ซีสต์มีตรงไหนในร่างกายได้บ้าง พร้อมวิธีสังเกตซีสต์ แบบไหนอันตราย

           มาทำความรู้จักซีสต์กันให้ดี ว่ามีตรงไหนในร่างกายได้บ้าง ลักษณะซีสต์แบบไหนอันตราย และแบบไหนมีไปก็ไม่ก่อให้เกิดภัยต่อร่างกายเรา

ซีสต์

           ซีสต์ (Cyst) ถือเป็นติ่งส่วนเกินที่อยู่ ๆ ก็ขึ้นบนผิวหนัง หรืออวัยวะข้างในของเรา ดังนั้นการมีซีสต์ทำให้หลายคนคิดว่ามีเนื้องอก ส่อสัญญาณมะเร็งหรือก้อนเนื้อร้าย ทั้งที่จริงซีสต์ไม่ใช่ทั้งเนื้องอกและส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวกับมะเร็งเลยด้วยซ้ำ งั้นเอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักซีสต์กันเถอะ

ซีสต์ คืออะไร

          ซีสต์ (Cyst) มีลักษณะเป็นถุง ที่ข้างในจะมีไขมัน เซลล์หนังกำพร้า เส้นผม ต่อมเหงื่อ หรือสารคัดหลั่งของร่างกายบรรจุอยู่ โดยผนังของซีสต์จะประกอบด้วยผิวหนัง เช่น รูขุมขน ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมเหงื่อ ซึ่งพองตัวเป็นถุง และเราเรียกกันว่า ซีสต์ (Cyst) นั่นเอง

ซีสต์

ซีสต์เกิดจากอะไร

          ซีสต์เกิดจากเนื้องอกผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยอาจเกิดจากการอุดตันของรูเปิดของต่อมต่าง ๆ ดังข้างต้น หรือเกิดจากการฝังตัวของเซลล์ผิวหนังเข้าไปในชั้นหนังแท้ เกิดตามหลังผิวหนังที่ถูกทิ่มแทง เป็นแผล หรือเกิดขึ้นระหว่างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ก็ได้

ซีสต์มีกี่ชนิด

          ซีสต์มีทั้งแบบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถฝ่อไปได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร และซีสต์แบบที่เป็นโรคซึ่งควรต้องรักษา ทั้งนี้การจำแนกซีสต์จะแบ่งตามลักษณะตำแหน่งที่เกิด และส่วนประกอบของซีสต์ออกเป็นชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยชนิด เพราะพบได้แทบทุกส่วนของร่างกาย แต่ชนิดของซีสต์ที่พบบ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น 

          * ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง  

ซีสต์

          หรือก้อนที่ผิวหนัง มีทั้งชนิด Epidermal Cyst และ Sebaceous Cyst เป็นซีสต์ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย และทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้า คอ หน้าอก และหลังส่วนบน มีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่มีสีเดียวกับผิวหนังและยึดติดอยู่กับผิวหนังด้านบน แต่ไม่ติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ซีสต์ และอาจมีรูเปิดที่ผิวหนังในส่วนที่ซีสต์ยึดติดอยู่ เมื่อดึงผิวหนังให้ตึง จะพบรอยบุ๋มเกิดขึ้นบนซีสต์ และหากบีบจะมีสารสีขาว ๆ คล้ายสังขยาไหลออกมา แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรบีบซีสต์นะคะ เพราะอาจเกิดการอักเสบได้ อย่างไรก็ตามซีสต์ชนิดนี้ไม่จัดเป็นซีสต์ที่อันตราย

          * Milium

ซีสต์

          Milium หรือที่เรารู้จักในชื่อสิวข้าวสาร ซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายตุ่มสิว จัดเป็นซีสต์ที่อยู่ตื้นและมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยจะพบได้บ่อยทั่วทั้งตัว แต่จะเจอมากที่ใบหน้า จมูกในทารกแรกเกิด หนังตา และแก้มเด็ก หรืออาจเกิดในตำแหน่งผิวที่ถูกทำลายมาก่อน เช่น ผิวหนังที่เคยเป็นแผลถลอก หรือเกิดขึ้นหลังขัดหน้า ฉายรังสี ตากแดดจนไหม้ หรือหลังจากหายจากโรคตุ่มน้ำพองใส หรือผิวที่ทายาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ดังนั้นซีสต์ Milium หรือสิวข้าวสารจึงเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ไม่ก่อให้เกิดโรค

