ก่อนที่เหตุการณ์เศร้าโศกเสียใจจะกัดกร่อนสุขภาพจิตเราไปทีละน้อย ๆ อยากแนะนำให้ทุกคนหันกลับมาดูแลสภาพจิตใจของตัวเองสักหน่อย ตามวิธีฟื้นฟูจิตใจที่ทำได้ด้วยตัวเอง
ในหนึ่งชีวิตที่เกิดมาเราต้องพบเจอกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจ แม้ในช่วงที่สภาพแวดล้อมรอบกายยังคงอึมครึมไปด้วยมวลแห่งความเศร้า แต่เราก็ยังสามารถเยียวยาความรู้สึกหนักหน่วงในใจให้สุขภาพจิตดีขึ้นมาอีกหน่อย ตามวิธีดังต่อไปนี้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์โศกเศร้าที่เผชิญอยู่เป็นความจริง เกิดขึ้นจริง ๆ และไม่ควรปิดกั้นการแสดงออกถึงความรู้สึกเศร้าโศก ทว่าก็ควรแสดงออกอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งควรพูดคุยกับคนรอบข้าง เพื่อสร้างกำลังใจและแรงจูงใจซึ่งกันและกัน ประคับประคองความรู้สึกให้ผ่านพ้นความเศร้าไปให้ได้
2. อยู่อย่างมีสติ
จงดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความมีสติ หมั่นสังเกตปฏิกิริยาทางจิตใจและพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบข้างให้ดี หากมีอาการคิดวนเวียน วิตกกังวล ไม่อยากพบเจอใคร หมกมุ่นกับความคิดของตัวเอง นอนไม่หลับ ฝันร้าย หรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น เริ่มพูดพึมพำกับตัวเอง เห็นภาพหลอน หูแว่ว หรือมีความคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรรีบมาพบจิตแพทย์
3. ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง
การได้ระบายความเศร้าโศกเสียใจหรือความรู้สึกหม่น ๆ ในใจให้กับคนรอบข้างและคนใกล้ชิดบ้างจะช่วยให้ความรู้สึกเศร้าผ่อนคลายลงบ้างไม่มากก็น้อย นอกจากนี้การได้ปรับทุกข์ซึ่งกันและกันยังจะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกันด้วยความเข้าอกเข้าใจอีกด้วย
4. พาตัวเองออกจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้า
ถ้าความรู้สึกซึมเศร้าถาโถมจนเกินจะรับได้ไหวอีกต่อไป ควรกันตัวเองออกจากปัจจัยที่ทำให้เศร้า เช่น พยายามไม่รับข้อมูลข่าวสารใด ๆ ไม่ดูรูปภาพหรือคลิปวิดีโอที่ดูกี่ครั้งก็ร้องไห้ และควรพักใจอยู่นิ่ง ๆ กับตัวเองสักพัก
5. พยายามคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ ที่มีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย
หากรู้สึกคิดถึงคนที่เราเพิ่งสูญเสียไป ให้เปลี่ยนความคิดถึงไปในทิศทางบวก เช่น คิดถึงช่วงเวลาที่ดี ๆ คิดถึงภาพความสุขและรอยยิ้มของคนที่จากไป ให้เป็นความทรงจำที่ดี ๆ และพยายามดำเนินชีวิตของตัวเองอย่างปกติ
6. หมั่นฝึกสมาธิ
ในกรณีที่รู้สึกแย่ในขั้นที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ให้หมั่นนั่งสมาธิ ฝึกจิตใจให้สงบ และเรียกคืนสติให้กับตัวเอง
7. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับคนที่มีอาการเสียใจหนักมากจนเป็นลมล้มพับ หรือรู้สึกเหมือนจะล้ม ให้หายใจลึก ๆ ช้า ๆ พยายามอย่าตื่นตระหนก พาตัวเองออกมาอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำเย็น และหาผ้าเย็นมาเช็ดเนื้อเช็ดตัว พร้อมทั้งดมยาดมด้วย ซึ่งการปฐมพยาบาลดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้ดูแลผู้อื่นที่มีอาการเศร้าโศกเสียใจจนคุมสติและร่างกายไม่อยู่ได้ด้วยนะคะ
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการหายใจไม่ออก รู้สึกอึดอัดแน่นหน้าอกไปหมด หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหวิว ๆ เหมือนจะเป็นลม มือ-เท้าชา เย็น เหงื่อออกชุ่ม ร้องไห้ฟูมฟาย กรีดร้อง เหม่อลอย หรือรู้สึกแปลก ๆ เหมือนไม่ใช่ตัวของตัวเองให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยด่วน หรือนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
ภาพจาก pexels.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก Clinical Psychology Siriraj จิตวิทยา คลินิกศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย