เจาะร่าง พ.ร.บ.บัตรทองฉบับใหม่ ทำไมถึงมีเสียงค้าน ?!

บัตรทอง

          ร่าง พ.ร.บ.บัตรทองฉบับใหม่ มีเนื้อหาอย่างไร เหตุใดภาคประชาชนจึงออกมาคัดค้านในการทำประชาพิจารณ์หลายต่อหลายครั้ง มาเจาะลึกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้

          กลายเป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกลางวงประชาพิจารณ์แก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. หรือกฎหมายบัตรทองอีกครั้ง เมื่อในวันที่ 18 มิถุนายน 2560 เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 200 คน เดินทางมาคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายบัตรทอง หน้าโรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ก่อนจะมีการยื้อแย่งป้ายคัดค้านให้ยุติการแก้กฎหมายบัตรทอง จนเกิดความชุลมุนขึ้น ภายหลังจึงควบคุมสถานการณ์ได้โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่หน้าห้องประชุมอย่างสงบ

          อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้คัดค้านการแก้กฎหมายบัตรทองกลางเวทีประชาพิจารณ์ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์มาแล้ว 3 ครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดขอนแก่น แต่ก็มีภาคประชาชนออกมาคัดค้านทุกครั้ง รวมทั้งมีการวอล์กเอาท์ จนเวทีประชาพิจารณ์ต้องล่มไปโดยปริยาย

          หลายคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวอาจสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเหตุใด ? จึงมีผู้ออกมาคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ หรือการออกกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 48.8 ล้านคนทั่วประเทศหรือไม่ อย่างไร...มาหาคำตอบไปด้วยกัน
ทำไมจึงต้องแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ?

          คณะกรรมการร่างกฎหมาย ให้เหตุผลว่า พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งใช้มานานถึง 15 ปีเต็ม มีข้อจำกัดหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการเงินกองทุน ทำให้เงินงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลได้ เพราะติดขัดในข้อกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ทำ

          ด้วยเหตุนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ให้แก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการงบของโรงพยาบาลมีความคล่องตัวขึ้น นำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ตรวจร่างกาย


14 ประเด็นคำถามเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ

          ทั้งนี้ในการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ รัฐบาลได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยตั้งเป็น 14 ประเด็นที่ให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนี้

          1. ควรจ่ายเงินให้กับหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค หรือองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไรหรือไม่ ?

          2. ระบุให้โรงพยาบาลมีสิทธิ์ในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขจากกองทุน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถใช้จ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นได้หรือไม่ ?

          3. ควรให้ สปสช. จ่ายเงินโดยตรงแก่บุคลากรที่ให้บริการ โดยไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ ?

          4. ควรให้เงินเหมาจ่ายรายหัวและเงินที่ได้จากผลงานบริการของหน่วยบริการ ให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้หรือไม่ ?

          5. ควรแก้นิยามคำว่า "บริการสาธารณสุข" จากเดิมที่หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคล แก้เป็น "บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล" ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ ?

          6. ควรแก้ไขให้การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขหรือไม่ และให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขในทุกสิทธิ์ได้หรือไม่ ?

          7. ควรแก้ไขให้สามารถให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการทุกสิทธิ์ได้หรือไม่ และควรยกเลิกการไล่เบี้ยหรือไม่ ?

          8. ควรใช้เงินกองทุน สปสช. เพื่อจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยหรือไม่ ?

          9. ควรมีการร่วมจ่ายค่าบริการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ ?

          10. ควรให้ สปสช. มีอำนาจในการร่วมจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นหรือไม่ ?

          11. ควรปรับโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นจากเดิม 30 คน เป็น 32 คน โดยเพิ่มผู้แทนโรงพยาบาล ผู้แทนวิชาชีพด้านสาธารณสุข และลดผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิให้มีจำนวนน้อยลงหรือไม่ ?

          12. ควรปรับโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากเดิม 35 คน เป็น 42 คน โดยเพิ่มรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนโรงพยาบาล และลดผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ?

          13. ควรแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนของหน่วยบริการภาครัฐส่วนที่ซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการออกจากเงินกองทุน สปสช. หรือไม่ ?

          14. กรณีของ สปสช. ควรกำหนดให้งบบริหารจัดการและเงินรายได้ของสำนักงานไม่ต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินหรือไม่ และควรกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเลขาธิการ ให้เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และไม่ได้แสวงหาผลกำไร รวมทั้งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ?

บั

3 ประเด็นถกเถียงในกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่

          ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเด็น แต่มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ๆ ที่ภาคประชาชนมองว่า หากแก้ไขแล้วจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังลดการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นคือ

          1. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด สปสช.

          ตามกฎหมายฉบับเดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการ (บอร์ด สปสช.) 30 คน ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงต่าง ๆ แพทยสภา องค์กรภาคประชาชน ท้องถิ่น เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ nhso.go.th)

          ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จะเพิ่มบอร์ด สปสช. เป็น 32 คน แต่จะไปเพิ่มโควตาให้ตัวแทนโรงพยาบาลต่าง ๆ พร้อมกับลดจำนวนสมาชิกตัวแทนภาคประชาชน คือ จากเดิมมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน จะลดเหลือ 3 คน ขณะเดียวกันก็เพิ่มผู้แทนของโรงพยาบาลมานั่งในบอร์ดอีก 7 คน

          นั่นจึงทำให้ภาคประชาชนมองว่า บอร์ดชุดนี้มี "ผู้ให้บริการ" มากกว่า "ผู้รับบริการ" เท่ากับเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนหรือไม่ พร้อมกับเกิดคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สปสช. จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ได้อย่างเป็นกลางหรือไม่ เพราะอาจมีการพิจารณาโดยเอนเอียงไปทางให้ประโยชน์ต่อสถานบริการก็เป็นได้

          2. แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

          ประเด็นนี้แม้จะทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเดือน แต่ที่ภาคประชาชนเป็นห่วงคืออาจกระทบกับการให้บริการและผู้ป่วย...

