แผ่นแปะคุมกำเนิด ทางเลือกคุมกำเนิดที่สาว ๆ ควรรู้ไว้

            แผ่นแปะคุมกำเนิด อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับสาว ๆ ที่ต้องการความสะดวกสบายในการคุมกำเนิด แก้ปัญหาลืมกินยาในสาวขี้ลืม 

แผ่นแปะคุมกำเนิด  
          แม้ยาคุมกำเนิดจะเป็นวิธีที่นิยมใช้กัน แต่หลายคนก็มีนิสัยขี้ลืม ทำให้การคุมกำเนิดอาจลดประสิทธิภาพลงไปเพราะลืมกินยาคุมหรือกินยาคุมไม่ตรงเวลาไปบ้าง ดังนั้นวันนี้เราจะพามารู้จักการคุมกำเนิดชนิดอื่นที่ไม่ใช่ชนิดยากิน ซึ่งนั่นก็คือแผ่นแปะคุมกำเนิด แต่หลายคนก็สงสัยว่าแค่ใช้แผ่นแปะก็ช่วยคุมกำเนิดได้จริงเหรอ งั้นเอาเป็นว่าเรามารู้จักแผ่นแปะคุมกำเนิดให้มากขึ้นกันดีกว่า

แผ่นแปะคุมกำเนิด คืออะไร


          แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นแผ่นยาบาง ๆ ลักษณะคล้ายแผ่นยาปิดผิวหนังทั่วไป มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผิวเรียบ มีสีเบจหรือสีเนื้อ โดยใน 1 กล่อง จะบรรจุแผ่นยา 3 แผ่น   
   
          ทั้งนี้ แผ่นแปะคุมกำเนิดมีวางจำหน่ายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แต่ในบ้านเราก็ถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ยังคงใหม่อยู่พอสมควร
 

แผ่นแปะคุมกำเนิด มีกลไกการคุมกำเนิดอย่างไร


          แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนรวม คล้ายกับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด แต่ใช้แปะผิวหนังแทนการกิน โดยในแผ่นแปะคุมกำเนิดจะประกอบไปด้วยฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิดด้วยกัน คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ซึ่งตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ไม่รบกวนระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดคงที่ เมือกที่บริเวณปากมดลูกก็จะเหนียวข้นขึ้น ทำให้อสุจิผ่านเข้ามาผสมกับไข่ได้ยากขึ้น และมีผลทำให้เยื่อบุมดลูกบางลง ไม่เหมาะต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการตกไข่ในเพศหญิงด้วย

ประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิด เริดขนาดไหน


          วิธีคุมกำเนิดด้วยแผ่นแปะคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเม็ดยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม โดยมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอยู่ที่ร้อยละ 99.12 ซึ่งดูเหมือนว่าแผ่นแปะคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพมากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไปเล็กน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการลืมกินยาคุม รวมไปถึงความสามารถในการดูดซึมยาของลำไส้

แผ่นแปะคุมกำเนิด ใช้อย่างไร


          แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 กล่อง จะมีแผ่นยาอยู่ 3 แผ่นด้วยกัน โดยให้แปะผิวหนัง 1 แผ่น/สัปดาห์ ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ (แปะครบ 1 สัปดาห์ให้ลอกออกแล้วแปะแผ่นใหม่ วนไปอย่างนี้ 3 สัปดาห์) จากนั้นเว้น 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ประจำเดือนมา เหมือนกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ดนั่นเอง

แผ่นแปะคุมกำเนิด
 
          ทั้งนี้ มีวิธีใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดที่ชัด ๆ ดังนี้

          - ให้เริ่มแปะแผ่นแรกไม่เกินวันที่ 1-5 ของการมีประจำเดือน โดยนับวันที่มีเลือดประจำเดือนออกวันแรกเป็นวันที่ 1

          - ควรแปะแผ่นยาบนผิวหนังที่แห้งสนิท โดยหลีกเลี่ยงจุดที่มีแผล มีการอักเสบ หรือเป็นโรคผิวหนัง และไม่ควรใช้เครื่องสำอาง โลชั่น หรือครีมทาผิวหนังบริเวณที่จะแปะแผ่นยาคุมกำเนิด

          - สามารถแปะแผ่นยาได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยนิยมแปะกันที่หัวไหล่ ด้านหน้าหรือด้านหลังสะบัก ท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวา และแก้มก้นส่วนบน แต่ห้ามแปะบริเวณเต้านมเด็ดขาด

          - เมื่อแปะแผ่นยาบนผิวหนังแล้ว ให้รีดแผ่นยาเพื่อให้ทุกส่วนของแผ่นยาแนบสนิทไปกับผิวหนัง และใช้มือกดแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้ให้แน่นประมาณ 10 วินาที
   
          - เมื่อแปะแผ่นยาคุมกำเนิดครบ 1 สัปดาห์ ให้ลอกแผ่นเดิมออก แล้วแปะแผ่นใหม่เข้าไปแทน โดยจะแปะแผ่นยาคุมกำเนิดที่จุดเดิม หรือเปลี่ยนไปแปะตรงส่วนอื่นของร่างกายก็ได้

