก
4. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติถ้าสาว ๆ จะรู้สึกปวดท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน แต่ถ้าอาการปวดนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนมีเข็มแทง หรือปวดเกร็งในช่องท้อง จนต้องขาดเรียน ขาดงานเป็นประจำ แถมยังรู้สึกปวดร้าวไปถึงหลัง เอว ก้นกบ หน้าขา ร่วมกับมีอาการท้องอืด ท้องบวม ท้องเสีย ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระมากกว่าปกติ หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือมีอาการเจ็บท้องน้อยหรือมดลูกขณะมีเพศสัมพันธ์ เกรงว่าคุณจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้วค่ะ เพราะอาการปวดนั้นเกิดจากเลือดที่ถูกสร้างโดยเยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถขับออกมาได้ และมักจะปวดมากขึ้นทุก ๆ เดือน บางครั้งอาจเห็นเป็นถุงน้ำที่มีเลือดอยู่ภายในที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ กรณีนี้อาจต้องไปตรวจภายในดูสักครั้ง และควรรีบรักษา เพราะอาจมีผลกระทบต่อไปยังอวัยวะภายในอื่น ๆ และนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากด้วย
* เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 5 อาการเหล่านี้แหละใช่เลย
5. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome : IBS)
ลองเช็กตัวเองดูค่ะว่าคุณเคยมีอาการแบบนี้บ้างหรือเปล่า...ปวดท้อง แน่นท้อง บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวาร่วมกับอาการท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออาจมีทั้งท้องผูกท้องเสียสลับกัน เวลาท้องเสีย มักเป็นช่วงเช้าหรือหลังกินอาหาร แต่ถ้าท้องผูกอาจเป็นเพียงวันเดียวหรือนานเป็นเดือน บางครั้งท้องไส้ก็ปั่นป่วน มีแก๊ส อยากเรอ อาเจียน ถ้าใช่ คุณอาจจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวนก็ได้ ซึ่งโรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่จะใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาระบาย ยาลดอาการปวดเกร็ง ยาคลายกังวล ยาแก้ท้องเสีย ถ้าใครเป็นโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ เช่น อาหารรสจัด อาหารมัน ๆ ชา กาแฟ รวมทั้งความเครียดด้วย
6. กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง (Interstitial Cystitis)
กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่ชวนสับสนกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบธรรมดาอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากชื่อจะคล้ายกันแล้ว อาการของโรคยังคล้ายกันอีกต่างหาก คือ ปวดปัสสาวะบ่อย ๆ มากกว่า 4-7 ครั้งต่อวัน แต่กลับปัสสาวะออกน้อย ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะจะหมด และที่น่าจะทำให้หลายคนตกใจก็คือปัสสาวะออกมาแล้วมีเลือดปนเหมือนกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบธรรมดาด้วย
สำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบธรรมดานั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้นกว่า ซึ่งจะต่างกับสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใด ๆ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจากผนังกระเพาะปัสสาวะมีรูรั่ว ทำให้สารเคมีในปัสสาวะหลุดรอดเข้าไปทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง, ภูมิคุ้มกันตัวเราโจมตีกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองการแพ้ รวมทั้งพันธุกรรม ก็อาจเป็นสาเหตุให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน
ทว่าเราไม่สามารถแยกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบออกจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังได้เอง ฉะนั้นถ้าเราปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ปัสสาวะแสบขัด ควรไปหาหมอจะดีกว่า ซึ่งหมอจะตรวจปัสสาวะ หรือส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อดูความผิดปกติ ถ้าไม่พบการติดเชื้อก็อาจเป็นไปได้ว่าเราเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังค่ะ
