การให้ที่ไม่สิ้นสุดคือการให้ชีวิต อย่างการบริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิตให้ผู้ป่วยได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติก็เป็นมหากุศลอย่างหนึ่งเช่นกัน ว่าแต่เราสามารถบริจาคอวัยวะที่ไหนได้บ้าง แล้วอวัยวะใดที่สามารถบริจาคได้ มาศึกษารายละเอียดในการบริจาคอวัยวะกันค่ะ

บริจาคอวัยวะคืออะไร
การบริจาคอวัยวะคือการบริจาค “เครื่องใน” ของเรา เช่น ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อน ลิ้นหัวใจ ปอด ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ เพื่อรักษาโรค หรือต่อลมหายใจให้เขาได้ดำเนินชีวิตตามปกติได้
บริจาคร่างกาย VS บริจาคอวัยวะ ต่างกันอย่างไร
การบริจาคอวัยวะกับการบริจาคร่างกายมีจุดประสงค์ที่ต่างกันนะคะ โดยการบริจาคอวัยวะ ทางแพทย์จะนำอวัยวะ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่ยังสามารถใช้งานได้ดีไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอวัยวะ และหลังจากทำการปลูกถ่ายอวัยวะเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะมอบร่างผู้เสียชีวิต (คนที่บริจาคอวัยวะ) กลับคืนให้ครอบครัวได้นำไปประกอบพิธีทางศาสนา
ส่วนการบริจาคร่างกาย คือการบริจาคร่างกายเราหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์ใหญ่” นั่นเองค่ะ โดยการบริจาคร่างกายจะต้องมอบร่างกายของเราให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษา ดังนั้นทางโรงพยาบาลจะไม่มอบร่างผู้เสียชีวิตให้กับญาติ แต่จะเก็บร่างไว้ในโรงพยาบาลแทน แล้วหลังจากเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ 2 ปี ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนั้น ๆ จะประกอบพิธีทางศาสนาให้อาจารย์ใหญ่เอง
บริจาคอวัยวะอะไรได้บ้าง
อวัยวะที่สามารถบริจาคเพื่อไปช่วยเหลือผู้อื่น ได้แก่
* หัวใจ
* ลิ้นหัวใจ
* ปอด
* ตับ
* ตับอ่อน
* ไต
* เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น กระจกตา

ใครบริจาคอวัยวะได้บ้าง
คุณสมบัติผู้บริจาคอวัยวะ โดยทั่วไปมีรายละเอียด ดังนี้
1. อายุไม่เกิน 70 ปี
2. เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ
3. ไม่ป่วยโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคตับ และไม่ติดสุรา
5. อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี
6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
7. ควรแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบด้วย
ทั้งนี้เกณฑ์ในการรับบริจาคอวัยวะในแต่ละที่อาจมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นควรสอบถามกับสถานที่ที่เราจะไปบริจาคอวัยวะโดยตรง
บริจาคอวัยวะได้ที่ไหน
สถานที่รับบริจาคอวัยวะมีอยู่หลายที่ด้วยกัน ดังนี้
1. ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
2. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
3. ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลขอนแก่น
4. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
อยากบริจาคอวัยวะ ต้องทำอย่างไร
ขั้นตอนการบริจาคอวัยวะ สามารถทำได้โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน โดยสามารถขอใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะข้างต้น (สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลขอนแก่น, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์)
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- สำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือสำนักงานกึ่งกาชาดอำเภอ ทุกจังหวัด
- เครือข่ายศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั่วประเทศ
- สถานที่ออกหน่วยรับบริจาคอวัยวะเคลื่อนที่
- แจ้งความจำนง เมื่อไปทำบัตรประจำตัวประชาชน ได้ที่สำนักเขต และที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ
- โทร. 1666 เพื่อขอให้ส่งใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมาให้ทางไปรษณีย์
- ดาวน์โหลดใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะที่เว็บไซต์ organdonate.in.th
โดยกรณีที่รับเอกสารจากไปรษณีย์ หรือดาวน์โหลดเอกสารจากเว็บไซต์ เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อย ให้พิมพ์ใบแสดงความจำนงฯ แล้วส่งมาที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หลังจากนั้นทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้
2. หลังจากได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะแล้ว ให้กรอกชื่อและรายละเอียดการบริจาคลงในบัตรให้เรียบร้อย
3. เก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยทันที
4. ควรแจ้งให้ญาติทราบว่าได้ทำเรื่องบริจาคอวัยวะไว้ในระหว่างมีชีวิตอยู่
ทำไมถึงนำอวัยวะผู้เสียชีวิตมาบริจาคได้
ในการบริจาคอวัยวะ แพทย์จะรับอวัยวะจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย แต่ยังให้เครื่องช่วยหายใจอยู่ และตราบใดที่ร่างกายยังมีออกซิเจนไหลเวียนในเลือด เลือดก็ยังไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นจึงสามารถนำอวัยวะของผู้ที่มีภาวะสมองตาย ไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่เพื่อความอยู่รอด
