x close

เช็กลิสต์ ! เมนูกับข้าว-อาหารสตรีตฟู้ด โซเดียมสูงปรี๊ด กินมากเสี่ยงหลายโรค

          อาหารจานด่วน ขนม กับข้าวสะดวกซื้อที่ขายริมทาง เมนูไหนมีโซเดียมสูงบ้างต้องหลีกเลี่ยง เพราะกินมาก ๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อาหารจานเดียว

          ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของคนเมือง ทำให้การซื้อหาอาหารและกับข้าวตามถนนหนทางเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่จากข้อมูลการสำรวจของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้เตือนให้พวกเราทราบว่า อาหารสตรีตฟู้ด รวมทั้งของกินเล่นยอดฮิตหลายเมนู มีปริมาณโซเดียมสูงจนน่าตกใจ !

          โดย ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิชัยเชี่ยวชาญจากสถาบัน ได้เปิดเผยผลวิจัยการศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (Street Foods) จากการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารริมทางจากเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยเน้นในแหล่งชุมชน สถานที่ทำงาน ร้านอาหาร และรถเข็นตอนกลางคืน รวม 221 ตัวอย่าง 76 ชนิด ประกอบด้วยกับข้าว 27 ชนิด อาหารจานเดียว 29 ชนิด และอาหารว่างหรือขนม 20 ชนิด

          จากนั้นนำตัวอย่างอาหารมาตรวจวัดระดับโซเดียม แล้วจัดเป็น 5 ระดับ คือ

          - ความเสี่ยงสูงมาก : ปริมาณโซเดียมเกินกว่า 2,000 มิลลิกรัม
          - ความเสี่ยงสูง : ปริมาณโซเดียมระหว่าง 1,500-2,000 มิลลิกรัม
          - ความเสี่ยงสูงปานกลาง : ปริมาณโซเดียมระหว่าง 1,000-1,500 มิลลิกรัม
          - ความเสี่ยงน้อย : ปริมาณโซเดียมระหว่าง 600-1,000 มิลลิกรัม

          โดยได้ผลดังนี้

อาหารจานเดียว

อาหารประเภทกับข้าว

          - กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก มี 16 ชนิด หรือร้อยละ 59 เช่น แกงเขียวหวาน แกงเทโพ ต้มยำ/ต้มโคล้ง แกงไตปลา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า ผัดกะเพราหมู/ไก่ เป็นต้น

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงสูง มี 5 ชนิด หรือร้อยละ 18.5 ได้แก่ แกงจืดมะระ ผัดผักรวม ผัดพริกขิงถั่วฝักยาว หมูทอดกระเทียมพริกไทย และหลนเต้าเจี้ยว/ปู

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงปานกลาง มี 5 ชนิด หรือร้อยละ 18.5 ได้แก่ แกงเลียง ปลาทูต้มเค็ม หน่อไม้ผัดพริก กุนเชียง และน้ำพริกอ่อง

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงน้อย มี 1 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 4 คือ ปูผัดผงกะหรี่

อาหารจานเดียว

อาหารประเภทจานเดียว

          - กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก มี 10 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 35 เช่น ต้มเลือดหมู ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำไทย ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ บะหมี่หมูต้มยำ สุกี้น้ำรวมมิตร

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงสูง มี 5 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 17 ได้แก่ โจ๊กหมู ยำรวมมิตร ลาบหมู ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงปานกลาง มี 12 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 41 เช่น น้ำตกหมู ผัดไทย หอยทอด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด เป็นต้น

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงน้อย มี 2 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 7 ได้แก่ ข้าวราดผัดกะเพราหมู/ไก่ และข้าวไข่เจียว

อาหารจานเดียว

อาหารประเภทของว่างหรือขนม

          - กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มี 8 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 40 ได้แก่ ไส้กรอกทอด คอหมูย่าง ทอดมันปลากราย ขนมกุยช่าย เปาะเปี๊ยะทอด ไก่ทอด ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน และลูกชิ้นปิ้ง

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงปานกลาง มี 6 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 30 ได้แก่ หมูปิ้ง ไส้กรอกอีสาน ไก่ย่าง ปลาหมึกย่าง ขนมจีบ และกล้วยทอด

          - กลุ่มอาหารเสี่ยงต่ำ มี 6 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมครก สาคูไส้หมู กล้วยบวชชี ตะโก้สาคู และซาลาเปาไส้หมู

          ทั้งนี้ ดร.เนตรนภิส ระบุด้วยว่า การบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมตัวเองด้วยการบอกผู้ค้าว่า ขอรสอ่อน และลดการซดน้ำแกง ก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ หรือควรทำอาหารรับประทานเองอย่างน้อยให้ได้วันละมื้อ โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นของสด และลดการบริโภคอาหารแปรรูปที่มีโซเดียมแฝง เพื่อสุขภาพที่ดี

          ขณะที่  ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะนำให้คนไทยลดบริโภคเค็มหรือโซเดียมลดลง เพราะนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันนาน ๆ เข้าจะทำให้เกิดความเคยชินต่อรสเค็ม และจะยิ่งบริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กลิสต์ ! เมนูกับข้าว-อาหารสตรีตฟู้ด โซเดียมสูงปรี๊ด กินมากเสี่ยงหลายโรค อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2561 เวลา 13:13:36 95,340 อ่าน
TOP