ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร กินได้น้อยลงทุกที ต้องลองวิธีแก้ !

          เมื่อผู้สูงอายุเบื่ออาหาร มีอาการกินยาก กินน้อยลง จะแก้ปัญหาคนแก่ไม่ยอมกินข้าวยังไงดี ลองวิธีตามนี้ดูไหม

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

          อาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ทำให้ลูก-หลาน กลุ้มใจและเป็นกังวลมาก เพราะเมื่อคนแก่ไม่ยอมกินข้าว ร่างกายเขาก็จะอ่อนแรงและอาจมีผลต่อสุขภาพตามมาได้ ดังนั้นบ้านไหนที่มีปัญหาผู้สูงอายุเบื่ออาหาร กินได้น้อยลงก็คงอยากหาวิธีแก้เบื่ออาหารในผู้สูงอายุมาปรับใช้ ซึ่งเราก็เข้าใจและอยากนำเสนอวิธีแก้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารให้ลองไปใช้ดู

สาเหตุผู้สูงอายุไม่กินข้าว มีอะไรบ้าง


          ทำไมผู้สูงอายุถึงเบื่ออาหารและกินได้น้อยลง จริง ๆ มีสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ดังนี้ค่ะ

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

- ความอยากอาหารลดลง


          เมื่ออายุมากขึ้นความอยากกินอาหารจะลดลงเป็นธรรมชาติของร่างกาย ทำให้ผู้สูงอายุไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าอยากกินนั่นนี่นู่นเหมือนวัยหนุ่ม-สาว ประกอบกับความเสื่อมของร่างกายด้านอื่น ๆ ก็ยิ่งทำให้มีความรู้สึกเบื่ออาหารมากขึ้นไปอีก

- ประสาทในการรับรสด้อยประสิทธิภาพ


          คนสูงอายุมักจะกินอะไรไม่ค่อยอร่อย เพราะต่อมรับรสและกลิ่นลดลง หรือเปลี่ยนรสชาติไป เป็นเหตุให้รู้สึกเบื่ออาหารและไม่อยากกินอะไรเหมือนแต่ก่อน

- ฟันมีปัญหา

 


          ถึงแม้ปัจจุบันจะมีฟันปลอมที่สามารถใช้งานได้เสมือนงานจริง ทว่าการที่ฟันของผู้สูงอายุมีปัญหาก็ยังเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้กินอะไรก็ไม่อร่อย พาลให้ไม่นึกอยากกินอะไรมากนัก เพราะเคี้ยวไม่ถนัดนั่นเอง

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

- กลืนลำบาก สำลักบ่อย

          อายุมากขึ้น ต่อมน้ำลายจะผลิตน้อยลง ทำให้เวลาเคี้ยวอาหารจะฝืด ๆ คอ เพราะความชื้นในปากน้อย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก และอาจมีอาการสำลักอาหารและน้ำบ่อย ๆ จนเบื่อที่จะกินอาหารให้เกิดอาการดังกล่าวอีก

- การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง


          ความเสื่อมของร่างกายในส่วนนี้ก็เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุกินได้น้อยลง เพราะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นจากการที่ลำไส้ทำงานไม่เป็นปกติ อีกทั้งยังอาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และก่อให้เกิดอาการท้องผูกได้ด้วย

- ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

 


          บางคนอาจมีอาการมือสั่น เดินไม่ค่อยไหว ทำให้ไม่สามารถไปตลาด หรือไปหาซื้อของกินได้ด้วยตัวเอง หรือถ้ามีอาการสั่นก็อาจตักอาหารไม่สะดวก ทำให้ความนึกอยากกินอาหารลดลงไปด้วย

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

- ความเครียด


          เมื่อร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ทำอะไรก็ไม่ถนัด ก็อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความเครียดสะสม ยิ่งถ้าป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ ด้วยก็อาจเพิ่มระดับความเครียด ความวิตกกังวลได้มากขึ้น จนอาจมีอาการเบื่ออาหารได้

- การใช้ยาบางชนิด


          การกินยาบางชนิดเพื่อรักษาอาการป่วยด้วยโรคประจำตัว ตัวยานั้นอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้เช่นกัน

          สาเหตุเบื้องต้นอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร และอาจมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ทำให้ท่านไม่ค่อยยอมกินข้าว กินอาหารตามปกติ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ สุขภาพของผู้สูงอายุอาจจะน่าเป็นห่วงในหลาย ๆ ด้าน

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ส่งผลตามมาถึงสุขภาพได้


          การที่ผู้สูงอายุไม่ยอมกินข้าว หรือกินอาหารได้น้อยลง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

* อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง


          เมื่อร่างกายได้อาหารน้อยลง ก็จะเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ทำให้อ่อนแรง มีภูมิต้านทานต่ำ หรือเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้น

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

* ท้องผูก


          ไฟเบอร์มักจะเป็นสารอาหารที่ผู้สูงวัยได้รับไม่เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย เพราะเคี้ยวผัก-ผลไม้ ไม่ค่อยได้ เลยไม่ค่อยยอมกิน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะท้องผูก ถ่ายลำบาก และเสี่ยงต่อโรคริดสีดวงทวารด้วย

