เคลียร์ข้อสงสัย...ไขความเข้าใจผิดเรื่องไขมันทรานส์ ทำไมถึงถูกสั่งแบน !

          ไขมันทรานส์ คืออะไร อาหารอะไรมีไขมันทรานส์สูงบ้าง น้ำมันพืชบรรจุขวดคือไขมันทรานส์ด้วยหรือไม่ มาทำความเข้าใจให้ชัด !


          กระแสการแบนไขมันทรานส์หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายไขมันทรานส์ [อ่านข่าวกระทรวงสาธารณสุข ประกาศห้ามผลิต - นำเข้าไขมันทรานส์ มีผลอีก 180 วัน] ทำให้คนไทยเราตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันอีกครั้ง และถึงเวลาต้องปรับพฤติกรรมการกินกันยกใหญ่ แต่หากใครที่ยังสงสัยว่า ไขมันทรานส์ คืออะไร แล้วอาหารอะไรบ้างที่มีไขมันทรานส์ไม่ควรทาน เรารวบรวมข้อสงสัยต่าง ๆ มาเคลียร์ให้เข้าใจกันแล้ว

ไขมันทรานส์

1. ไขมันทรานส์ คืออะไร ?

          ไขมันทรานส์ คือ ไขมันที่เกิดจากการนำไขมันจากพืช หรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช มาเติมฟองอากาศจากไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) เพื่อแปลงสภาพให้กลายเป็นของแข็ง หรือกึ่งเหลว กลายเป็นไขมันอิ่มตัว อย่างเช่น เนยเทียม เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า กระบวนการไฮโดรจีเนชั่น (Hydrogenation)

          และนอกจากไขมันทรานส์ที่ผลิตขึ้นมาเองแล้ว ไขมันทรานส์ก็ยังสามารถพบได้ธรรมชาติในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์และนม แต่มีในปริมาณที่เล็กน้อยค่ะ

ไขมันทรานส์

2. ไขมันทรานส์ ผลิตขึ้นมาเพื่ออะไร ?

          ไขมันทรานส์ถูกผลิตขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะว่าเป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น ไม่ต้องกลัวว่าจะเหม็นหืนหรือเป็นไข ช่วยยืดอายุอาหาร อีกทั้งยังสามารถทนความร้อนได้สูง เนื้อสัมผัสของอาหารไม่แห้ง และมีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์

          นอกจากนี้ ข้อสำคัญที่ทำให้ไขมันทรานส์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการประกอบอาหารก็คือมีราคาถูกกว่าไขมันประเภทอื่น ๆ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการได้ด้วย

ไขมันทรานส์

3. ไขมันทรานส์ อันตรายอย่างไร ?

          โดยปกติแล้ว ไขมันอิ่มตัวในอาหารที่เราทานเข้าไปก็จะไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในร่างกายอยู่แล้ว แต่ไขมันทรานส์นี่ร้ายกาจกว่าไขมันอิ่มตัวเป็น 2 เท่า เพราะนอกจากจะเพิ่ม LDL แล้ว ยังไปลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) อีกต่างหาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงขึ้น และอีกสารพัดโรคที่จะตามมาทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับทำงานผิดปกติ นิ่วในถุงน้ำดี จอประสาทตาเสื่อม เสี่ยงอัลไซเมอร์ ฯลฯ

ไขมันทรานส์

4. ไขมันทรานส์ ไม่ควรทานเกินเท่าไหร่ ?

          ถ้าไม่ทานได้ยิ่งดี แต่เอาเข้าจริง ๆ คงเลี่ยงกันยาก ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำว่า ไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน 1% ของพลังงานที่เราได้รับต่อว่า ซึ่งพลังงานเฉลี่ยที่ควรได้รับอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ก็เท่ากับว่าเราไม่ควรทานอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 0.5 กรัม (500 มิลลิกรัม) ต่อหน่วยบริโภค เพื่อสุขภาพดี

ไขมันทรานส์
 
5. อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง มีอะไรบ้าง ?

