โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ความเปราะบางของวัย กับโรคทางใจที่น่าเป็นห่วง

          เป็นวัยรุ่นก็ว่าเหนื่อยแล้ว แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นที่ป่วยโรคซึมเศร้าจะยิ่งเหนื่อยกว่า แล้วทำไมคนสมัยนี้ถึงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นกันนะ มาดูสาเหตุพร้อมเช็กอาการซึมเศร้าในวัยรุ่นกันดีกว่า

          แม้โรคซึมเศร้าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่การที่ได้รู้ว่าในแต่ละปีมีวัยรุ่น เยาวชน ป่วยโรคซึมเศร้าเยอะขึ้นก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน โดยข้อมูลเผยว่า โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในช่องทางที่วัยรุ่นใช้พูดถึงโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ที่มีแฮชแท็กเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากถึง 1.4 แสนข้อความ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2561- มิถุนายน 2562 และยังพบว่าเยาวชนเข้ารับบริการปรึกษาปัญหาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 10,298 ครั้ง ในปี 2561 เป็น 13,658 ครั้ง ในครึ่งปีแรกของปี 2562   

          นอกจากนี้ข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตายด้วยปมปัญหาสอบตก โดนขัดใจ หรือน้อยใจคนรอบข้างก็มีมาให้เห็นเรื่อย ๆ ดังนั้นเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ เรามาดูอีกทีว่าโรคนี้เกิดจากอะไร และถ้าป่วยแล้วควรดูแลความรู้สึกกันยังไงดี

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น สาเหตุคืออะไร
โรคซึมเศร้า

          โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไรได้บ้าง ปัจจุบันนี้ก็พบแล้วว่าอาจไม่ใช่เรื่องสารเคมีในสมองอย่างเดียว แต่รวมไปถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย
1. กรรมพันธุ์
          กรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกับคนที่ป่วยซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แม้จะเคยรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว
2. ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง
          ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine)  ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ด้วย
3. ลักษณะนิสัย
           บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตัวเองรู้สึกเศร้า เช่น มีความคิดในแง่ลบ มีนิสัยชอบตอกย้ำความผิดพลาดของตัวเอง เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน
4. ปัญหาครอบครัว การเรียน และสังคม
           ความกดดัน ความเครียด ความผิดหวังจากการเรียน การเรียนอย่างหนัก ปัญหาความรัก ปัญหากับเพื่อน ๆ คนรอบข้าง ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกแย่ มองตัวเองในแง่ลบ และความเครียดเรื้อรังในวัยรุ่นก็มีผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
5. ความสัมพันธ์ที่ห่างไกลกันมากขึ้น
          วิถีชีวิตในยุคสังคมเมืองมีส่วนทำให้คนในครอบครัวรู้สึกห่างเหินกันมากขึ้น ต่างคนต่างออกจากบ้านไปทำหน้าที่ กลับเข้าบ้านมาก็มีโลกส่วนตัวที่หน้าจอโทรศัพท์ แทบไม่ค่อยได้คุยกัน และอาจส่งผลให้เด็กบางคนรู้สึกเหงา ขาดความอบอุ่น และการที่ต่างคนต่างใช้ชีวิตกันแบบนี้ก็อาจทำให้เข้าใจกันน้อยลง เนื่องจากไม่ค่อยได้พูดคุยกัน
6. สภาพเศรษฐกิจและสังคม
          จะเห็นได้ว่าในยุคนี้เด็กจบใหม่ตกงานกันเป็นแถบ ทำให้วัยรุ่นขาดความมั่นใจในตัวเอง แม้จะเรียนจบปริญญาโทแต่ก็ยังไม่มีความพร้อมจะทำงาน เพราะรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง อีกทั้งปัญหาทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมไปถึงค่านิยมการทำงานที่เปลี่ยนไป และความรู้สึกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโลกโซเชียล ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้วัยรุ่นมีความภาคภูมิใจในตัวเองน้อยลง
7. ไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลกับระบบชีวภาพของร่างกาย
          มีงานวิจัยพบว่า จุลินทรีย์ในลำไส้สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า และวิถีชีวิตของวัยรุ่นไม่ว่าจะการกิน การนอน การออกกำลังกาย ก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนเยอะ จนอาจส่งผลกับระบบชีวภาพของร่างกายได้
8. ขาดทักษะการจัดการปัญหา
          มีหลายข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่า เด็กวัยรุ่นไม่ถูกฝึกให้มีทักษะทางความคิดและแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การคิดในแง่บวกว่าทุกปัญหาจะต้องมีทางออกในที่สุด และเมื่อเราแก้ปัญหานั้นได้แล้วก็จะเก่งขึ้น และเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
9. การมีปมค้างในใจ
          เช่น การถูกละเลยความสนใจ การถูกดุด่าอย่างไม่มีเหตุผล หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงความรุนแรงต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบในวัยเด็ก อาจเป็นปัญหาที่ค้างคาในใจและดึงให้วัยรุ่นเสี่ยงอาการซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น
10. การบูลลี่

