วิธีชั่งน้ำหนักตัวที่ถูกต้อง ต้องชั่งยังไงให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

          อยากรู้น้ำหนักตัวที่แท้จริง ควรชั่งน้ำหนักตอนไหน มาดูเคล็ดลับชั่งน้ำหนักที่ถูกต้องเพื่อตัวเลขบนตาชั่งที่แม่นยำที่สุดกัน

วิธีชั่งน้ำหนัก

          วิธีชั่งน้ำหนักที่ถูกต้อง ควรชั่งตอนไหน เพื่อให้ได้น้ำหนักตัวที่แม่นยำที่สุด โดยเฉพาะคนที่กำลังลดน้ำหนักคงอยากรู้น้ำหนักตัวตอนเช้าทุกวัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อนมากนัก มาดูวิธีชั่งน้ำหนักที่ถูกต้องกัน

1. เลือกเครื่องชั่งน้ำหนักที่ได้มาตรฐาน

          เครื่องชั่งน้ำหนักมีจำหน่ายหลายราคาและหลายรูปแบบ ดังนั้น ควรเลือกซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นแบบเข็มหรือเครื่องชั่งแบบดิจิทัลก็ตาม ควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ดูฟังก์ชันที่ตรงกับความต้องการของเรา เพื่อให้ได้เครื่องชั่งน้ำหนักที่ตรงใจและใช้ไปได้นาน ๆ

          อ้อ ! และควรวางเครื่องชั่งน้ำหนักในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วย โดยควรวางเครื่องชั่งน้ำหนักบนพื้นผิวที่แข็งและเรียบ ไม่วางบนพรมหรือฟูก เพราะการที่เครื่องชั่งน้ำหนักไม่อยู่นิ่งอาจทำให้สเกลบนเครื่องชั่งเกิดความคลาดเคลื่อนได้ ที่สำคัญควรตรวจสอบหน้าปัดตาชั่งให้ดีว่าสเกลอยู่ที่เลข 0 ก่อนขึ้นชั่งน้ำหนักหรือไม่

2. ชั่งน้ำหนักตอนเช้าดีที่สุด

วิธีชั่งน้ำหนัก

          การชั่งน้ำหนักตัวให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ควรชั่งน้ำหนักหลังตื่นนอน และขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว เพราะช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เรามีน้ำหนักตัวเบาที่สุด จากการไม่ได้กินอาหารหรือน้ำ แต่มีการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในขณะที่นอนหลับ รวมไปถึงการขับน้ำจากการหายใจคายคาร์บอนไดออกไซด์ และขับเหงื่อด้วย ดังนั้น จึงถือว่าหลังขับถ่ายเสร็จในตอนเช้า เป็นช่วงที่วัดน้ำหนักตัวได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เว้นเสียแต่ว่ามีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน การมีประจำเดือน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้น้ำหนักตัวคลาดเคลื่อนได้บ้าง

3. ชั่งน้ำหนักเวลาเดิม

          เวลาที่เปลี่ยนไปอาจมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเป็นตัวแปรของน้ำหนักตัวได้ ดังนั้น เพื่อความแม่นยำควรชั่งน้ำหนักเวลาเดิม เช่น เคยชั่งน้ำหนักทุก 08.00 น. ก็ควรชั่งเวลานี้ในครั้งต่อไป หรือถ้าไม่สะดวกชั่งน้ำหนักตอนเช้า ก็ชั่งน้ำหนักตัวช่วงไหนก็ได้ ขอแค่เป็นเวลาเดิมทุกครั้ง

4. ชั่งน้ำหนักที่เครื่องชั่งเดิมเป็นประจำ

วิธีชั่งน้ำหนัก

          การชั่งน้ำหนักบนตาชั่งที่ต่างกัน อาจได้ตัวเลขที่ไม่เหมือนกันด้วย เพราะอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ ดังนั้น เพื่อความแน่นอน ควรชั่งน้ำหนักที่เครื่องชั่งเดิมเป็นประจำ และถ้าเป็นไปได้ควรใส่เสื้อผ้าแบบเดิมทุกครั้งที่ชั่งน้ำหนัก เช่น เคยใส่รองเท้าคู่ไหนก็ควรใส่คู่นั้น เคยใส่กางเกงขาสั้นก็ใส่ขาสั้น เป็นต้น เพื่อลดความคลาดเคลื่อนจากน้ำหนักของเสื้อผ้าที่ใส่ด้วย แล้วอย่าลืมนำเครื่องประดับตามตัว เช่น นาฬิกา แหวน สร้อยคอ หรือสิ่งของตามกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง ออกมาไว้ข้างนอกก่อนด้วยนะ

5.  ชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้งก็พอ

          การชั่งน้ำหนักทุกวันอาจไม่ทำให้เราเห็นความแตกต่างเท่าไร เผลอ ๆ วันไหนที่น้ำหนักขึ้นก็อาจทำให้เครียดไปอีก ดังนั้น จึงควรชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้งก็พอ เพื่อให้เห็นภาพรวมและพัฒนาการของน้ำหนักตัวที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุด หรือถ้าอยากชั่งน้ำหนักทุกวันจริง ๆ ก็ให้จดตัวเลขเอาไว้ แล้วใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ก็ได้

          อย่างไรก็ดี น้ำหนักร่างกายไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพที่ดีเสมอไป ดังนั้น จึงไม่ควรเครียดกับตัวเลขบนตาชั่งมาก เพราะอย่าลืมว่ามวลกระดูกของแต่ละคนไม่เท่ากัน โครงสร้างร่างกายก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น เพียงรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในมาตรฐาน BMI หรือดัชนีมวลกายก็พอ ตัวนี้แหละที่จะช่วยประเมินสภาวะของร่างกายได้ว่ามีความสมดุลของน้ำหนักตัวและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะหากค่า BMI ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานก็อาจเสี่ยงต่อโรคได้

          - วิธีคำนวณดัชนีมวลกาย หาค่า BMI เช็กว่าเราอ้วนหรือยัง

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
healthline
medicalnewstoday

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีชั่งน้ำหนักตัวที่ถูกต้อง ต้องชั่งยังไงให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2563 เวลา 16:58:29 63,042 อ่าน
TOP
x close