อาการมะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ รู้ให้กระจ่างก่อนจะสาย

          มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งอันดับต้น ๆ ที่เกิดกับหญิงไทย เลยอยากให้สาว ๆ ทำความเข้าใจอาการมะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ ไว้ จะได้ป้องกันได้ทัน
มะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งปากมดลูก ภาษาอังกฤษคือ CERVICAL CANCER เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งติดต่อได้จากการสัมผัส โดยส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ เปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติก็จะกลายเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

          แต่หากสาว ๆ ไม่คอยสังเกตความผิดปกติของตัวเอง จากระยะก่อนเป็นมะเร็ง อาการก็อาจลุกลามเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะแรก ระยะที่สอง จนตรวจพบอีกทีก็เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลึก ๆ แล้ว ทั้งที่จริงหากเราตรวจพบเซลล์มะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรก ๆ ได้ โอกาสในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกให้หายก็จะยิ่งมีหวังมากขึ้น

          ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำเสนอมะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ ให้สาว ๆ นำข้อมูลไปจับสังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้างกันค่ะ จำไว้ว่ายิ่งรู้ตัวเร็วเท่าไรยิ่งดีต่อตัวเรามากเท่านั้น


มะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ
   
          มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้หญิงอายุ 35-60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่านี้ได้เหมือนกัน ​ส่วนอาการมะเร็งปากมดลูกจะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น ซึ่งมะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ แบ่งออกได้ดังนี้

ระยะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะแรก

          เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในชั้นเยื่อบุผิวปากมดลูก ยังไม่ลุกลามเข้าไปในบริเวณปากมดลูก ซึ่งเราจะพบเซลล์มะเร็งในระยะนี้ได้ก็ด้วยวิธีตรวจแพปสเมียร์

- อาการมะเร็งปากมดลูกระยะแรก หรือระยะที่ 0

          มะเร็งปากมดลูกระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ เลย เพราะอย่างที่บอกว่าเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามเข้าไปในปากมดลูก และหากเราพบเซลล์ร้ายและตัดวงจรได้ทันท่วงที เซลล์มะเร็งก็จะไม่แพร่กระจาย และมีโอกาสหายจากโรคค่อนข้างสูง

- วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกระยะแรก
   
          เราสามารถรักษามะเร็งปากมดลูกระยะแรกได้ด้วยการผ่าตัดเล็ก ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 15 นาที และตรวจติดตามอาการ โดยการรักษาระยะนี้ได้ผลเกือบ 100% เนื่องจากเป็นเซลล์มะเร็งระยะแรกเริ่มที่ยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1

   
          นับจากมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 ลงไป เราจะเรียกว่ามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ซึ่งในระยะที่ 1 นี้ เซลล์มะเร็งจะลุกลามอยู่ภายในปากมดลูก ยังไม่กระจายออกจากปากมดลูกไปไหน

- อาการมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1
   
          เนื่องจากมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งในบริเวณปากมดลูก อาการที่ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 จะได้เจอ คืออาจมีอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ตกขาวมีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งอาการประจำเดือนมานานผิดปกติด้วย

- วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1
   
          แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้

           1. การผ่าตัด
   
          นับเป็นวิธีรักษามะเร็งปากมดลูกแบบถอนรากถอนโคน เพราะแพทย์จะทำการตัดมดลูกทั้งหมดออกไป กล่าวคือ ตัดเอามดลูก เนื้อเยื่อรอบ ๆ ตัวมดลูก รวมไปถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกไปด้วย ซึ่งการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนี้ โอกาสในการหายจากโรคมะเร็งปากมดลูกก็จะมีมากกว่า 80% เลยทีเดียว

           2. รังสีรักษา
   
          ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดมดลูก หรือกรณีที่ผู้ป่วยอายุมาก ๆ แพทย์จะรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีรังสีรักษา ซึ่งจะประกอบไปด้วยการฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อคลุมส่วนที่โรคอาจจะแพร่กระจายออกไป และการใส่แร่ซึ่งจะช่วยทำลายมะเร็งบริเวณปากมดลูก แต่ทั้งนี้แพทย์มักจะใช้เคมีบำบัดรักษาควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายได้เทียบเท่ากับการผ่าตัด

