โดนแมวข่วนต้องฉีดยาไหม ควรระวังโรคอะไรบ้าง

          เมื่อโดนแมวข่วนอาจเป็นแผลนิดเดียวแต่ก็อย่าชะล่าใจ มาดูกันว่าโดนแมวข่วนควรฉีดยาอะไรบ้าง และมีโรคที่ต้องระวังกี่โรคกัน
โดนแมวข่วน

          สำหรับทาสแมวหรือคนที่อดใจในความน่ารักของแมวไม่ไหว เข้าไปเล่นกับเจ้าเหมียวแล้วโดนข่วนจนเป็นแผล บางคนอาจไม่คิดอะไรเพราะแมวก็ดูซื่อใส แผลก็ไม่ได้ใหญ่ แต่รู้ไหมว่าโรคจากแมวมีทั้งพิษสุนัขบ้า และโรคแมวข่วนที่อาจทำให้เนื้อเน่า หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้เลยนะคะ เอาเป็นว่าใครที่สงสัยว่าโดนแมวข่วนแล้วต้องไปฉีดยาไหม มาดูกันเลย

โดนแมวข่วนต้องฉีดยาอะไรบ้าง

          ไม่ว่าจะแมวข่วนเป็นแผลนิดเดียว แมวข่วนที่หน้า ถลอกนิดหน่อย หรือโดนแมวข่วน แต่แมวฉีดยาแล้วก็ตาม เราก็อย่านิ่งนอนใจนะคะ แต่ควรไปฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอดูอาการน้องเหมียว เพราะป้องกันไว้ยังไงก็ดีกว่า

โดนแมวข่วน

          ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะขึ้นอยู่กับบุคคล โดยคนที่เคยฉีดวัคซีนกันบาดทะยักมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดบาดทะยักอีก ฉีดเพียงวัคซีนกระตุ้นภูมิเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและวัคซีนพิษสุนัขบ้าเลย แพทย์จะประเมินจากความรุนแรงของบาดแผล รวมทั้งความเสี่ยงของจุดที่โดนแมวข่วนหรือกัดด้วย

โดนแมวข่วน แมวกัด เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง

          ไม่อยากให้คิดว่าโดนแมวข่วนเลือดซิบ ๆ นิดเดียวคงไม่เป็นไร หรือแมวกัดนิดหน่อยทำแผลเดี๋ยวก็หาย เพราะจริง ๆ แล้ว โดนแมวข่วนอาจทำให้เกิดโรคที่อันตรายหลายโรค ตามนี้เลยค่ะ

1. ติดเชื้อแบคทีเรีย

          เชื้อแบคทีเรียจากแมวจะเจอได้ทั้ง เชื้อ Capnocytophaga canimorsus, Pasteurella multocida, เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก, เชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ต้องการออกซิเจน และเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียจากแมวอาจทำให้เกิดแผลอักเสบ เป็นหนอง

โดนแมวข่วน


          โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่แมว และโดยเฉพาะแมวที่เป็นสัตว์ชอบออกตะลอนเที่ยวไป หรือไปกัดกับแมวหรือสัตว์ชนิดอื่นมา โอกาสที่แมวจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าก็ย่อมมาก หรือแม้แต่แมวที่เลี้ยงในระบบปิด ก็เคยเจอติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ หากโดนข่วนหรือโดนแมวกัดควรรีบไปฉีดวัคซีนโดยทันทีนะคะ


3. บาดทะยัก

          เชื้อบาดทะยักจะเจอได้ในปากแมวและเล็บแมว ดังนั้นหากโดนแมวข่วนหรือกัดจนถึงเลือดก็ควรระวังโรคบาดทะยักไว้ด้วย และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือเคยฉีดมาเกิน 10 ปีแล้ว ควรไปฉีดวัคซีนกันบาดทะยักอีกรอบโดยด่วน

4. โรคแมวข่วน

          โรคแมวข่วนคือโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดกึ่งเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน ต่อมน้ำเหลืองอักเสบโตเป็นก้อน (Granulomatous lymphadenitis) และอาจมีไข้ เกิดแผลเป็นผื่นสีแดง โดยแผลนี้อาจพัฒนากลายเป็นหนอง และในผู้ป่วยร้อยละ 50-90 อาจเกิดอาการตาแดง ตามด้วยอาการผดขึ้นในบริเวณที่ถูกแมวข่วน หรือในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบและระบบประสาทอักเสบ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้สูงร่วมกับเกิดก้อนที่ตับและม้าม