          * Steatocystoma Multiplex

          หากเจอซีสต์ลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังทั้งเล็กและใหญ่ แต่ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร โดยเฉพาะที่หน้าอก ต้นแขน และต้นขา นั่นอาจเป็นซีสต์ไม่ก่อโรค ชนิด Steatocystoma Multiplex ที่เกิดขึ้นตรงท่อของต่อมไขมัน (Sebaceous Duct) ผนังซีสต์จะเกิดจากต่อมไขมันและต่อมเหงื่อรวมตัวกันเป็นถุง ภายในจะมีไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันเป็นส่วนประกอบ มักเจอได้บ่อยในวัยรุ่นทั้งเพศหญิงและเพศชาย ขึ้นทีละหลายตุ่มพร้อมกัน ถ้าเจาะซีสต์จะมีน้ำมันสีเหลืองคล้าย ๆ เนยเหลวไหลออกมา

          * Vellus Hair Cyst

          ชื่อก็บอกลักษณะคร่าว ๆ แล้วว่าเป็นซีสต์ที่มีเส้นผมเป็นส่วนประกอบ โดยลักษณะของซีสต์ชนิดนี้จะเป็นซีสต์ขนาดเล็ก มีสารน้ำบรรจุในถุงซีสต์ และมีเส้นผมขนาดเล็ก (Vellus Hair) รวมอยู่ด้วย สีของซีสต์ชนิดนี้จึงออกสีคล้ำ มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลาย ๆ ตุ่มทั่วร่างกาย เช่น หน้าอก ด้านในของแขน ขา โดยเป็นซีสต์ที่เกิดจากพันธุกรรม ดังนั้นจะพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด หรือในวัยทารก และอาจสังเกตซีสต์ได้ชัดขึ้นเมื่อโตเป็นวัยรุ่น

          * ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst)

ซีสต์

          ถุงน้ำรังไข่ หรือซีสต์รังไข่ เป็นซีสต์ในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ที่จะเกิดขึ้นตามปกติเหมือนรอบเดือนของสาว ๆ โดยฮอร์โมนจะไปกระตุ้นรังไข่ให้เกิดการตกไข่ ไข่ก็จะอยู่ในถุงน้ำ เมื่อถุงน้ำโตขึ้นแล้วแตก ไข่ก็จะไหลออกมารอการปฏิสนธิ ส่วนถุงน้ำก็จะค่อย ๆ ฝ่อไปในที่สุด ซึ่งเราเรียกถุงน้ำชนิดนี้ว่า ฟังชั่นนัล ซีสต์ (Functional Cyst)

          แต่นอกจากถุงน้ำดังกล่าวแล้ว ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่ยังมีอีก 2 ประเภท คือ เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor) และถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) ซึ่งเป็นถุงน้ำรังไข่ที่ผิดปกติ อาจกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือมะเร็งรังไข่ได้ และหากซีสต์เหล่านี้มีการบิดขั้ว รั่ว ปริ แตก จะยิ่งเพื่มความเสี่ยงต่อตัวก้อนเนื้องอกมากขึ้น และในกรณีร้ายแรงก็อาจทำให้ตกเลือดในช่องท้อง อันตรายถึงชีวิตได้เลย

          - ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ระวังถุงน้ำรังไข่แตก

          * ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)

          หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นซีสต์ที่เกิดจากการที่ประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้องผ่านรังไข่ โดยนำเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกติดไปด้วย และเมื่อเซลล์ที่ว่าไปฝังตัวอยู่ที่อวัยวะไหน ก็จะเกิดถุงน้ำหรือซีสต์ที่อวัยวะนั้น เช่น ท่อรังไข่ อุ้งเชิงกราน ลำไส้ ช่องคลอด หรือมดลูก เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะพบช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่บ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนค่อนข้างสูง เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก และลักษณะซีสต์จะมีสีน้ำตาลคล้ำ จากการที่เลือดประจำเดือนค้างในถุงน้ำนาน ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อว่า ช็อกโกแลตซีสต์

