DNA
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก dnaattorney.com
เราคงได้ยินข่าวเรื่องการตรวจ DNA เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด หรือพิสูจน์เอกลักษณ์เฉพาะของบุคคลอยู่บ่อยครั้ง แต่อีกหนึ่งความสามารถของ DNA ก็คือ การตรวจ DNA เพื่อรับรองบุตรว่า เด็กที่เกิดมาเป็นสายเลือดของใคร
ว่าแต่ DNA สามารถเป็นตัวชี้วัดสายสัมพันธ์ของแต่ละชีวิตได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอม มีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นสายเลือดเดียวกันมาอธิบายกันค่ะ
DNA หรือ Deoxyribo Nucleic Acid (ดีออกซิไรโบ นิวคลีอิค เอซิด) เป็นสารพันธุกรรมในนิวเคลียส ที่ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น DNA จึงเปรียบเสมือนประวัติส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่ถูกกำหนดขึ้น นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดการปฏิสนธิในครรภ์มารดา เพราะ DNA ในแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากจะได้รับลักษณะทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่อย่างละครึ่ง แล้วมารวมกันเป็น DNA เฉพาะตัวของลูกนั่นเอง แต่ก็ยังมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนพ่อแม่ปรากฎให้เห็นอยู่
เช่นนั้นแล้ว เมื่อลูกได้รับ DNA ของพ่อและแม่มาอย่างละครึ่ง จึงเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชั้นดีในการพิสูจน์บุคคลว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพื่อจะได้หมดข้อสงสัยใด ๆ โดยการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา เรียกว่า "DNA Paternity Testing"
อย่างไรก็ตาม การตรวจ DNA นั้น ต้องเป็นการยินยอมพร้อมใจทั้งฝ่ายตัวเอง และคู่กรณี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมให้ตรวจ DNA ก็จะไม่สามารถตรวจได้ โดยทั้งสองฝ่ายต้องเขียนใบยินยอมให้ทำการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางมารดา บิดา และบุตร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอตรวจ DNA
1.ใบยินยอมให้ทำการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางมารดา บิดา และบุตร
2.สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมตัวจริง ทั้งชายและหญิง รวมไปถึงบุตร (2 ชุด)
3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมตัวจริง ทั้งชายและหญิง (2 ชุด)
4.สูติบัตร (บุตร)
5.หมายศาล (หากมีคำสั่งของศาลให้ดำเนินการตรวจ)
6.หนังสือส่งตรวจ DNA จากทางราชการ กรณีขอมีถิ่นที่อยู่ หรือนำไปใช้ยืนยันทางราชการ
สามารถตรวจ DNA ได้ที่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง
สถานที่รับตรวจ DNA ในกรุงเทพฯ คือ
1.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
2.สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานกรมตำรวจแห่งชาติ
3.ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
4.หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
5.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ส่วนที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ก็สามารถรับตรวจ DNA ได้ แต่โรงพยาบาลเอกชนจะส่งตัวอย่าง DNA มาให้แล็บของรัฐตรวจสอบอยู่ดี
ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ ผู้จะขอรับการตรวจต้องเดินทางไปตรวจพิสูจน์ ณ สถานที่แห่งนั้นเท่านั้น ไม่สามารถส่งตัวอย่างตรวจผ่านทางไปรษณีย์ได้ เพื่อป้องการผลที่ผิดพลาด และการฟ้องร้องภายหลัง โดยทั่วไปใช้เวลาการตรวจ DNA นาน 5-7 วัน
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ DNA นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลจะกำหนดไว้ ค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่ 6,000-8,000 บาทต่อการตรวจ 1 คน และขึ้นอยู่กับตรวจเพื่อพิสูจน์อะไร แต่หากบางกรณีที่มีการขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ ทางมูลนิธิจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
การเก็บตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจ DNA
การตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา สามารถเก็บตัวอย่างที่จะนำมาพิสูจน์ได้จาก
1. เจาะเลือดตรวจ
2.ตรวจจากเซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้ม โดยนำเครื่องมือขูดเยื่อบุสกัดผิวเซลล์ที่เป็นเปลือกให้แตกออกมา โดยวิธีนี้เหมาะจะใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับเลือดมา หรือในกรณีผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
ขั้นตอนการตรวจ DNA
เมื่อได้ตัวอย่างมากแล้ว จะนำตัวอย่าง DNA ของผู้ขอรับการตรวจ DNA ไปสกัด DNA ออกมาเป็นเส้น แล้วใช้น้ำยาตรวจ DNA ดูว่า DNA มีลำดับการเรียงตัวของอนุพันธ์อย่างไร ก่อนจะแปรผลออกมาเป็นกราฟ โดยมนุษย์จะมี DNA 2 ชุดเหมือนกับโครโมโซมที่มี 2 ชุด โดย DNA 1 ชุดจะมีตัวเลขที่สามารถอธิบายได้ว่ามาจากแม่ ส่วนอีก 1 ชุดจะมาจากพ่อ
ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจ DNA ทั้งหมด 16 ตำแหน่ง เพื่อเปรียบเทียบอธิบายว่า ตัวเลขในแต่ละตำแหน่งมาจากพ่อ หรือแม่ โดยใช้การวิเคราะห์ทางสถิติ คำนวณความน่าจะเป็นที่เรียกว่า "Probability of Paternity"
วิธีการตรวจ DNA
การตรวจ DNA สามารถทำได้ 2 วิธีคือ
1. เทคนิคดั้งเดิม RFLP (Restriction Enzyme Fragment Length Polymorphism) วิธีการตรวจ DNA แบบนี้คนพบโดยเอ็ดเวิร์ด เซาท์เทิร์น นักเคมีชีวภาพชาวสก็อตแลนด์ เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970
2.เทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) เป็นเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาเมื่อทศวรรษ 1980 สามารถเพิ่มปริมาณ DNA ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และมีขั้นตอนการทำงานน้อย
ข้อแตกต่างระหว่าง RFLP กับ PCR คือ การตรวจแบบ RFLP จะใช้จำนวนตัวอย่างมากกว่าแบบ PCR คือใช้ตัวอย่างถึง 20-50 นาโนกรัม และใช้ระยะเวลาหลายวัน ขณะที่แบบ PCR ใช้เพียง 2 นาโนกรัม และใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่เทคนิค RFLP จะแสดงผลชัดเจนกว่า โดยจะให้แผนที่ DNA ขึ้นมาคล้ายบาร์โค้ด ส่วนแบบ PCR จะสามารถทำเป็นเครื่องตรวจวิเคราะห์ DNA อัตโนมัติได้ ซึ่งการจะเลือกใช้เทคนิคใดตรวจพิสูจน์ ก็ขึ้นอยู่กับตัวอย่างที่ได้มา หากเป็นตัวย่างที่คุณภาพดีและใหม่ ก็มักจะใช้เทคนิค RFLP ในการทดสอบ เพราะให้ผลชัดเจนกว่า
ตัวอย่าง ลายพิมพ์ DNA
การสรุปผลการตรวจ DNA
การสรุปผลการตรวจพิสูจน์ DNA พ่อ แม่ ลูก ต้องไม่มีข้อขัดแย้งตามเกณฑ์มาตรฐานสากล คือ จะต้องตรงกันทั้งสิบตำแหน่ง นั่นคือข้อสรุปที่จะบอกว่าเป็นลูกแน่นอนนั้น ต้องตรวจพบลายพิมพ์ DNA ของลูกมาจาก พ่อ และแม่ อย่างละ 50% ทั้งสิบตำแหน่ง
ความแม่นยำในการตรวจ DNA
การตรวจ DNA ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานทุกแห่ง มีความแม่นยำถึง 100% โดยนอกจากจะใช้ความแม่นยำของการทดสอบแล้ว ยังพิจารณาปัจจัยทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง และทฤษฎีความน่าจะเป็นด้วย ผลที่ออกมาจึงมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก และเป็นหลักฐานชั้นดีในการพิสูจน์ความเป็นบิดา มารดา และบุตร
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