          การบูลลี่ หรือการล้อ แกล้ง รังแก ในสมัยนี้ค่อนข้างจะรุนแรงและเป็นวงกว้างมากกว่าสมัยก่อน โดยเฉพาะการรังแกทางโลกไซเบอร์ ซึ่งความอับอาย ความเครียด การถูกกดดันเหล่านี้อาจทำให้วัยรุ่นเสียศูนย์และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้มาก

โดนบูลลี่ (Bully) ทำไงดี มาเรียนรู้วิธีเซฟใจตัวเองเมื่อเจอคำร้าย ๆ

โรคซึมเศร้า อาการในเด็กวัยรุ่นอาจต่างออกไป
โรคซึมเศร้า

          อาการโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจแสดงออกในทางที่ต่างออกไปจากอาการซึมเศร้าโดยทั่วไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ปกครองและคนรอบข้างเข้าใจผิด ไม่คิดว่าวัยรุ่นมีอาการซึมเศร้า เช่น

               - มีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อรั้น ต่อต้านรุนแรง

               - อาจมีพฤติกรรมติดแอลกอฮอล์ ติดเกม ติดเซ็กส์

               - หงุดหงิด ฉุนเฉียว  

               - นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมาก

               - เฉื่อยชา แยกตัว เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร

               - ไม่ร่าเริง ไม่ยิ้ม เหม่อลอย เบื่อหน่าย

               - ไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากเจอเพื่อน

               - ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเรียนหนังสือ ไม่มีสมาธิในการเรียน การทำงาน

               - มีปัญหาการเรียน มาสาย ไม่เข้าเรียน หลับในห้องเรียน  

               - ไม่ดูแลตัวเอง กินมากจนอ้วน หรือไม่กินจนผอมมาก  

               - ไม่มั่นใจตัวเอง คิดว่าตัวเองไร้ค่า ท้อแท้ หมดหวัง  

               - ทำร้ายตัวเอง

               - ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป อาจฆ่าตัวตายในที่สุด

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และอาจมีอาการทางกายอื่น ๆ เช่น เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ปวดศีรษะ ปวดท้องร่วมด้วย ดังนั้นคนรอบข้างจึงจำเป็นต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากพบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์และทำการรักษาอย่างถูกต้อง หรือจะลองประเมินอาการโรคซึมเศร้าจากแบบทดสอบของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ก่อนก็ได้

          - แบบวัดภาวะซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า VS โรคที่คล้ายคลึงกัน
          มีโรคที่อาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้าด้วยเหมือนกัน ซึ่งต้องพิจารณาอาการให้ดี ๆ ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ เช่น

* ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ

          หากมีการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน เช่น ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน โดนรีไทร์ ต้องย้ายคณะ หรือการสูญเสียสิ่งสำคัญไป อาจทำให้มีภาวะเศร้า หรือหดหู่ได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง และเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีคนมาพูดคุย มาปลอบใจ หรือผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ ก็จะกลับมาเป็นปกติ

* โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว

          ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเศร้า แป๊บ ๆ กลับไปร่าเริง ซึ่งช่วงที่เศร้าอาจมีอาการคล้าย ๆ โรคซึมเศร้ามาก แต่ก็จะแตกต่างตอนที่อารมณ์เปลี่ยนมาดี จะรู้สึกอยากทำนั่นทำนี่ และมีอาการเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าปกติ

โรคไบโพลาร์ คนอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

* โรควิตกกังวล

           ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร แต่ไม่มากนัก และจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ซึ่งไม่ค่อยพบในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเท่าไร

8 โรควิตกกังวลที่คนป่วยบ่อยในสังคมปัจจุบัน

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น เป็นแล้วทำยังไงดี
โรคซึมเศร้า

          หากพบว่าเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมา แล้วมืดแปดด้านไม่รู้ต้องทำยังไง เรามีทางออกมาบอกต่อ ดังนี้

               * พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือปรึกษานักจิตวิทยา

               * พยายามออกไปเที่ยว ออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ทำกิจกรรมที่เราสนใจ

               * ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

               * รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

               * นอนหลับให้เพียงพอ

               * หลีกเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น

               * งดดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

               * เล่นกีฬา เล่นดนตรี

               * เข้าใจอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าทุกคนเศร้าได้ เพราะไม่มีใครสมหวังไปทุกเรื่อง