          อย่างไรก็ตาม ช็อกโกแลตซีสต์เป็นซีสต์ที่ควรรักษา เพราะทำให้คุณสาว ๆ มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังเมื่อมีประจำเดือน และอาจปวดประจำเดือนหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ จนบางทีเป็นลมเป็นแล้งกันก็มี แถมยังอาจมีอาการลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดเสียดในท้อง ปวดร้าวลงขา อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และอาจมีบุตรยากด้วย

          - ช็อกโกแลตซีสต์ โรคที่สาว ๆ มีสิทธิ์เป็น ทำปวดท้องเมนส์รุนแรง 

          * Dermoid Cyst

ซีสต์ 
          เดอร์มอยซีสต์ (Dermoid Cyst) เป็นซีสต์ที่พบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อพบอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโดนคุณไสย เนื่องจากลักษณะของเดอร์มอยซีสต์มีส่วนประกอบเหมือนผิวหนังมากที่สุด ข้างในจะมีทั้งเส้นผม เล็บ ฟัน ต่อมไขมัน หรืออาจจะมีปอยผมงอกออกมาข้างนอกซีสต์ด้วย อีกทั้งตัวของถุงเองก็ขนาดใหญ่ ประมาณ 1-30 เซนติเมตร โดยเดอร์มอยด์ซีสต์เกิดจากการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อผิดที่ กล่าวคือ เนื้อเยื่อที่ควรต้องเจริญไปเป็นเซลล์ที่ผิวหนัง แต่กลับเกิดการเจริญเติบโตผิดตำแหน่ง แทนที่จะไปอยู่นอกร่างกาย ก็งอกภายในร่างกาย ทำให้ข้างในซีสต์มีปอยผม เล็บ กระดูก หรือไขมันอยู่ในนั้นได้ เพราะเดอร์มอยด์ซีสต์มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของการเติบโตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดานั่นเอง

          ตำแหน่งที่พบได้บ่อยมักจะเป็นหางคิ้ว จมูก หนังศีรษะ หรืออาจเจอภายในร่างกาย เช่น รังไข่ของสาว ๆ ซึ่งหากเดอร์มอยด์ซีสต์ไปโตในอวัยวะดังกล่าว ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย ท้องโต ปวดประจำเดือนมาก ๆ ได้ หรือหากอยู่ตรงศีรษะบริเวณท้ายทอย ถ้าเกิดอักเสบ ติดเชื้อ หรือซีสต์แตก อาจทำให้ลามไปถึงส่วนสมองได้ จึงจำเป็นต้องหาทางรักษาหรือผ่าตัดออก

          - เดอร์มอยด์ซีสต์ ถุงน้ำในรังไข่ อันตรายไหม อาการแบบไหนต้องระวัง !

          * ซีสต์ที่เต้านม (Breast Cyst)

          ผู้หญิงมักคลำเจอถุงน้ำบริเวณเต้านม มีลักษณะเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบบ่อยขึ้น ซึ่งถุงน้ำในเต้านมที่ว่าก็คือซีสต์เต้านมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือซีสต์ชนิด Simple Cyst เมื่อคลำเต้านมจะเจอเป็นก้อน ๆ ในเนื้อนม แต่ส่วนใหญ่แล้วซีสต์เต้านมชนิดนี้จะไม่กลายเป็นมะเร็ง ถ้าไม่มีอาการเจ็บ หรืออาการผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องรักษา

          แต่นอกจากซีสต์เต้านมชนิดธรรมดา (Simple cyst) แล้ว ยังมีซีสต์เต้านมที่ในถุงน้ำจะมีน้ำขุ่น ๆ (Complicated Cyst) และซีสต์ที่มีก้อนเนื้อในถุงน้ำ (Complex Cyst) ด้วย ซึ่งซีสต์ 2 ชนิดนี้ อาจเป็นซีสต์ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย และเป็นซีสต์ก่อโรคได้ ดังนั้นเมื่อใดที่รู้สึกเจ็บในเต้านม มีของเหลวออกมาจากหัวนม หัวนมบุ๋ม เป็นแผล เต้านมมีลักษณะปุ่ม ๆ คล้ายเปลือกส้ม หรือมีรอยบุ๋ม สีเต้านมเปลี่ยนไป ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