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ไขมันทรานส์ แฝงอยู่ในอาหารหลากหลายชนิด รวมทั้งขนมอร่อย ๆ ที่เห็นแล้วชวนให้น้ำลายสอ อย่างเช่น

          - ขนมอบ เบเกอรี่ ที่มักใช้มาร์การีน วิปปิ้งครีม เนยขาว (ชอตเทนนิ่ง) ชีสเป็นส่วนผสม เช่น โดนัท ขนมเค้ก พาย คุกกี้ เวเฟอร์ บราวนี่ พิซซ่า ครัวซองต์ แซนวิช ขนมเปี๊ยะ โรตี ป๊อปคอร์นที่ใช้เนยเทียมคั่ว

          - เครื่องดื่มสำเร็จรูป ประเภทที่มีครีมเทียม วิปปิ้งครีม นมข้นหวาน นมข้นจืด ส่วนผสมเหล่านี้บางชนิดก็มีไขมันทรานส์

          - อาหารทอดซ้ำ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ไก่ทอด หมูทอด มันฝรั่งทอด

          อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตกอกตกใจว่าจะทานขนมเหล่านี้ไม่ได้เลยนะคะ เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่แต่ละร้านใช้ประกอบอาหารด้วย บางร้านอาจจะไม่ได้ใช้เนยเทียม มาร์การีน หรือครีมเทียมก็ได้ เช่น เบเกอรี่โฮมเมด หรือข้าวโพดคั่วที่ใช้เนยสด ร้านเครื่องดื่มที่ใช้นมสดแทนครีมเทียม หรือบางร้าน บางแบรนด์ก็ระบุไว้เลยว่า "ไม่มีไขมันทรานส์" ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงไขมันทรานส์ก็ต้องเลือกทานเอานะ

          - เช็กลิสต์ไขมันทรานส์ พบในขนมชนิดใดบ้าง ทราบแล้วเลี่ยง ! 

ไขมันทรานส์

6. น้ำมันพืชบรรจุขวดที่ผ่านกรรมวิธี คือไขมันทรานส์ ?

          พอบอกว่า ไขมันทรานส์คือน้ำมันพืชที่นำไปผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน ก็เลยทำให้หลายคนเข้าใจว่า น้ำมันพืชที่เขียนข้างขวดว่าผ่านกรรมวิธี คือ ไขมันทรานส์แน่ ๆ เลย แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องกรรมวิธีในการกลั่นน้ำมันเท่านั้น ไม่ใช่การเติมไฮโดรเจนเพื่อแปลงสภาพให้เป็นของแข็งหรือกึ่งเหลวแต่อย่างใด ดังนั้น น้ำมันพืชในรูปของเหลวก็ไม่ใช่ไขมันทรานส์อย่างที่กังวลกัน

ไขมันทรานส์

7. ใช้น้ำมันพืชทอดอาหาร จะเกิดไขมันทรานส์จริงไหม ?

          หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่า หากนำน้ำมันพืชไปผัดไปทอดแล้วจะเกิดไขมันทรานส์ขึ้น แต่เรื่องนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เป็นความเข้าใจผิดค่ะ โดยมีงานวิจัยพบว่า ถ้าน้ำมันพืชโดนความร้อนสูงมาก ซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ จะมีไขมันทรานส์เกิดขึ้นก็จริง แต่ปริมาณน้อยมาก น้อยกว่าที่เราได้รับจากไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเสียอีก ดังนั้น ถ้านำมาใช้ปรุงอาหารแค่ครั้งเดียวก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ที่มีคำเตือนไม่ให้นำมาทอดซ้ำบ่อย ๆ เพราะเขากลัวว่าจะเกิดสารก่อมะเร็งมากกว่า
 
ไขมันทรานส์

8. ไขมันทรานส์ 0% = ไม่มีไขมันทรานส์ แน่หรือ ?

          ถึงจะเขียนข้างกล่องหรือหลังซองว่า Trans Fat 0% ก็อย่าเพิ่งวางใจว่าจะปลอดไขมันทรานส์ชัวร์ ๆ เพราะตามกฎหมายของแต่ละประเทศ อนุญาตให้เขียน Trans Fat 0% หรือ 0 gram trans fat ได้ หากมีปริมาณไขมันทรานส์ไม่ถึง 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับว่าอาหารหรือขนม 1 ชิ้นที่เราทานเข้าไป ก็อาจมีไขมันทรานส์อยู่ 0.5 กรัม หากทานเพลิน ๆ ไปหลายชิ้นก็รับไขมันทรานส์ไปเต็ม ๆ เลย

          นั่นจึงทำให้กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์เด็ดขาด เพื่อปิดช่องโหว่ 0% นี่ล่ะ

          การออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ทำให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการอาหารเลย แต่ก็ช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้ใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ด้วยการบอกลาอาหารอันตราย แล้วหันมาเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อลดความเสี่ยงโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต 

ภาพจาก pexels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มหาวิทยาลัยมหิดล 
เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคลียร์ข้อสงสัย...ไขความเข้าใจผิดเรื่องไขมันทรานส์ ทำไมถึงถูกสั่งแบน ! อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2561 เวลา 14:11:56 75,396 อ่าน
TOP
x close