               * มองโลกในด้านบวก

               * อย่าตัดสินใจเรื่องใหญ่ในชีวิต เช่น ลาออกจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือล้มเลิกแผนชีวิตบางอย่าง ในช่วงที่รู้สึกเศร้า

               * ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

รวมศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด กังวลใจ ปรึกษาจิตแพทย์ที่ไหนดี

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น รักษาอย่างไร
          การรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก โดยมีวิธีรักษาโรคซึมเศร้า ดังนี้

1. การรักษาด้วยยา

          ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าจะเป็นยาในกลุ่มต้านเศร้า โดยในระยะแรกแพทย์จะให้ยาขนาดต่ำ เพื่อให้ยาช่วยปรับสารเคมีในสมองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะนัดติดตามอาการในทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ต่อมา หากตัวยาต้านเศร้าไม่ส่งผลข้างเคียงอะไร แพทย์ก็จะค่อย ๆ ปรับยาขึ้นไปในทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ จนกว่าผู้ป่วยจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

2. จิตบำบัด

          ในกรณีที่การรักษาด้วยยาไม่ให้ผลที่น่าพึงพอใจ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดควบคู่ไปด้วย

          อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคซึมเศร้าจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ไม่ได้หายหรือมีอาการดีขึ้นในทันที ดังนั้นช่วงที่รักษาตัวอยู่ก็ควรทำตามที่จิตแพทย์แนะนำอย่างไม่ให้ขาดตกบกพร่อง และควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องด้วย

          นอกจากนี้แพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยก่อนว่ามีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ อย่างโรควิตกกังวลหรือโรคไบโพลาร์ ซึ่งหากมีภาวะของโรคดังกล่าวร่วมด้วย แพทย์ก็จะทำการรักษาควบคู่กันไป

โรคซึมเศร้า ใช้เวลารักษาเท่าไร
          อย่างที่บอกว่าการรักษาโรคซึมเศร้าจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป โดยหลังจากปรับยาจนอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะให้ยาต่อเนื่องไปอีก 4-6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าอาการซึมเศร้าจะไม่กำเริบขึ้นมาอีก จากนั้นแพทย์จะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน จนอาการคงที่แน่ ๆ แล้วก็จะหยุดยา
โรคซึมเศร้า รักษาหายไหม
          แม้จะใช้เวลาในการรักษาโรคซึมเศร้าค่อนข้างนาน แต่หากรักษาอย่างต่อเนื่อง ดูแลตัวเองให้ดี โรคนี้ก็หายขาดได้ไม่ยาก
ผู้ปกครองช่วยอะไรได้บ้าง เมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า

           ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างมากกับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้อาการดีขึ้น โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

               * เข้าใจอาการของผู้ป่วยว่าเป็นอาการของโรค ไม่ใช่ความอ่อนแอ

               * ให้กำลังใจ และพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

               * ใจเย็น รับฟังลูกด้วยเหตุผล

               * ให้กำลังใจและคอยสนับสนุนเขาเมื่อเขาทำสิ่งดี ๆ

               * พูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ และช่วยลูกแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

               * ขอความช่วยเหลือจากครู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษา ให้ช่วยดูแลผู้ป่วยเมื่อเขาอยู่ข้างนอกบ้าน

               * หมั่นติดตามอาการของผู้ป่วย และหมั่นติดตามพฤติกรรม หากมีลักษณะอยากทำร้ายตัวเองจะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ป้องกันได้
          แนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น กรมสุขภาพจิตแนะนำให้ใช้หลัก 3 ส. ต่อไปนี้

1. สอดส่องมองหา

          ให้ความอบอุ่น ความใกล้ชิด เพื่อให้เขารู้สึกมีที่พึ่ง มีที่ปรึกษาตลอดเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

2. ใส่ใจรับฟัง

          หมั่นพูดคุย ทำความเข้าใจ และใส่ใจรับฟังในสิ่งที่วัยรุ่นอยากบอก

3. ส่งต่อและเชื่อมโยง

          หากพบอาการผิดปกติที่ส่อสัญญาณโรคซึมเศร้า ควรรีบพามาปรึกษาจิตแพทย์และทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง
 
          ครอบครัวเป็นปราการสำคัญที่ทำให้เด็กวัยรุ่นมีเกราะป้องกัน และเกิดความรู้สึกมั่นคง มั่นใจในตัวเอง ดังนั้นหากมีบุตรหลานในช่วงวัยรุ่น อย่าลืมหมั่นเติมความรัก ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เขาเติบโตมาด้วยความรู้สึกไม่โดดเดี่ยว
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ความเปราะบางของวัย กับโรคทางใจที่น่าเป็นห่วง อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2566 เวลา 11:46:15 42,450 อ่าน
TOP
x close