          *  ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)

ซีสต์

          เป็นถุงน้ำที่มีผนังเป็นเยื่อบุข้อหรือเยื่อหุ้มเส้นติดกับเอ็น ในถุงน้ำจะมีน้ำไขข้อบรรจุอยู่ พบได้บ่อยในเพศหญิงอายุ 20-40 ปี ตำแหน่งที่พบคือบริเวณหลังข้อมือหรืออาจพบที่ด้านหน้าของข้อมือก็ได้ โดยสาเหตุการเกิดซีสต์ยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการใช้งานข้อมือหนัก โดยเฉพาะการกระดกข้อมือบ่อย ๆ อย่างไรก็ตามซีสต์ชนิดนี้ไม่ร้ายแรง แต่จะทำให้รู้สึกปวดเมื่อยข้อมือ เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวกเพราะถุงน้ำไปกดเบียดเส้นเอ็นหรือเยื่อบุข้อ และซีสต์ชนิดนี้จะค่อนข้างสังเกตยาก เพราะโตช้า ต้องรอเป็นปี ๆ ถึงจะผิดสังเกต ทว่าหากถุงน้ำโตจนคลำได้ ก็สามารถรักษาด้วยการเจาะถุงน้ำ หรือผ่าตัดซีสต์ออก

ซีสต์ อันตรายไหม

          เปอร์เซ็นต์การเกิดมะเร็งจากซีสต์มีอยู่น้อยมาก จนบอกได้ว่าไม่ต้องกังวลเกินไป แต่สิ่งที่ควรระวังในการมีอยู่ของซีสต์ก็คือภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบ การติดเชื้อ ซึ่งมักจะเกิดจากการบีบ เจาะ หรือการที่ซีสต์อยู่ตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อย ๆ จนซีสต์แตก เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนัง และอาการเกิดการอักเสบ บวม แดง ติดเชื้อ ดังนั้นจึงไม่ควร แคะ แกะ เกา บีบ เจาะ ซีสต์ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ

          ส่วนซีสต์ในร่างกาย จำเป็นต้องอาศัยการสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อซีสต์กลายเป็นปัญหาสุขภาพ ดังนั้นหากพบความผิดปกติก็ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะยิ่งพบเร็วเท่าไร รักษาเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงอันตรายได้มากเท่านั้น

ซีสต์

ซีสต์ รักษาได้ไหม ต้องผ่าหรือเปล่า

          ในส่วนของซีสต์ที่ไม่ก่อโรค ไม่ป็นอันตราย ไม่ต้องไปยุ่งกับซีสต์ก็ได้ แต่หากต้องการกำจัดซีสต์ออกจากร่างกายก็ทำได้โดยปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้แพทย์พิจารณาวิธีตัดซีสต์ออกไป ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีคล้าย ๆ การกดสิว หรือลอก กับซีสต์ที่มีขนาดเล็ก และตื้น แต่หากซีสต์มีขนาดใหญ่ก็อาจต้องผ่าตัด และรักษาร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

          แต่สำหรับซีสต์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น ซีสต์ในรังไข่ เดอร์มอยด์ซีสต์ หรือช็อกโกแลตซีสต์ แพทย์จะทำการรักษาตามลักษณะและขนาดของซีสต์ โดยวิธีรักษาจะมีตั้งแต่ให้กินยาฮอร์โมน หรือการผ่าตัด

          หากเจอซีสต์ตรงจุดไหนของร่างกาย แล้วไม่แน่ใจว่าใช่ซีสต์หรือเป็นเนื้องอกกันแน่ ลองไปปรึกษาแพทย์ผิวหนังดูก่อนก็ได้ เพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของสุขภาพตัวเอง

          * หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลวิภาวดี, เฟซบุ๊ก ใกล้หมอจิ๋ม, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รามา ชาแนล, โรงพยาบาลพญาไท, เฟซบุ๊ก หมอนมธรรมดา ปาป๊าวันหยุด, โรงพยาบาลธนบุรี
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซีสต์มีตรงไหนในร่างกายได้บ้าง พร้อมวิธีสังเกตซีสต์ แบบไหนอันตราย อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15:28:12 115,311 อ่าน
TOP
x close