          - หลังจากแปะแผ่นยาครบ 3 สัปดาห์ ให้เว้น 1 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงนี้จะมีเลือดประจำเดือนออก ดังนั้นหากแปะแผ่นยาคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีรอบเดือนมาทุก ๆ 28 วัน

          - หลังจากเว้นแปะแผ่นยาคุมกำเนิดครบ 7 วัน ให้เริ่มแปะยารอบใหม่ทันทีในวันที่ 8 ของรอบเดือน (นับวันที่ 1 เป็นวันแรกที่มีเลือดประจำเดือนมา) โดยไม่ต้องสนใจว่าประจำเดือนจะหมดหรือยังไม่หมด

          - ควรแปะแผ่นยาคุมกำเนิดให้เต็มแผ่น ห้ามตัดแบ่งชิ้น หรือตัดแผ่นยาเป็นรูปต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างกายได้รับตัวยาอย่างเต็มโดสนะคะ

          - ระหว่างแปะแผ่นคุมกำเนิดแล้วไม่ควรแกะออกแล้วแปะใหม่ เพราะอาจทำให้แผ่นแปะไม่แน่นพอ สามารถหลุดลอกได้ง่าย

          ทั้งนี้ ไม่ต้องกลัวว่าหากเลือกคุมกำเนิดด้วยยาคุมชนิดแผ่นแปะแล้วจะเผลอทำแผ่นยาหลุดลอกไหม เพราะต้องบอกว่าแผ่นแปะติดแน่นมาก สามารถอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรืออบซาวน่าได้ตามปกติ ไม่ต้องกลัวแผ่นแปะจะหลุดโดยที่เราไม่รู้ตัว
   
          นอกจากนี้การแปะแผ่นยาจะมีผลในการคุมกำเนิดทันทีที่แปะ (หากแปะใน 1-5 วันแรกของการมีประจำเดือน) ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย

แผ่นแปะคุมกำเนิด

ลืมเปลี่ยนแผ่นคุมกำเนิด จะทำยังไงดี ?

   
          ในกรณีที่ลืมเปลี่ยนแผ่นคุมกำเนิด สามารถทำได้ดังคำแนะนำต่อไปนี้

          1. หากลืมเปลี่ยนแผ่นยาในสัปดาห์แรกของรอบเดือน ให้แปะยาแผ่นใหม่ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยวันเปลี่ยนแผ่นยาแผ่นใหม่ก็ต้องเลื่อนมาเป็นวันนี้แทน และควรต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น สวมถุงยางอนามัยใน 7 วันแรก ร่วมด้วย

          2.  หากลืมแปะยาคุมกำเนิดในช่วงแผ่นยาที่ 2 และ 3 (สัปดาห์ที่ 2 และ 3) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง ให้เปลี่ยนแผ่นยาแผ่นใหม่ทันทีที่นึกขึ้นได้ และเปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันครบกำหนดเดิม อย่างสมมติวันครบกำหนดเปลี่ยนแผ่นแปะคือวันอาทิตย์ แต่ลืมเปลี่ยนแผ่นแล้วมานึกขึ้นได้ในวันจันทร์ ก็ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันจันทร์ และเปลี่ยนแผ่นใหม่อีกทีในวันอาทิตย์ถัดไป กรณีนี้ยังคงมีผลในการคุมกำเนิดเช่นเดิม ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย

          3. หากลืมเปลี่ยนแผ่นยามากกว่า 48 ชั่วโมง ให้แปะแผ่นใหม่ทันทีที่นึกขึ้นได้ และเริ่มต้นนับรอบวันแปะแผ่นยาใหม่ทั้งหมด (ไม่ต้องสนใจวันที่แปะมาก่อนหน้านี้) และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยใน 7 วันแรกของการแปะยา

          4. ถ้าแผ่นแปะหลุดหรือเผยอออก ให้ลองกดดูก่อน หากแผ่นยาติดเหมือนเดิมก็แปะใช้ต่อได้ ทว่าหากกาวหมด แผ่นแปะไม่ติดกับผิวหนังแล้วให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยแปะเท่าเวลาที่เหลือ เช่น แผ่นเดิมยังเหลืออีก 3 วันแล้วหลุด ก็แปะแผ่นใหม่ต่ออีก 3 วันแล้วก็เปลี่ยน

          5. กรณีแปะแผ่นยาคุมกำเนิดไม่ครบ 3 แผ่น เช่น แปะไปได้ 2 แผ่นแล้วไม่ได้แปะต่อ ถ้าจะกลับมาใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดใหม่ ให้รอวันแรกที่ประจำเดือนมาแล้วเริ่มแปะแผ่นแรก หรือจะแปะกลางคันก็ได้ แต่ต้องใช้การคุมกำเนิดชนิดอื่นที่ไม่ใช่ฮอร์โมนร่วมด้วยใน 7 วันแรกของการแปะแผ่นยา

ยาคุมแบบแปะ ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง


          การคุมกำเนิดวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายคล้ายการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ ดังนี้