ทั้งนี้อาการของโรคแมวข่วนสามารถสังเกตได้จากอาการ ดังนี้

          - แผลแมวกัดหรือแมวข่วนไม่หายในเวลาอันควร

          - รอบ ๆ รอยกัดหรือข่วนแดงขึ้นและกว้างขึ้นเกิน 2 วัน

          - มีไข้อยู่หลายวันหลังถูกแมวข่วนหรือกัด

          - ต่อมน้ำเหลืองบวมและปวดนานกว่า 2-3 สัปดาห์

          - ปวดกระดูกหรือปวดข้อ ปวดท้อง โดยไม่มีไข้ อาเจียน หรือท้องร่วง

          - อ่อนเพลียนานกว่า 2 สัปดาห์

          อย่างไรก็ตาม โรคแมวข่วนเป็นโรคติดเชื้อกึ่งเฉียบพลันที่สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษาใด ๆ ทว่าในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอาจต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1-3 เดือน โดยการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะ หรือในรายที่มีหนองก็อาจทำการเจาะหนองเพื่อลดอาการปวดร่วมด้วย

โดนแมวข่วน

5. เนื้อเน่า

          โรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงบริเวณผิวหนังที่ถูกแมวข่วนหรือกัด โดยในระยะแรกจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว แต่อาการปวดมักจะไม่เกี่ยวกับแผลที่เป็น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังจะมีไข้สูง ร่วมกับแผลที่เป็นจะมีสีม่วง ดำ สีคล้ำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น นานเข้าเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณนั้นอาจตายได้

          โรคเนื้อเน่ามักจะเกิดที่บริเวณขาและเท้า และอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน และภาวะไตวาย ซึ่งหากโดนแมวข่วน กัด จนมีบาดแผลลึก ควรไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อป้องกันการเกิดโรคเนื้อเน่านะคะ

6. ติดเชื้อในกระแสเลือด

          การติดเชื้อแบคทีเรียจากแมวอาจทำให้เราติดเชื้อในกระแสเลือดและเสี่ยงเสียชีวิตได้ โดยคนที่เสี่ยงจะติดเชื้อในกระแสเลือดจากการโดนแมวข่วนหรือกัดจะเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีภูมิคุ้มกันผิดปกติไม่ว่าจากการกินยาหรือจากโรคที่เป็นอยู่ รวมไปถึงคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคที่แผลหายช้า ตับแข็ง ไตวาย ผู้สูงอายุ ผู้ที่ตัดม้าม สูบบุหรี่ กินยาสเตียรอยด์ กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือกินอาหารเสริมสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เป็นต้น

โดนแมวข่วน

โดนแมวข่วนแบบไหน ต้องระวังเป็นพิเศษ

          แผลโดนแมวข่วนหรือกัดที่มีความลึก แบบแมวกัดจมเขี้ยว ปากแผลจะลึกทำให้เชื้อแบคทีเรียมีโอกาสสะสมในแผลได้แม้ปากแผลจะปิด ดังนั้นหากโดนแมวข่วนจนเลือดออก และแผลดูไม่ดีก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจะดีกว่า

โดนแมวข่วน ทำยังไงดี

          สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนแมวข่วนหรือกัด สามารถทำได้ ดังนี้

โดนแมวข่วน

          - ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 10 นาที โดยล้างให้ถึงก้นแผล และเปิดน้ำให้พุ่งเข้าไปในแผลเพื่อชะล้างเศษน้ำลายแมวออกจากแผลให้ได้มากที่สุด

          - เมื่อล้างแผลจนสะอาดแล้ว ให้ใส่เบตาดีนหรือเช็ดรอบ ๆ แผลด้วยแอลกอฮอล์ แต่ห้ามใช้ยาผงโรยแผลโดยตรง

          - ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก รวมทั้งอาจให้พยาบาลล้างแผลให้อีกรอบก็จะดีค่ะ

โดนแมวข่วน ป้องกันได้ ก่อนเกิดอันตรายกับร่างกาย

โดนแมวข่วน

          1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเล่นกับแมวจรจัด แมวที่เราไม่คุ้นหน้า

          2. อย่าแหย่แมว หรือเล่นกับแมวแรง ๆ

          3. พยายามอย่าเข้าใกล้แมวที่มีลักษณะอาการแปลก ๆ เช่น หางตก ตาขวาง น้ำลายฟูมปาก

          4. อย่าหยิบอาหารขณะที่แมวกำลังกิน หรือหยิบของที่แมวหวง

           อย่างไรก็ดี หากเป็นทาสแมวที่เลี้ยงแมวไว้ที่บ้าน ก็ควรพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าทุกปี รวมไปถึงเราเองก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยักล่วงหน้าได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ป้องกันไว้ก่อนยังไงก็อุ่นใจกว่าเนอะ

          - วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดล่วงหน้าป้องกันโรคกลัวน้ำได้

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
รามา ชาแนล
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โดนแมวข่วนต้องฉีดยาไหม ควรระวังโรคอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2563 เวลา 17:18:56 417,480 อ่าน
TOP
x close