สัญญาณเตือน โรค HPV เช็กซิคุณมี 8 อาการนี้หรือเปล่า ?

           โรค HPV ไวรัสตัวร้ายที่อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกมากมาย ลองมาเช็กดูว่าอาการของ HPV ที่ควรสังเกตได้มีอะไรบ้าง และคุณมีสัญญาณของโรค HPV ไหม   
 
          โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรต้องระวังไม่ใช่แค่โรคเอดส์ แต่โรค HPV ไวรัสตัวร้ายนี้ก็ไม่ควรไว้วางใจด้วยเช่นกัน เพราะไวรัส HPV เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ซ้ำร้ายอาการของโรค HPV ยังสังเกตได้ยาก เรียกได้ว่าหากติดเชื้อ HPV อาจไม่มีอาการแสดงออกของโรคเลยก็ว่าได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เราควรมาเช็กสัญญาณอันตรายของโรค HPV เพื่อให้รู้เท่าทันโรคดีกว่า เช็กซิ คุณมีสัญญาณของโรค HPV ตามนี้หรือเปล่า

HPV คืออะไร

          ไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักที่รู้จักกันดีคือ สายพันธุ์เบอร์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณมดลูก และสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งที่ปากมดลูกได้
 
          ซึ่งโดยส่วนมากการติดเชื้อ HPV มักจะไม่แสดงอาการและสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในร่างกายของแต่ละคน ทว่าบางเคสอาจมีการติดเชื้อ HPV นานหลายปี และอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด




 HPV อาการเป็นอย่างไร สังเกตได้จากตรงไหนกันนะ ?
   
          1. มีหูดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังติดเชื้อ HPV โดยหูดอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มเรียบแบน เป็นตุ่มสีชมพู หรือเป็นตุ่มสีเนื้อ (ซึ่งสังเกตยากมาก) แต่จะสังเกตได้จากความตะปุ่มตะป่ำของผิวเนื้อ ซึ่งบางคนอาจมีหูดขึ้นไม่มาก แต่บางเคสอาจมีหูดขึ้นหลาย ๆ ตุ่ม มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่เคส ไม่มีอาการเจ็บ   
   
          โดยหูดอาจขึ้นได้ทั้งบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก อัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรือขาอ่อน ทั้งนี้หูดอาจขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HPV ประมาณ 1-4 สัปดาห์ขึ้นไป

          2. มีอาการคัน แสบร้อนหรือตึงบริเวณที่ติดเชื้อ HPV

          3. มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์

          4. ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

          5. ปริมาณตกขาวมากกว่าปกติ

          6. ประจำเดือนมาผิดปกติ

          7. มีสารคัดหลั่งออกทางช่องคลอด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาการนี้อาจพบได้น้อยมาก

          8. ท่อทางเดินปัสสาวะอุดตัน อาจมีอาการปัสสาวะขัด (พบได้น้อยมาก)


 

 การวินิจฉัยโรค

          ผู้ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก จะถูกตรวจพบว่าผล Pap Smear (การตรวจสอบความผิดปกติของเซลล์ที่อาจก่อมะเร็งด้วยการขูดเซลล์บริเวณปากมดลูก) มีความผิดปกติ และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

          ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค แพทย์อาจตรวจหาภาวะอักเสบและติดเชื้อด้วยวิธี Colposcopy (การส่องกล้องเพื่อหาตำแหน่งที่ผิดปกติของปากมดลูกหรือช่องคลอด) และทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวมาตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติม

 HPV รักษาได้ด้วยวิธีไหน

          โดยปกติแล้ว กว่า 95% ของผู้ติดเชื้อ HPV อาจหายได้เองภายในระยะเวลา 2-3 ปีหลังจากติดเชื้อ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในตัวของผู้ติดเชื้อแต่ละรายด้วย และก็มีเคสที่เชื้อยังคงอยู่ในตัวผู้ป่วยเป็นเวลานานหลายปี จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก
   
          อย่างไรก็ตาม การรักษาหรือกำจัดเชื้อ HPV ยังทำได้เพียงผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ติดเชื้อออกไป ยังไม่สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อ HPV ในร่างกายได้อย่างหมดจด ดังนั้นผู้ติดเชื้อ HPV จึงมีโอกาสกลับมาติดเชื้อนี้ได้อีกครั้ง



 แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อ HPV

          - ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          - หลีกเลี่ยงความวิตกกังวลและความเครียด
          - ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
          - งดสูบบุหรี่
          - งดรับประทานยาคุมกำเนิด ในกรณีที่รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี
          - ตรวจ Pap Smear ทุก 6 เดือน และตรวจหาเชื้อ HPV ทุก 12 เดือน เพื่อติดตามภาวะการแพร่ของเชื้อ HPV

 การป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV

          - ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
         
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
         
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
         
- สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
         
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
         
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้

 เกร็ดน่ารู้ สำหรับผู้ติดเชื้อ HPV

          - ผู้ติดเชื้อ HPV กว่า 95% สามารถกำจัดเชื้อ HPV ได้เอง จากภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้น

          - ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่ไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก นั่นหมายความว่า หากติดเชื้อ HPV ก็อาจไม่เสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป
   
          - ส่วนใหญ่เมื่อวินิจฉัยโรคในขั้นตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด ผลปรากฏว่า มีผู้ตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกน้อยมาก แปลได้ว่า ผู้ติดเชื้อ HPV อาจไม่เสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกทุกคนนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HPV ไม่ได้หมายความว่าคุณหรือคู่นอนของคุณมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนคู่นอนเสมอไป เพราะมีการวิจัยที่ยืนยันได้ว่า แม้เพศหญิงหรือเพศชายที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อ HPV ได้ และแม้ HPV จะเป็นเชื้อที่ติดต่อกันได้ง่าย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเชื้อ HPV ที่ไม่ก่อโรค


ขอบคุณข้อมูลจาก
CHULA CANCER
Centers for Disease Control and Prevention
สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย
WebMD 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัญญาณเตือน โรค HPV เช็กซิคุณมี 8 อาการนี้หรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 29 มกราคม 2564 เวลา 16:21:25 654,043 อ่าน
TOP
x close