เนื่องจากโรคนี้ยังมีสาเหตุไม่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีการรักษาแน่นอน เบื้องต้นคุณหมออาจจะให้เราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาบน้ำอุ่นเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายเราผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งเลิกสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในควันบุหรี่ที่เราหายใจเข้าไปตอนสูบบุหรี่นั้นจะทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง
นอกจากนี้ยังควรงดอาหารบางชนิดที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ด ช็อกโกแลต เป็นต้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น คุณหมอจะรักษาโดยการให้ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาที่รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ อีก เช่น ฝึกการควบคุมการขับถ่ายเพื่อที่จะไม่ต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ถ้ารักษาวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผลแล้ว คุณหมอจะเลือกการผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้ายค่ะ
7. ไส้เลื่อน (Hernia)
ไส้เลื่อนก็คือ อาการที่ลำไส้เคลื่อนที่ผิดตำแหน่งไปอยู่อีกที่หนึ่งค่ะ ถ้าผิดที่อยู่ในช่องท้องเรียกว่าไส้เลื่อนภายใน แต่ถ้าเคลื่อนจนกระทั่งตุงออกมาให้เห็นภายนอกเรียกว่า ไส้เลื่อนภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง ทั้งบริเวณขาหนีบ ต้นขา ผนังหน้าท้อง และรอยแผลผ่าตัด
อาการต้องสงสัยที่จะบอกว่าเราปวดท้องน้อยเพราะเป็นไส้เลื่อนหรือเปล่า ให้ลองสังเกตดูค่ะว่าเรารู้สึกปวดถ่วง ๆ เวลายืนหรือเดินไหม และมีอาการเจ็บเวลาก้มตัว ไอ หรือยกของหรือเปล่า หรือในบางคนอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง เช่น รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วยค่ะ ส่วนคนที่มีอาการไส้เลื่อนที่บริเวณกระบังลม อาจมีภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน แต่ในบางคนก็อาจไม่มีอาการเหล่านี้เลย มีแต่เพียงอาการให้เห็นภายนอกเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองมีก้อนตุง ๆ ออกมา ควรไปให้แพทย์วินิจฉัยโดยละเอียดจะดีกว่า ซึ่งถ้าอาการยังไม่อันตรายมากนัก แพทย์จะให้ยาประคับประคองอาการไปก่อนเพื่อรอการผ่าตัด แต่หากใครมีอาการหนักถึงขั้นปวดท้อง อาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือบริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็ง จนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ เคสนี้แพทย์จะรีบนัดผ่าตัดด่วนให้เลย เพราะเป็นสัญญาณว่าเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้จึงเกิดอาการบวม หากปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย และอาจเสียชีวิตในที่สุด
อย่างไรก็ตาม อยากย้ำตรงนี้ด้วยค่ะว่า อาการไส้เลื่อนไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเพศชาย อย่างที่บางคนเข้าใจเท่านั้น แต่ผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้ ลองมาทำความเข้าใจอาการไส้เลื่อนให้มากขึ้น
* ไส้เลื่อน อาการควรระวัง ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็เป็นได้
8. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (Chronic prostatitis)
เป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้แก่คุณผู้ชายไม่น้อย เมื่อต่อมลูกหมากของคุณอักเสบและติดเชื้อ คุณผู้ชายจะรู้สึกปวดบริเวณฐานของอวัยวะเพศและรอบ ๆ ทวารหนัก ในบริเวณท้องน้อยและด้านหลังส่วนล่าง บางครั้งอาการปวดอาจจะกระจายลงไปที่ปลายของอวัยวะเพศหรือเข้าไปในอัณฑะ ตอนปัสสาวะจะรู้สึกปวดมาก ถ้าปวดปัสสาวะแล้วต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที ต้องเบ่งปัสสาวะหรือความแรงปัสสาวะไม่พอ คล้ายกับอาการต่อมลูกหมากโต บางคนอาจจะปวดมากขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้คุณอาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ปวดเมื่อยตามตัว แต่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าปวดตรงไหน
สำหรับสาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อของต่อมลูกหมากซึ่งส่งผลต่อเส้นประสาทของต่อมลูกหมาก หรืออาจเกิดจากปัญหาภูมิคุ้มกันของต่อมลูกหมากที่ภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์ของต่อมลูกหมากเอง รวมทั้งการอักเสบหรือติดเชื้อที่เกิดจากปัสสาวะย้อนกลับขึ้นไปยังต่อมลูกหมากขณะปัสสาวะ
