x close

ทำความรู้จักอาการใจหายที่หลายคนเป็นอยู่ หลังรู้ข่าวปิดเข้ากราบพระบรมศพ

อาการใจหาย

          มาทำความรู้จักภาวะอาการใจหาย ที่บางคนเกิดอาการใจวูบวาบ ๆ แปลก ๆ เมื่อได้ทราบข่าวจากทางการถึงวันปิดให้เข้ากราบพระบรมศพ เช็กกันสักนิด...ใช่อาการที่เราเป็นหรือเปล่า

          หลังจากวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่คนไทยทุกคนต้องหลั่งน้ำตาเพราะการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลให้กระแสความเศร้าและความอาลัยยังคงลอยวนอยู่รอบ ๆ กายเราทุกคน แต่ถึงกระนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาเกือบปี ความโศกเศร้าที่หนักหนาในครั้งนั้นก็บรรเทาเบาบางลงไปตามกาลเวลา ทว่ายิ่งใกล้วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มากขึ้นเท่าไร ความโศกเศร้าและอาการใจหายก็จู่โจมจิตใจชาวไทยกันอีกครั้ง ​โดยเฉพาะเมื่อทางการประกาศวันปิดให้เข้ากราบพระบรมศพในวันที่ 30 กันยายน 2560 เป็นวันสุดท้าย หลายคนมีอาการใจหาย จนส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกาย ซึ่งวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักภาวะใจหาย พร้อมกับเช็กอาการ และหาทางบรรเทาความรู้สึกนี้กันค่ะ

อาการใจหาย คืออะไร
   
          นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า อาการใจหายเป็นภาวะความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังความสูญเสีย ซึ่งในทางสุขภาพจิตจะเรียกภาวะใจหายว่า ประสบการณ์ที่เจ็บปวดซ้ำ (Re traumatic experience) และไม่นับว่าเป็นโรคจิตเวชแต่อย่างใด

ถวายความอาลัยในหลวง
ภาพจาก Warinezz / Shutterstock.com
อาการใจหาย เช็กได้จากอาการอะไรบ้าง
   
          เชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์ใจหายกันบ้าง รู้สึกวูบ ๆ วาบ ๆ ที่อกข้างซ้ายแปลก ๆ ทว่าสำหรับภาวะอาการใจหายที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสีย ทางจิตแพทย์ได้ระบุอาการบ่งชี้ไว้ดังต่อไปนี้

          - รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง

          - หัวใจเต้นผิดจังหวะ (ในบางคน)

          - รู้สึกวูบวาบในใจ ตกใจ

          - รู้สึกแน่นที่หน้าอก

          - มีอาการจุกที่อกหรือจุกที่คอ คล้ายมีอะไรมากดทับ

          ทั้งนี้อาการใจหายดังกล่าวจะไม่เป็นเรื้อรัง แต่จะหายได้เองหรือดีขึ้นภายใน 5-7 วัน แต่ถ้าเกิน 7 วันอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไปค่ะ

ป้องกันตะคริว
ภาพจาก  SIHASAKPRACHUM / Shutterstock.com

อาการใจหาย ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น
   
          ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไปค่ะ แต่มักจะเกิดกับกลุ่มเสี่ยงเป็นส่วนใหญ่ โดยกลุ่มเสี่ยงที่ว่าก็มีดังนี้

          - ผู้ที่มีความเครียดอยู่ก่อนแล้ว

          - ผู้ที่สภาวะจิตใจเปราะบาง อ่อนแอกว่าปกติอันเกิดจากปัจจัยแวดล้อมในชีวิต (เช่น อกหัก สูญเสียคนในครอบครัว หรือผิดหวังจากบางเรื่อง เป็นต้น)

          - ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า

          - ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

ป้องกันตะคริว
ภาพจาก SIHASAKPRACHUM / Shutterstock.com

วิธีดูแลสภาพจิตใจ บรรเทาอาการใจหาย
   
          เนื่องจากภาวะอาการใจหายหลังจากเกิดความสูญเสียไม่นับว่าเป็นโรคทางจิตเวช การรักษาและบรรเทาอาการเลยไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่ผู้มีอาการใจหายควรดูแลสภาพจิตใจของตัวเองตามนี้

          1. ตั้งสติ เตรียมความพร้อมทั้งกายใจ

          2. ตั้งใจทำกิจกรรมสาธารณกุศล

          3. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

          4. ติดตามข่าวสารพระราชกรณียกิจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความภาคภูมิใจ

          5. พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ

          6. ออกกำลังกาย หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด

          7. ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว อยู่กับคนใกล้ตัว เพื่อน และพยายามอย่าอยู่ตัวคนเดียว

          8. ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พยายามอย่าอยู่เฉย ให้หากิจกรรมที่ชอบทำไปเรื่อย ๆ

          9. หากมีโรคประจำตัว ให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง อย่าขาดยา

          ใครมีอาการใจหายก็ลองดูแลตัวเองตามนี้ดูนะคะ และนอกจากวิธีดูแลสภาพจิตใจข้างต้นแล้ว เรายังมีอีก 7 วิธีดูแลสภาพจิตใจหลังเจอเรื่องโศกเศร้ามาให้บรรเทาอาการอีกทางด้วย

          - 7 วิธีดูแลสภาพจิตใจ หลังเผชิญความโศกเศร้า 

          อย่างไรก็ตาม หากมีอาการใจหายที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกายเกิน 7 วัน หรือมีภาวะเครียด นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีความทุกข์ทรมานจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ กรณีนี้ถือว่าผิดปกติและควรรีบไปพบจิตแพทย์ หรือโทร. สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จักอาการใจหายที่หลายคนเป็นอยู่ หลังรู้ข่าวปิดเข้ากราบพระบรมศพ อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2560 เวลา 10:15:22 26,046 อ่าน
TOP