ภาวะสมองตายคืออะไร
ภาวะสมองตาย คือ ภาวะที่สมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานอย่างสิ้นเชิงและถาวร ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใด ๆ ไม่สามารถหายใจได้เอง ไม่สามารถรักษาให้ฟื้นคืนชีพได้อีก ซึ่งทางการแพทย์จะถือว่าผู้ที่มีภาวะสมองตาย เสียชีวิตแล้ว โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองตายมาจากการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง หรือเลือดออกในช่องสมอง ซึ่งการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองตายหรือไม่ ต้องตรวจโดยแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน
อยากบริจาคอวัยวะ แต่ยังไม่เสียชีวิต บริจาคได้ไหม
การบริจาคอวัยวะสามารถบริจาคได้ทั้งในตอนที่มีชีวิตอยู่ และตอนที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยอวัยวะที่สามารถบริจาคได้ตอนมีชีวิตอยู่ ได้แก่ ไต ตับ ไขกระดูก เป็นต้น แต่กรณีนี้ ทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคต้องเป็นญาติโดยสายเลือด หรือคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกันไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีบุตรที่เกิดจากสามี ภรรยาคู่นั้นเท่านั้น
หากผู้บริจาคอวัยวะเสียชีวิตแล้ว ญาติควรทำอย่างไร
ในกรณีที่ญาติรับทราบว่าผู้เสียชีวิตได้แสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะไว้ ญาติควร โทร. แจ้งศูนย์บริจาคอวัยวะทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต โดยแจ้งได้ที่ โทร. 1666 หรือ 0-2256-4045-6 ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อประเมินสภาพการทำงานของอวัยวะว่าเหมาะสมสำหรับนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยอื่นหรือไม่ จากนั้นจะผ่าตัดนำอวัยวะออก (ใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง) ภายหลังผ่าตัดแล้วแพทย์จะตกแต่งร่างให้คงเดิม และมอบร่างให้ญาตินำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม ญาติสายตรงของผู้เสียชีวิตต้องเซ็นยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แพทย์จึงสามารถนำอวัยวะของผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไปใช้ปลูกถ่ายได้ หากญาติไม่ยินยอม จะถือว่าการบริจาคนั้นเป็นอันยกเลิก
อวัยวะที่ได้รับบริจาค จะนำไปให้ใคร
เมื่อได้รับบริจาคอวัยวะมาแล้ว ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะจัดสรรให้แก่ผู้ที่รออวัยวะซึ่งได้ทำการลงทะเบียนกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะไว้ โดยผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายหัวใจ ปอด และตับ ที่มีอาการป่วยหนักจะได้รับการจัดสรรอวัยวะให้ก่อน
ทั้งนี้การรับบริจาคอวัยวะจะพิจารณาจากหมู่เลือด ความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ระดับภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อ ระยะเวลาที่รออวัยวะ และอายุผู้ป่วยด้วย
เจ้าหญิงนิทรา สามารถบริจาคอวัยวะได้หรือไม่
ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะผัก (Vegetative stage) ยังไม่ถือว่าเสียชีวิต เนื่องจากแกนสมองยังทำงานให้หายใจได้เอง เพียงแต่สมองใหญ่ที่มีหน้าที่สั่งการการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายสูญเสียความสามารถไป ดังนั้นจึงไม่สามารถบริจาคอวัยวะได้
บริจาคอวัยวะและบริจาคร่างกายพร้อมกันได้ไหม
อย่างที่บอกว่าจุดประสงค์ในการบริจาคอวัยวะและบริจาคร่างกายแตกต่างกัน สำหรับคนที่ต้องการบริจาคร่างกาย จำเป็นต้องมีร่างกายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษาอวัยวะส่วนต่าง ๆ และร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นผู้ที่บริจาคอวัยวะจึงไม่สามารถเป็นอาจารย์ใหญ่ได้
บริจาคอวัยวะให้เฉพาะญาติได้ไหม
ในกรณีที่ผู้บริจาคอยู่ในสภาวะสมองตาย เคสนี้จะไม่สามารถระบุให้นำอวัยวะผู้เสียชีวิตไปให้ญาติ ๆ ได้ เพราะทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะจัดสรรคิวในการรอรับบริจาคอวัยวะเอง แต่ในกรณีที่ผู้บริจาคอวัยวะยังมีชีวิตอยู่ ก็สามารถบริจาคอวัยวะให้กับญาติ พี่น้อง สามี ภรรยา ได้ตามระเบียบสภากาชาดไทยว่าด้วยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
การบริจาคอวัยวะถือเป็นการทำทานและสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ เพราะยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รอรับบริจาคอวัยวะเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไป ดังนั้นใครมีความประสงค์อยากบริจาคอวัยวะก็ลองศึกษาดู เพราะอวัยวะของเราสามารถช่วยคนอื่นได้อีกมากมายเลยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรงพยาบาลขอนแก่น
โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Youtube ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย