x close

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดจากอะไร ภาวะอันตรายถึงชีวิต !


          ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันต่างจากหัวใจวายนะคะ และก็เกิดขึ้นกับทุกวัย ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันเถอะ
หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

          หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ที่สำคัญยังต่างจากภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวที่เราเข้าใจกันด้วยนะคะ เอาเป็นว่าเราจะพาทุกคนมารู้จักภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดจากอะไรได้บ้าง

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

          ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะหัวใจสูญเสียการทำงานอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ระบบการทำงานของทางเดินหายใจและการไหลเวียนเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งส่วนมากจะพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจก่อนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตามมา และหากผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันหลังหัวใจหยุดเต้น จะเรียกภาวะนี้ว่า Sudden Cardiac Death

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน VS หัวใจวาย

          หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันต่างจากหัวใจวายตรงสาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือทำงานผิดปกติไป โดยภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวมักเกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ ส่งผลให้หัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน และเป็นเหตุของการเสียชีวิต ทว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักเกิดจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติไปหรือโดนรบกวน เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ภาวะสมองสูญเสียการทำงานที่ส่งผลโดยตรงกับการทำงานของหัวใจ เป็นต้น

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากอะไร

          สาเหตุของหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดได้จากหลายกรณีด้วยกัน โดยสามารถจำแนกออกได้เป็นสาเหตุภายใน และสาเหตุภายนอก ดังนี้

   * ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากสาเหตุภายใน

          มักพบในคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว หรือบางคนอาจไม่เคยตรวจมาก่อนจึงไม่ทราบว่าตัวเองมีความผิดปกติที่ระบบหัวใจ เช่น

          - โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา ชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Hypertrophic cardiomyopathy)

          - ภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด (Congenital coronary artery anomalies)

          - โรคมาร์แฟนซินโดรม ซึ่งผู้ป่วยจะมีความผิดปกติที่ระบบหลอดเลือดและหัวใจ

                    * มาร์แฟน ซินโดรม โรคพันธุกรรมที่ควรทำความเข้าใจ

          - ภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย (Premature coronary artery disease)

          - ระบบไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จนหัวใจไม่บีบตัวและส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยหมดสติและเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที

   * ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากสาเหตุภายนอก

          - จมน้ำ

          - เป็นอัมพาต

          - สำลักอาหาร

          - สำลักควันไฟ

          - ได้รับยาเกินขนาด

          - ไฟฟ้าดูด

          - ขาดอากาศหายใจ

          - กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

          - ฟ้าผ่า

          - สมองสูญเสียการทำงานจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุรุนแรง

          - ภาวะมีวัตถุกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก อันส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติเฉียบพลัน

          - โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

อาการหัวใจหยุดเต้น คนรอบข้างสังเกตได้

          ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เมื่อเป็นแล้วจะเกิดอาการขึ้นทันที ซึ่งคนรอบตัวสามารถสังเกตผู้ป่วยได้ดังอาการต่อไปนี้

          - ผู้ป่วยหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ

          - เจ็บหน้าอกกะทันหัน ร่วมกับปวดร้าวแขนข้างซ้ายอย่างรุนแรง

          - หายใจลำบาก

          - คลื่นไส้ อาเจียน

          - ใจสั่น

          - เหงื่อออกมาก

          - ชัก เกร็ง  (ในบางราย)

          - ผู้ป่วยหมดสติอย่างเฉียบพลัน

          - คลำชีพจรไม่พบ

          - ไม่หายใจตามปกติ

          ซึ่งหากพบผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้น ควรตั้งสติให้ดีแล้วรีบทำการปฐมพยาบาลโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งโทร. เรียกรถพยาบาลหรือหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินโดยทันที

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

การพยาบาลผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

          1. ตั้งสติให้มากที่สุด

          2. เขย่าตัวผู้ป่วยหรือพยายามปลุกผู้ป่วย

          3. นวดหัวใจเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือทำ CPR ช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างถูกต้อง

              - วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยคนหัวใจหยุดเต้น-หยุดหายใจ ให้รอดชีวิต

          4. หากมีเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเครื่อง AEDs (Automatic External Defibrillators) ให้นำมาปั๊มหัวใจช่วยชีวิตผู้ป่วย ตามขั้นตอนดังนี้

              - แจกคู่มือช่วยชีวิตคนป่วยหัวใจหยุดเต้น ด้วยการใช้เครื่องเออีดี 

          อย่างไรก็ดี ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอาจมาจากความพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ชอบกินอาหารไขมันสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายมากเกินไป รวมไปถึงพฤติกรรมติดยาเสพติด โดยเฉพาะโคเคน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วย และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน



ขอบคุณข้อมูลจาก
- สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดจากอะไร ภาวะอันตรายถึงชีวิต ! อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2564 เวลา 11:22:14 40,692 อ่าน
TOP