หัวใจวายขณะวิ่ง เกิดจากอะไร ไม่อยากถึงตายต้องลดความเสี่ยง

          สัญญาณเตือนหัวใจวายอาจไม่แพร่งพรายให้เรารู้ได้ และแม้แต่คนที่อายุไม่มาก ไม่มีโรคประจำตัว ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันในงานวิ่งมานักต่อนัก เพราะภาวะหัวใจวายนี่แหละ
          เรื่องของหัวใจเป็นเรื่องใหญ่เสมอ โดยเฉพาะหากหัวใจมีความผิดปกติขึ้นมากะทันหัน ไม่มีอาการใด ๆ แจ้งเตือนมาก่อนเลย อย่างโรคหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากเจอภาวะนี้เข้าไป แม้แต่คนที่แข็งแรง อายุไม่มาก ไม่มีโรคประจำตัว ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากมีอาการหัวใจวายขณะออกกำลังกาย ดังนั้น คนที่ชอบวิ่ง อยากไปงานวิ่งมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน ลองมารู้จักภาวะหัวใจวายกันหน่อย เพื่อดูว่าอาการหัวใจวายเกิดจากอะไร เราจะลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ยังไง หรือป้องกันไม่ให้เกิดกับเราได้ไหม
 
หัวใจวายเฉียบพลัน เกิดจากอะไร
หัวใจวายขณะวิ่ง

          การที่คนไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้ป่วยโรคหัวใจ อายุก็ไม่มาก แถมดูแล้วแข็งแรงดี แต่วิ่ง ๆ อยู่แล้วล้มลง เสียชีวิต เกิดจากอะไรได้บ้าง ลองมาดู

1. ภาวะ Over load จากการออกแรงมากเกินไป

          เมื่อเราออกแรงมาก ๆ อย่างการออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง หัวใจจะเต้นเร็ว ความดันเลือดจะเพิ่มสูง อะดรีนาลินในร่างกายก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้หัวใจเกิดภาวะบีบตัวแรงจนส่งเลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก เป็นเหตุให้มีอาการจุกแน่นหน้าอก วูบไป และอาจเสียชีวิตได้หากช่วยไม่ทัน

2. เกิดจากความผิดปกติของหัวใจที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

          ความผิดปกติของหัวใจแบ่งออกได้ 2 ช่วงอายุ คือ

     * อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากจะพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด รวมไปถึงภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดร้ายแรง ที่อาการจะกำเริบเมื่อออกแรงหนัก ๆ อย่างการวิ่งอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

     * อายุมากกว่า 35 ปี คนกลุ่มนี้มักพบภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน โรคความดันโลหิต หรือภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

3. ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า หรือวงจรไฟฟ้าในหัวใจ

          เป็นความผิดปกติที่มักจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน จนกระทั่งไปออกกำลังกาย มีการออกแรงหนัก ๆ มาก ๆ ก็อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสี่ยงเสียชีวิตได้
หัวใจวายเฉียบพลัน ใครเสี่ยงบ้าง

          แม้โรคหัวใจวายจะไม่แสดงอาการให้เรารู้ตัวมากนัก แต่หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ควรระวังให้มาก เช่น

     - ผู้ที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย

     - ผู้ที่ตรวจพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมกับโรคหัวใจขาดเลือด หรือตรวจพบการทำงานของหัวใจผิดปกติ

     - ผู้ที่มีอาการต้องสงสัยของโรคหัวใจ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เจ็บบริเวณกราม เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกเมื่ออยู่ในท่านั่ง นอนราบ หรือขณะออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือรู้สึกโมโห ตื่นเต้น มีอาการหายใจไม่สะดวกเวลานอน จนต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจ มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

     - ผู้ที่เคยหมดสติขณะออกกำลังกาย หรือวูบตอนเปลี่ยนท่า ยกของหนัก ทำกิจกรรมหนัก ๆ

     - ผู้มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

     - ผู้ที่สูบบุหรี่

     - ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบหืด เป็นต้น

     - ผู้ที่ไม่เคยออกแรงหนัก ๆ มาก่อนเลย หรือไม่ได้ซ้อมก่อนไปวิ่ง หรือปกติอาจจะเคยวิ่งวันละไม่กี่กิโลเมตร แต่อยู่ ๆ ไปลงวิ่งมาราธอน วิ่งระยะไกลกว่าที่เคยวิ่ง

