8 วิธีคลายเครียด จิตตก เมื่อเสพข่าวสะเทือนใจ ก่อนป่วย Headline Stress Disorder

          วิธีคลายเครียด ฮีลใจ เมื่อเสพข่าวสะเทือนอารมณ์ ป้องกันการรับข้อมูลข่าวสารด้านลบมากเกินไปจนอาจป่วยทางใจด้วยภาวะ Headline Stress Disorder
Headline Stress Disorder

          ในยุคที่ข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้เราได้รับข่าวสารมากมายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข่าวดี ข่าวร้าย ข่าวที่สร้างความหดหู่กับจิตใจ ซึ่งการรับข้อมูลด้านลบมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะ Headline Stress Disorder เครียดจากการเสพข่าว ที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต แล้วเราจะรับมือกับภาวะนี้อย่างไรดี มีหนทางไหนช่วยฮีลใจ หรือวิธีแก้เครียดอะไรที่ควรทำบ้าง ?

Headline Stress Disorder 
คืออะไร

          Headline Stress Disorder (HSD) หรือภาวะเสพข่าวจนเครียด เกิดจากการรับข่าวสารมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้รู้สึกวิตกกังวล มักพบภาวะนี้ในคนที่ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์เป็นเวลานาน จึงเห็นข้อมูลมากมายผ่านตาทั้งวัน รวมถึงคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายจากการเสพข่าวด้านลบ และคนที่ป่วยโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้รับรู้ข่าวร้ายก็ยิ่งกระตุ้นอารมณ์ให้หดหู่ได้มากขึ้น

Headline Stress Disorder 
อาการเป็นอย่างไร

8 วิธีคลายเครียด จิตตก เมื่อเสพข่าวสะเทือนใจ ก่อนป่วย Headline Stress Disorder

 อาการที่พบได้บ่อยในคนที่เสพข่าวสารด้านลบมากเกินไป ได้แก่ 

  • เหนื่อยล้า
  • เบื่ออาหาร
  • อารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกโกรธ โมโห เศร้า หรือวิตกกังวลได้ง่าย 
  • นอนไม่หลับ
  • ปวดหัว เกิดความเครียดเรื้อรัง 
  • ไม่มีสมาธิ
  • ใจสั่น แน่นหน้าอก
  • รู้สึกหมดหวัง หดหู่  สิ้นหวัง รวมถึงอาการซึมเศร้า
          อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้หากปล่อยไว้นานจะยิ่งกระทบต่อสุขภาพใจและสุขภาพกาย เช่น นำไปสู่การเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า จึงควรหาวิธีผ่อนคลายความเครียดจากการเสพข่าว

วิธีรับมือจากการเสพข่าวหดหู่

8 วิธีคลายเครียด จิตตก เมื่อเสพข่าวสะเทือนใจ ก่อนป่วย Headline Stress Disorder

1. กำหนดเวลาในการเสพข่าว

          ควรกำหนดเวลาในการรับชมข่าวสารในแต่ละวันให้พอดี คือไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อไม่ให้ข่าวสารเข้ามาครอบงำชีวิตประจำวันมากเกินไป 

2. เลือกติดตามแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

          ข่าวสารในยุคนี้มาจากทั่วทุกสารทิศ และบางช่องทางก็ใช้คำพาดหัวที่รุนแรง เร้าอารมณ์ให้คนสนใจ จึงควรเลือกติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและเป็นกลาง เพื่อลดความสับสนและป้องกันการรับรู้ข้อมูลผิด ๆ อีกทั้งยังช่วยให้หลีกเลี่ยงการพบเห็นภาพรุนแรงหรือข้อความที่ทำให้สะเทือนใจ

3. เสพข่าวที่ดีต่อใจบ้าง

          ข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีทั้งข่าวดี ข่าวร้าย เราสามารถเลือกเสพข่าวที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอม มีความสุขต่อใจบ้าง เพื่อช่วยสร้างพลังบวก สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายความกังวล

4. พักจากโซเชียลมีเดีย

          หากรู้สึกว่าข่าวสารในโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความเครียด ควรพักจากการใช้งานสักระยะหนึ่ง เพราะแม้ว่าเราไม่ได้เข้าเว็บไซต์หรือเพจที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นโดยตรง แต่ก็ยังคงพบเห็นข่าวได้ตามฟีดเฟซบุ๊กหรือโพสต์ที่ถูกแชร์มาจากเพื่อน ๆ

5. หาวิธีคลายเครียด

           การรับมือกับความเครียดสามารถทำได้โดยหายใจเข้า-ออกลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย หรือนั่งทำสมาธิสักครู่ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบ ไม่คิดฟุ้งซ่าน

6. เปลี่ยนโฟกัสไปทำกิจกรรมอื่น

          ไม่เสพข่าวที่ทำให้เครียดทั้งวัน แต่ควรหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ออกไปช้อปปิ้ง ดูรายการหรือคลิปที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้จิตใจได้พักผ่อน ไม่โฟกัสอยู่กับข่าวมากเกินไป

7. พูดคุยกับคนอื่น ๆ

          การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งยิ่งทำให้จมกับความคิดลบ ๆ ได้ง่าย แต่หากได้พูดคุยกับคนอื่นในเรื่องอื่น ๆ บ้างก็เหมือนเป็นการเปิดประตูให้ความรู้สึกและความคิดของเราได้ออกมา หรือได้รับฟังมุมมองใหม่ ๆ ได้คำปลอบโยนจากคนรอบข้าง ซึ่งเป็นวิธีจัดการกับความเครียดที่ได้ผลดี 

8. ปรึกษานักจิตวิทยา

          สำหรับคนที่มีอารมณ์ร่วมกับข่าวมากจนตัวเองรู้สึกดาวน์ หรือมีอาการซึมเศร้า จิตตก ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อขอคำแนะนำในการปรับตัว โดยอาจปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323
          เมื่อข่าวสารไหลพรั่งพรูมาเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน สิ่งที่จะป้องกันตัวเองได้ก็คือการมีสติเลือกเสพข่าว และมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองว่ามีลิมิตรับมือกับความเครียดได้ถึงระดับไหน เพื่อดึงตัวออกห่างได้ทันเวลา ก่อนสุขภาพกายและใจจะพังลงไปเรื่อย ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องกับความเครียด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 วิธีคลายเครียด จิตตก เมื่อเสพข่าวสะเทือนใจ ก่อนป่วย Headline Stress Disorder อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2567 เวลา 18:15:06 7,191 อ่าน
TOP
x close