* น้ำหนักตัวลดลง


          เมื่อกินอะไรไม่ค่อยได้ ผู้สูงอายุบางท่านก็จะผ่ายผอม น้ำหนักตัวลดลง และหากไม่ยอมกินข้าวนาน ๆ อาจมีอาการแขน-ขา ลีบ จากการขาดสารอาหาร ทำให้เดินเหินไม่สะดวก ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะทำกิจกรรมต่าง ๆ

* เสี่ยงภาวะโลหิตจาง


          การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางได้ด้วย

* กระดูกพรุน

 


ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

          หากขาดสารอาหารมาก ๆ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น ยิ่งในสภาวะที่ร่างกายเริ่มเสื่อมลง มวลกระดูกก็จะลดลงไปตามธรรมชาติ ก็ยิ่งเสี่ยงโรคกระดูกพรุนหนักขึ้น

          อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็เริ่มเป็นกังวลมากขึ้นจนอยากหาวิธีแก้เบื่ออาหารในผู้สูงอายุมาช่วยให้ผู้สูงอายุกินได้มากขึ้น งั้นก็อย่ารอช้าค่ะ เริ่มกันเลย

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร แก้ยังไงดี


ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

          * ควรให้ผู้สูงอายุกินอาหารที่อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น เต้าหู้นึ่ง ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม ปลานึ่ง แก้วมังกร มะละกอสุก  เป็นต้น

          * ดัดแปลงเมนูอาหารให้เคี้ยวง่ายขึ้น เช่น จากเนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้น ๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นเนื้อสัตว์สับละเอียดหรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ แทน หรือจากกินผักสด ให้เปลี่ยนมาเป็นผักต้ม ซึ่งย่อยง่ายกว่า และไม่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร จนท้องอืด แน่นท้อง

          * ในแต่ละมื้อควรมีอาหารประเภทน้ำ เช่น น้ำซุป น้ำแกงต่าง ๆ เพื่อช่วยหล่อลื่นหลอดอาหาร กลืนอาหารได้ง่ายขึ้น

          * เน้นปรุงอาหารด้วยรสเปรี้ยวอ่อน ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นน้ำลายและความอยากอาหารได้

          * กินอาหารที่หลากหลาย เพื่อความไม่จำเจ

          * ลองเปลี่ยนให้กินอาหารมื้อเล็ก ๆ แบ่งเป็น 4-5 มื้อต่อวัน แทนอาหารจานใหญ่หรือมื้อใหญ่ ๆ

          * จัดเมนูที่มีเครื่องเทศหรือสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร เช่น แกงขี้เหล็ก ไก่ผัดขิง สะเดาน้ำปลาหวาน แกงป่า ผัดฉ่า เป็นต้น

          * ลองกระตุ้นความอยากอาหารด้วยน้ำขิง น้ำใบเตย หรือน้ำมะตูม ก่อนมื้ออาหาร

          * จัดเวลากินอาหารและของว่างอย่างตรงเวลา วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเขารับรู้ถึงเวลาอาหาร และอาจจะกินได้มากขึ้น

          * จัดบรรยากาศโต๊ะอาหารให้เหมาะสม มีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อน สะอาดสะอ้าน

          * ลองจัดเมนูที่ไม่ต้องใช้ช้อน-ส้อมในการกินอาหาร เช่น กล้วยต้ม ผักลวกจิ้มน้ำพริก เมี่ยงปลา กุ้งพันอ้อย เป็นต้น การกินอาหารโดยไม่มีช้อน-ส้อม เป็นภาระอาจทำให้ผู้สูงอายุกินได้มากขึ้น

          * หากผู้สูงอายุไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ถนัด อาจปั่นน้ำผัก ผลไม้ หรือต้มซุปให้แทน

ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

          * ควรกินข้าวร่วมกันทุกมื้อ อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุกินข้าวคนเดียว

          * หากผู้สูงอายุมีอาการซึม ๆ ควรพาไปเปิดหูเปิดตาข้างนอกบ้าง และหากยังมีเรี่ยวแรง อาจพอท่านไปเดินเลือกของกินที่ตลาดดูบ้าง

          * ควรหากิจกรรมทำร่วมกับผู้สูงอายุบ่อย ๆ เช่น พูดคุยกัน ชวนกันเล่นเกม ดูละคร หรือเดินชมสวน เพื่อคลายความเครียดให้ผู้สูงอายุ

          ทั้งนี้อาหารสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และระวังอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด อาหารมัน ๆ ของทอด ขนมปัง เพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับพลังงานเกินความต้องการของร่างกาย กลายเป็นแหล่งสะสมไขมัน ทำให้อ้วน ซึ่งอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น

          และนอกจากปัจจัยเรื่องสภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการกินอาหารได้อย่างเคยแล้ว ยังมีปัจจัยด้านความเหงา ความโดดเดี่ยว ที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ ดังนั้นอย่าลืมดูแลจิตใจท่านให้มีความสุข สดชื่น สดใส เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร กินได้น้อยลงทุกที ต้องลองวิธีแก้ ! อัปเดตล่าสุด 12 เมษายน 2566 เวลา 10:46:27 231,295 อ่าน
TOP
x close