          กล่าวคือปัจจุบันในปี 2560 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาท ใช้การจ่ายงบเหมาจ่ายรายหัว อยู่ที่ 3,109.87 บาท/คน/ปี โดยไม่มีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลไหน ประชากรเท่าไร ก็จะได้งบเท่ากันทั้งหมด จึงทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเกิดภาวะ "ขาดทุน"

          แต่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะมีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งผู้ร่างกฎหมายมองว่า การทำเช่นนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล อีกทั้งยังสะท้อนงบประมาณของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างชัดเจน

          ทว่าภาคประชาชนกลับกังวลว่า การแยกเงินเดือนบุคลากรออกมา อาจส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ขอย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลในเมืองมากกว่า เพราะไม่มีการล็อกเงินเดือนเอาไว้ตามพื้นที่ นั่นจึงทำให้พื้นที่ชนบทจะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เกิดความเหลื่อมล้ำ และกลายเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องทั้งที่กฎหมายปัจจุบันป้องกันกรณีนี้ไว้อย่างดีแล้ว

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ได้ชี้แจงว่า การแยกเงินเดือนบุคลากรนั้น เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนและสับสนในการบริหารจัดการ ทำให้บริหารงานได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความชัดเจนว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลในแต่ละปีมีความเพียงพอหรือไม่
 
          3. มีแนวโน้มที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่าบริการ

          หนึ่งในประเด็นที่ภาคประชาชนเป็นกังวลมากก็คือ "การร่วมจ่ายค่าบริการ" ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีแนวคิดที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินค่ารักษาบัตรทองด้วย เพราะปัจจุบันมีการใช้งบประมาณจากฝั่งรัฐเพียงทางเดียว และมีแนวโน้มใช้งบประมาณสูงขึ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถรับผิดชอบได้ไหว แต่ประเด็นนี้ถูกแพทย์ส่วนหนึ่งและภาคประชาชนคัดค้าน เพราะมองว่าจะยิ่งทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการรักษา ประเด็นดังกล่าวจึงเงียบไป

          กระทั่งในการทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งคำถามถึงกรณีที่ว่า ประชาชนควรร่วมจ่ายค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ ? เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น

          ประเด็นนี้ทำให้ภาคประชาชนหวั่นเกรงว่า ในกฎหมายฉบับเดิมซึ่งมีการระบุเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการอยู่แล้ว แม้ในทางปฏิบัติจะไม่มีการบังคับให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่หากกฎหมายฉบับใหม่ยังไม่ยกเลิกประเด็นนี้ ประชาชนก็อาจมีโอกาสร่วมจ่ายในอนาคต จึงเรียกร้องให้ยกเลิกเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการในกฎหมายฉบับนี้ด้วย
 
          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่างกฎหมายบัตรทอง ก็ได้ยืนยันว่า จะไม่มีการให้ประชาชนมาร่วมจ่ายค่าบริการบัตรทองอย่างแน่นอน

5 ข้อเรียกร้องจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

          ด้วยความกังวลในประเด็นต่าง ๆ จึงทำให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน เนื่องจากมองว่ากฎหมายฉบับใหม่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มร่วมจ่าย ทั้งยังมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่สมดุล เพราะประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

          ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายเจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะรับฟังความคิดเห็นรายมาตรา จึงเรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพราะจากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เช่น

          1. การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการแก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

          2. ยกเลิกการร่วมจ่าย เพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน คนชั้นกลางก็มีสิทธิ์ล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

          3. ขอให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช. จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ 50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปีละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา

          4. การแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล แต่ต้องยอมรับว่า จะเกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล

          5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกัน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนศูนย์มาตรา 50 (5) ทั้งในหน่วยบริการและของประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รัฐบาล ยัน ไม่คิดยกเลิก "บัตรทอง" ขอประชาชนรู้เท่าทัน

          จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดได้ทำให้ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ล้มบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะเป็นสิ่งที่ดี มีแต่จะปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น จึงอยากให้ประชาชนแยกแยะว่าคนที่ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลยกเลิกบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคนี้เขาต้องการอะไร ประชาชนควรรู้เท่าทัน

          ส่วนการออกกฎหมายฉบับนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า การออกกฎหมายอะไรต้องเปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน หรือรับฟังข้อมูลจากหน่วยราชการ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไข ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไร ทุกฝ่ายต้องแสดงความคิดเห็นในมุมของตัวเอง และทำการเก็บข้อมูลทุกอย่าง

          ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่างฯ ยืนยันว่าจะนำทุกความเห็นของภาคประชาชนและการออกแถลงการณ์ต่าง ๆ เข้ามารวมเป็นความคิดเห็นของการประชาพิจารณ์ด้วย

          ทั้งนี้หากใครสนใจอ่านเนื้อหาการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .. ทั้งหมด สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ebook.dreamnolimit.com

บัตรทอง

          หรือดาวน์โหลดเนื้อหาเปรียบเทียบระหว่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กับ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ได้ที่  lawamendment.go.th เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
กระทรวงสาธารณสุข
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 
lawamendment.go.th
ไทยโพสต์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะร่าง พ.ร.บ.บัตรทองฉบับใหม่ ทำไมถึงมีเสียงค้าน ?! อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2560 เวลา 09:34:33 41,866 อ่าน
TOP
x close