และด้วยเหตุที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ การรักษาจึงมีหลากหลายวิธีด้วยกันค่ะ ตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับคนที่มีอาการไม่ร้ายแรงมากนักไปจนถึงการผ่าตัด ในขณะที่อาจมีการให้ยาระงับความเจ็บปวด (NSAID) เพื่อบรรเทาอาการควบคู่ไปด้วย รวมทั้งการรักษาโดยไม่ใช้ยา อย่างเช่น การนวดต่อมลูกหมาก การแช่ก้นในน้ำอุ่น และการออกกำลังกายที่จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
9. เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids)
เนื้องอกมดลูก เมื่อได้ยินคำคำนี้ คุณผู้หญิงหลายคนคงจะหวาดกลัวมาก บางคนอาจจะจินตนาการไปถึงขั้นเป็นมะเร็งเลยทีเดียว แต่ใจเย็น ๆ ก่อนค่ะ เพราะโอกาสที่เนื้องอกในมดลูกจะเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายมีแค่ 1% เท่านั้น
เราสามารถสังเกตอาการตัวเองเพื่อเช็กความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกได้ เช่น สังเกตดูว่าเราปวดประจำเดือนมากกว่าปกติหรือปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือนหรือไม่ มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือนหรือเปล่า ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มากด้วยไหม ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ หรือมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ เพราะเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก เราจะคลำเจอได้เองบริเวณท้องน้อย
ดังนั้น ถ้าพบว่าเรามีอาการเหล่านี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะไม่มีอาการเลยแต่ตรวจพบเนื้องอกตอนที่ไปตรวจภายในค่ะ เพราะฉะนั้นการไปตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคุณผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการของเราค่ะ ถ้าก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก และไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ไม่ต้องรักษา เพราะมันจะฝ่อไปเองเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน แต่ถ้าก้อนเนื้อโต หรือทำให้เกิดอาการผิดปกติ แพทย์จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้อออกหรือตัดมดลูกออกหมด ซึ่งถ้าเราไม่ได้ผ่าเอามดลูกออกก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคเนื้องอกมดลูกได้อีกค่ะ
* ชวนสาว ๆ มารู้จักโรคเนื้องอกมดลูก
10. โรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Diverticulitis)
โรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง คือ โรคที่ผนังลำไส้ใหญ่มีการโป่งพองออกมาเป็นถุง แม้จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดอะไร มีเพียงแค่ทำให้เราปวดท้อง ท้องอืด ตึง ๆ มีลมมากเท่านั้น แต่ถ้าถุงนี้เกิดอักเสบก็จะทำให้เราปวดท้องด้านล่างซ้ายหรือตรงตำแหน่งที่ถุงตั้งอยู่ บางคนอาจจะปวดมากจนถึงกับคลื่นไส้ อาเจียน เลยทีเดียว หากเรามีอาการถึงขั้นนี้แล้วควรจะรีบไปพบแพทย์ค่ะ มิฉะนั้นถ้าถุงเกิดการอักเสบมากขึ้นอีกเราก็จะมีไข้ หนาวสั่น และถ้าโรครุนแรงถึงขั้นผนังลำไส้ทะลุ จะทำให้เราปวดท้องอย่างหนักและหน้าท้องแข็ง เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย
โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเซลล์ผนังลำไส้ใหญ่เริ่มเสื่อมลง เมื่อมีความดันเพิ่มขึ้นในลำไส้ใหญ่ จึงทำให้ผนังลำไส้โป่งพองได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ท้องผูกบ่อย ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้เช่นกัน เพราะต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ ทำให้แรงดันในลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการกินอาหารที่มีกากใยจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้มากทีเดียว ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคค่ะ ถ้าเป็นไม่มาก หมอก็จะให้เรานอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน กินอาหารเหลวเพื่อให้ลำไส้ได้พัก และกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ฝีแตก ลำไส้ทะลุ ลำไส้ใหญ่อุดตัน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียวค่ะ