          1. เจ็บตึงหน้าอก ในช่วง 3-4 วันแรกของการแปะแผ่นยาคุมกำเนิด
          2. คลื่นไส้ อาเจียน
          3. วิงเวียน ปวดศีรษะ
          4. คัน มีอาการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่แปะแผ่นยา
          5. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตัวบวมขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดกับแต่ละบุคคลเท่านั้น
          6. อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ในรอบเดือนแรกของการแปะแผ่นยาคุมกำเนิด
          7. ความต้องการทางเพศอาจลดลง


          อย่างไรก็ดี อาการข้างเคียงของแผ่นแปะคุมกำเนิดจะไม่รุนแรง และพบได้ไม่บ่อย ที่สำคัญอาการข้างเคียงเหล่านี้มักจะหายไปในสัปดาห์ที่ 2-3 ของการแปะยาด้วยค่ะ

ยาคุมแบบแปะ ทำให้อ้วนไหม


          การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็เป็นผลข้างเคียงหนึ่งของการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด แต่อย่างที่ระบุไว้นะคะว่า อาการข้างเคียงนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย บางคนอาจใช้ยาคุมแบบแปะแล้วอ้วน แต่บางคนก็อาจไม่อ้วนขึ้นก็ได้

ราคาแผ่นแปะคุมกำเนิด แพงกว่ายาคุมกำเนิดไหม

   
          แผ่นแปะคุมกำเนิด ราคาจะตกอยู่ที่ราว ๆ กล่องละ 470-600 บาท โดย 1 กล่อง ใช้ได้ 1 เดือน ซึ่งก็นับว่ามีราคาเริ่มต้นที่แพงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด ที่มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่แผงละไม่ถึงร้อยก็มี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้ด้วย เพราะยาเม็ดคุมกำเนิดก็มีหลายราคาให้เลือกซื้อด้วยเช่นกัน

ถ้าอยากเปลี่ยนจากยาเม็ดคุมกำเนิดมาใช้ยาคุมแบบแปะ ต้องทำยังไง

   
          ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดจากการกินยาคุมมาเป็นแผ่นแปะคุมกำเนิด ให้กินยาคุมจนหมดแผงก่อน จากนั้นจึงเริ่มแปะแผ่นยาคุมกำเนิดในวันแรกที่มีประจำเดือนมา หรือใครที่ต้องการจะเปลี่ยนจากแผ่นแปะไปกินยาคุม ก็ต้องแปะแผ่นยาให้ครบทั้ง 3 แผ่นก่อน จากนั้นค่อยเริ่มกินยาคุมเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือน

หากอยากหยุดคุมกำเนิดควรต้องทำอย่างไร

   
          หากพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว หรือมีเหตุที่ต้องหยุดใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ก็ให้แปะแผ่นยาครบ 3 แผ่นก่อน แล้วไม่ต้องแปะแผ่นยารอบใหม่อีก การหยุดใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดแบบนี้ ร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะตกไข่ตามธรรมชาติภายใน 1-3 เดือนของการหยุดยา ดังนั้นหลังหยุดคุมกำเนิดก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ตามปกติ

แผ่นแปะคุมกำเนิด

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด


          1. ควรระวังในผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัมขึ้นไป เพราะมีการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากมีโอกาสสูงที่จะตั้งครรภ์ แม้จะใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดอยู่ก็ตาม

          2. ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ไม่ควรใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

          3. ห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว อันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคตับ เพราะอาจกระตุ้นโรคได้

          4. ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะเลือดจับตัวเป็นก้อนง่าย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้

          5. ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เพราะตัวยาอาจกระตุ้นโรคได้

          6. ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้

          7. ห้ามใช้ในสตรีที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ข้อดีของแผ่นแปะคุมกำเนิด


          - หากใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงพอสมควร
          - ช่วยแก้ปัญหาให้สาวขี้ลืม ที่มักจะลืมกินยาคุมบ่อย ๆ
          - ผลข้างเคียงของแผ่นแปะคุมกำเนิดมีน้อยกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด

          แม้แผ่นแปะคุมกำเนิดจะป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมได้ ทว่าก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้นะคะ และหากต้องการใช้ยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะชนิดแผ่นแปะหรือด้วยวิธีไหน ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุด



บทความที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิด


          - วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด ที่ถูกต้อง กินตอนไหน ภายในกี่ชั่วโมง ถึงช่วยคุมกำเนิดได้ดีที่สุด
          - มารู้จัก ยาฝังคุมกำเนิด วิธีคุมกำเนิดที่วัยรุ่นฝังได้ฟรี หยุดปัญหาท้องไม่พร้อม !
          - 15 วิธีคุมกำเนิด และข้อดี-ข้อเสีย ไม่พร้อมป่องก็ป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้
          - หลังกินยาคุมฉุกเฉินจะรู้ได้ไงว่าไม่ท้อง กี่วันประจำเดือนจะมา หรือตรวจครรภ์ได้วันไหน

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เฟซบุ๊ก การคุมกำเนิด วางแผนครอบครัว ศิริราช, เภสัชกรอุทัย, pharmaanddrug


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แผ่นแปะคุมกำเนิด ทางเลือกคุมกำเนิดที่สาว ๆ ควรรู้ไว้ อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 14:46:18 103,793 อ่าน
TOP
x close