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2
   
          เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก และ/หรือลุกลามไปยังผนังช่องคลอดส่วนบน

- อาการมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2   
   
          อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 ก็จะคล้าย ๆ กับอาการมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 คือมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ตกขาวมีกลิ่น มีเลือดปน หรือมีอาการเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ และมีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์

- วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2
   
          มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 เป็นต้นไปจนถึงมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 จะใช้วิธีการรักษามาตรฐาน ซึ่งก็คือวิธีรังสีรักษา โดยการฉายแสงหรือใส่แร่ ร่วมกับการใช้เคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา และเพิ่มอัตราการหายจากโรคให้สูงขึ้น

          โดยหลังจากการรักษาแล้ว แพทย์จะนัดตรวจเพื่อติดตามผลเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี และนัดตรวจ 3-4 เดือนครั้งในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะนัด 6 เดือนครั้ง ซึ่งผู้ป่วยควรไปตามนัดทุกครั้งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ชัวร์ว่าการรักษาที่ผ่านมาสามารถคุมเซลล์มะเร็งได้ และไม่มีเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีก

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3  
   
          เป็นระยะที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังด้านข้างของเชิงกราน และ/หรือผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังท่อไต กดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ

- อาการมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3
   
          นอกจากอาการเลือดออกทางช่องคลอดแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 อาจมีอาการขาบวม ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดก้นกบ ปวดหลังรุนแรง เนื่องจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังด้านข้างของเชิงกรานและท่อไต

- วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3
   
          อย่างที่บอกว่าวิธีรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 เป็นต้นไป จะใช้วิธีเดียวกัน นั่นคือการฉายแสง ใส่แร่ ร่วมกับเคมีบำบัด พร้อมทั้งติดตามผลการรักษาเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี

ปวดหลัง


มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4
   
          ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามอย่างรุนแรง โดยจะพบเซลล์มะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก และต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน ซึ่งทั้งหมดเป็นเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาจากปากมดลูกทั้งสิ้น

- อาการมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4
   
          ระยะนี้จะเห็นอาการป่วยได้ชัดเจนเป็นอย่างมากค่ะ โดยผู้ป่วยจะมีอาการขาบวม ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบ ร้าวไปยังต้นขา ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ร่วมกับมีเลือดออกผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่น มีเลือดปน และเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์

- วิธีรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4
   
          แพทย์จะใช้วิธีรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด เพื่อทำลายและยับยั้งเซลล์มะเร็งในร่างกายให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ไหม
       
          มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่เราสามารถป้องกันได้ โดยวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

          - หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
          - หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในขณะอายุยังน้อย
          - ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
          - พยายามป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อ HPV (สัญญาณเตือน โรค HPV เช็กซิคุณมี 8 อาการนี้หรือเปล่า ?)
          - งดสูบบุหรี่
          - ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (15 เรื่องวัคซีน HPV ที่สาว ๆ ต้องรู้ ก่อนฉีดป้องกันมะเร็งปากมดลูก)
          - ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแพปสเมียร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะหญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว

          ขอย้ำกันอีกทีว่ายิ่งเราพบรอยโรคมะเร็งปากมดลูกได้เร็วเท่าไร โอกาสในการรักษาให้หายก็มากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นหากสาว ๆ มีความผิดปกติที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูกก็อย่าชะล่าใจค่ะ รีบไปตรวจภายในกันเลยดีกว่า หรือจะลองเช็กอาการมะเร็งปากมดลูกจาก 10 สัญญาณนี้ดูก่อนก็ได้

          - 10 อาการเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก เช็กก่อน รู้ก่อน !


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการมะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ รู้ให้กระจ่างก่อนจะสาย อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2562 เวลา 12:58:06 277,047 อ่าน
TOP
x close