11. นิ่วในไต (Kidney Stone)
หากเราเป็นคนที่ชอบกินอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักใบเขียว, กะหล่ำ, หน่อไม้ฝรั่ง หรือกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง จำพวกเนื้อสัตว์ เครื่องใน หรือกินวิตามินซี วิตามินดี แคลเซียมเสริมในปริมาณที่สูงต่อเนื่อง แถมยังมีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อยและชอบกลั้นปัสสาวะ แล้วเกิดปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงขึ้นมา ต้องสงสัยไว้ในระดับหนึ่งได้ว่าอาจเป็นโรคนิ่วในไตก็เป็นได้
นั่นเพราะสารอาหารหรือกรดบางชนิดที่เรากินเข้าไป ถ้าร่างกายขับออกมาไม่หมดจะตกค้างเป็นก้อนผลึกขนาดเล็กที่เรียกว่า "นิ่ว" ได้ค่ะ ซึ่งถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็กก็จะถูกขับออกไปทางปัสสาวะได้เอง เคสนี้สบายใจได้หน่อยว่าไม่เจ็บไม่ปวดมากนัก ถ้าไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ และให้ยาละลายนิ่วช่วยให้นิ่วหลุดออกมาเอง
แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนไปอุดกั้นในท่อไต อาการปวดอย่างหนักหน่วงจะมาเยือนทันที โดยจะปวดอย่างรุนแรงบริเวณสีข้างหรือใต้ชายโครง และอาจปวดร้าวไปที่ท้องน้อยส่วนล่างและขาหนีบ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะที่ออกมาจะมีสีแดงขุ่นหรือมีเม็ดทราย ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษานะคะ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ โรคนิ่วในไตจะกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และกลายเป็นไตวายเรื้อรังในที่สุด
* นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย
12. พังผืดในช่องท้อง (Abdominal adhesions)
ส่วนใหญ่โรคนี้มักเกิดในคนที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาแล้วค่ะ เพราะระหว่างที่ผ่าตัด อวัยวะต่าง ๆ จะถูกจับต้องเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งปกติ แต่ในคนทั่วไปที่ไม่เคยผ่าตัดก็อาจพบได้บ้าง แต่ไม่บ่อยนัก โรคนี้มักไม่แสดงอาการเว้นแต่ว่าพังผืดไปดึงรั้งลำไส้เล็ก หรือลำไส้ จนทำให้เกิดอาการปวด ท้องอืด กินแล้วอาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม หากอาการไม่รุนแรงมากอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรงหรือกรณีพังผืดไปอุดตันลำไส้ ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงจนลำไส้ส่วนนั้นเน่า แพทย์จะทำการผ่าตัดรักษาให้
13. ปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis)
ปากมดลูกตีบเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บของมดลูก การผ่าตัดบริเวณปากมดลูก หรือบางคนอาจจะเป็นมาตั้งแต่เกิดก็ได้ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะทำให้เลือดประจำเดือนไม่สามารถผ่านปากมดลูกออกมาได้ตามปกติ เลือดจึงไปคั่งในมดลูกและทำให้เราปวดบริเวณท้องน้อยมาก โดยเฉพาะช่วงที่ประจำเดือนมาจะรู้สึกปวดมากกว่าปกติ หรืออาจมีปัญหาประจำเดือนขาดไปเลย
นอกจากนี้ อาการปากมดลูกตีบยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีลูก เพราะเชื้ออสุจิจะผ่านเข้าไปไม่ได้ แต่ข่าวดีก็คือ ปัจจุบันแพทย์สามารถขยายปากมดลูกได้ด้วยการให้ยาชาเฉพาะที่ หรือโกนเนื้อเยื่อปากมดลูกเพื่อให้ช่องกว้างขึ้นได้
14. ถุงน้ำรังไข่ หรือ ซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cysts)
ผู้หญิงหลายคนเมื่อปวดท้องน้อยก็จะอดกังวลไม่ได้ว่าเราเป็นถุงน้ำในรังไข่ หรือซีสต์ในรังไข่หรือเปล่า เพราะเป็นโรคที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเช็กตัวเองดูค่ะว่า เราปวดท้องน้อยแบบบิด ๆ เสียด ๆ ปวดถ่วง ๆ ช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ไหม แล้วมีอาการประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ หรือไม่ ปวดไมเกรนบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงประจำเดือนจะมาหรือเปล่า หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุด้วยไหม เพราะสิ่งเหล่านี้คือสัญญาณหนึ่งของโรคถุงน้ำรังไข่ ซึ่งเกิดจากไข่ไม่ตกมากลายเป็นประจำเดือน ทำให้มีไข่หลายใบค้างในท้อง จนทำให้น้ำในมดลูกมีปริมาณเพิ่มขึ้น และหากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ก็ยังสามารถคลำหรือกดแล้วเจอก้อนในท้องน้อยได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจพบถุงน้ำในรังไข่ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป เพราะถ้าถุงน้ำไม่โตมาก ถุงน้ำจะฝ่อหายไปเองได้ใน 2-3 เดือน แต่ถ้าถุงน้ำใหญ่หรือในกรณีที่ถุงน้ำแตกออกและมีเส้นเลือดฉีกขาด ทำให้ตกเลือด เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาถุงน้ำออกค่ะ
15. มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer)
โรคมะเร็งรังไข่ เป็นภัยเงียบที่คอยซุ่มโจมตีผู้หญิงอย่างเรา ๆ ที่เรียกว่าเป็นภัยเงียบก็เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการ กว่าเราจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ก็อยู่ในระยะท้าย ๆ ที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปนักค่ะ
ลองมาสังเกตตัวเองดูดีกว่าว่าถ้าตอนนี้มีอาการเหล่านี้และเป็นติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ก็อย่าชะล่าใจ ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยละเอียดจะดีกว่า ซึ่งอาการเหล่านี้ก็ได้แก่ มีอาการท้องอืดเป็นประจำ แน่นท้อง ปวดท้องในอุ้งเชิงกรานเพราะมีก้อนในช่องท้อง ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดโตมากมันจะไปกดกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้ถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระลำบาก ตามมาด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ้าอาการอยู่ในระยะท้าย ๆ จะมีน้ำในช่องท้อง ทำให้ท้องโตกว่าเดิมเหมือนคนอ้วนขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่มีอาการเลย จะรู้ก็ต่อเมื่อไปตรวจภายในหรือทำอัลตราซาวด์เท่านั้น คุณผู้หญิงจึงควรไปตรวจภายในหรือทำอัลตราซาวด์ช่องท้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็กว่ามีก้อนในช่องท้องหรือไม่ ถ้าตรวจเจอจะได้รีบรักษาค่ะ
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ ถ้าตรวจเจอในระยะแรก แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเนื้องอกออกไปให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แล้วแพทย์จะรักษาโดยการใช้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง เพื่อไปฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง
อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะสงสัยว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคนี้บ้างหรือไม่ ไปดูกันดีกว่าค่ะว่าถ้าเราเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งตามข้างล่างนี้ เราก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน
1. ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัยเริ่มหมดประจำเดือน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบได้มากที่สุด แต่ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่านี้ก็มีโอกาสเป็นได้
2. ผู้หญิงที่มีลูกน้อยหรือมีลูกยาก หรือคลอดบุตรคนแรกหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว
3. ผู้หญิงที่ไม่เคยท้องหรือคลอดลูก เพราะการท้องหรือการให้นมลูกเป็นการป้องกันมะเร็งรังไข่ตามธรรมชาติ เนื่องจากช่วงที่อุ้มท้องและให้นมลูก รังไข่จะไม่มีการตกไข่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ได้
4. ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้
5. ผู้หญิงที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว ป้า น้า เป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
6. ผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี
7. ผู้หญิงที่กินฮอร์โมนชดเชยฮอร์โมนเพศในช่วงวัยหมดประจำเดือน
* เช็กอาการของโรคมะเร็งรังไข่ รู้ไว้เฝ้าระวังตัวเอง ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
16. มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer)
ในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีคนเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ตัวหรอกว่า การใช้ชีวิตที่ขาดความสมดุลของเราอย่างการกินแต่เนื้อสัตว์สีแดง ไม่กินผัก-ผลไม้ ไม่ออกกำลังกายเลย แถมยังดื่มน้ำน้อย ปล่อยให้ตัวเองท้องผูก ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด จะเป็นตัวการให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับหรอกนะคะ แต่มันค่อย ๆ พัฒนาจากเซลล์บุลำไส้ใหญ่ที่เจริญผิดปกติเป็นติ่งเนื้อ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ฉะนั้นเราจึงสามารถสังเกตความผิดปกติของการขับถ่ายที่ทำให้เรานึกถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อยู่เหมือนกัน คือ ท้องผูกหรือท้องเสียติดต่อกันแบบไม่มีสาเหตุนานเกิน 6 สัปดาห์ ถ่ายออกมาเป็นเลือด อุจจาระมีขนาดเล็กลง ปวดอุจจาระบ่อย ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ควบคุมน้ำหนัก ถ้าเรามีอาการดังกล่าวก็อย่านิ่งนอนใจนะคะ รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยโดยละเอียดจะดีกว่า
สำหรับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าเป็นในระยะที่ 1-3 แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก และอาจมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาของโรค แต่ถ้าเป็นระยะที่ 4 แล้วแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด เพื่อบรรเทาอาการให้มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
* ลองมาเช็กดูว่า อาการระยะต่าง ๆ ของมะเร็งลําไส้เป็นอย่างไร
นอกจากอาการและโรคที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น ก็ยังมีอาการและโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้อีก เช่น เลือดคั่งมากผิดปกติในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Congestion Syndrome), โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer), โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, (Endometrial Cancer), โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) หรือแม้แต่ความเครียด ความเศร้าเรื้อรัง ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้เช่นกันค่ะ
ปวดท้องน้อยแบบไหน จำไว้ ก่อนไปหาหมอ
จะเห็นได้ว่าอาการปวดท้องน้อยนั้นมีหลายสาเหตุ หลากอาการเหลือเกิน ฉะนั้นก่อนไปพบคุณหมอก็ลองสังเกตอาการตัวเองดูสักหน่อยว่า เรามีอาการปวดท้องน้อยแบบไหน เช่น
* ปวดเสียด ปวดตื้อ ๆ ปวดบิด หรือปวดถ่วง ๆ เป็นต้น
* ระยะเวลาในการปวด ปวดนานไหม ปวดแค่ไม่กี่นาทีก็หาย หรือปวดท้องไม่หายเสียที
* มักปวดในช่วงไหน เช่น ปวดก่อนมีประจำเดือน ปวดหลังถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระ
* ตำแหน่งที่เริ่มปวดท้อง เช่น บริเวณลิ้นปี่ รอบ ๆ สะดือ ท้องน้อยขวา หรือปวดท้องข้างซ้าย เมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดเปลี่ยนหรือย้ายที่หรือไม่
* ปวดท้องมานานเท่าไร ภายในไม่กี่ชั่วโมง 2-3 วัน หรือเป็นเรื้อรัง
* อาการปวดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทันทีทันใด หรือค่อย ๆ ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหวจึงมาพบแพทย์
* มีอาการปวดร้าวไปที่อื่นหรือไม่ เช่น ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ขวาหรือซ้าย ร้าวไปหลัง ไปเอว ไปขาหนีบ หรือร้าวไปที่ลูกอัณฑะ
* มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย เป็นไข้ เหงื่อแตก หน้ามืด เป็นลม
* สาเหตุที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น อาหาร การถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ การหายใจแรง ๆ ไอหรือจาม การเคลื่อนไหว ท่านั่งหรือท่านอน
* สาเหตุที่ทำให้ปวดน้อยลง เช่น อาเจียนแล้วดีขึ้น การอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว ท่านั่งหรือท่านอน การงอตัว อาหารหรือยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้อย่าลืมแจ้งหมอด้วยว่าเรามีประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ รวมถึงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย เช่น ประวัติการมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ เพื่อการรักษาที่ตรงจุดนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
webmed.com
mayoclinic.org
nhs.uk
โรงพยาบาลวิภาวดี
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรงพยาบาลนนทเวช
โรงพยาบาลกรุงเทพ