หัวใจวายเฉียบพลัน อาการเป็นยังไง
หัวใจวายขณะวิ่ง

          ส่วนมากแล้ว หัวใจวายเฉียบพลัน อาการจะไม่ค่อยแจ้งเตือนมาก่อน แต่หากพบความผิดปกติเหล่านี้ก็ควรฉุกคิด และนึกถึงอาการหัวใจวายเป็นอันดับแรก ๆ

               * รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ อย่างที่ไม่เคยเหนื่อยมาก่อน เช่น เคยทำแบบนี้มาแล้วแต่ไม่เหนื่อยเท่านี้ เป็นต้น

               * แน่นหน้าอก หรือแสบบริเวณลิ้นปี่

               * ใจสั่น รู้สึกหวิว ๆ

               * หน้ามืด คลื่นไส้

               * ปวดร้าวบริเวณกราม คอ แขน หัวไหล่

               * มีอาการลอย ๆ วิ่งเซไป เซมา

               * หอบผิดปกติ

               * เหงื่อท่วมตัว

               * เริ่มพูดไม่รู้เรื่อง

          หากมีอาการดังกล่าว หรือพบเห็นนักวิ่งข้าง ๆ มีอาการแบบนี้ ควรรีบพัก และขอความช่วยเหลือโดยด่วน

หัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยยังไงให้รอดชีวิต

          การปฐมพยาบาลอย่างรวดเร็วเมื่อพบเห็นผู้ป่วยมีอาการหัวใจวายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันควรได้รับการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต หรือการ CPR นอกจากนี้ควรได้รับการปฐมพยาบาลด้วยเครื่อง AED (Automated External Defibrillator) หรือเครื่องช็อกหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติได้ และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ดี
 

วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยคนหัวใจหยุดเต้น - หยุดหายใจให้รอดชีวิต

หัวใจวายเฉียบพลันขณะวิ่ง กับสิ่งที่ช่วยป้องกันได้
หัวใจวายขณะวิ่ง

          เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจากการออกแรงหนัก ๆ ได้ ดังนี้

     * ตรวจสุขภาพก่อนออกกำลังกายหนัก ๆ

          เราควรตรวจสุขภาพก่อนไปวิ่งมาราธอน วิ่งระยะไกล หรือการออกกำลังกายที่เรายังไม่เคยได้ทำ เพื่อเช็กดูว่าหัวใจเราทำงานได้ตามปกติไหม หรือมีภาวะสุ่มเสี่ยงกับการออกแรงมาก ๆ หรือเปล่า

     * หากมีโรคประจำตัวต้องระวังให้มาก

          ถ้าป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ หอบหืด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนัก ๆ ทุกชนิด หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีไหนได้บ้าง ที่จะเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเอง

     * ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และค่อยเป็นค่อยไป

          ก่อนจะไปลงงานวิ่งที่ไหนก็ตาม ควรฝึกให้ร่างกายได้ออกแรงอย่างสม่ำเสมอ มีการซ้อมทุกวัน หรือออกกำลังกายครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเช็กสภาพร่างกายว่าเราไหวไหม มีอาการผิดปกติอะไรหรือเปล่า และการซ้อมก็ควรค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มระยะทางและเวลาไปเรื่อย ๆ อย่าใจร้อนลงวิ่ง

     * เช็กชีพจรในจุดที่ปลอดภัย

          โดยใช้สูตรคำนวณด้วย 220 - อายุ และคูณ 85% เราจะได้ค่าชีพจรเป้าหมายในการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง ช่วยลดความเสี่ยงจากการออกแรงหนักเกินที่ร่างกายจะรับไหวได้ เช่น หากอายุ 30 ก็คำนวณด้วย 220-30x85% = 85 (ค่าชีพจรเป้าหมายในการออกกำลังกายที่เหมาะสม) และเวลาออกกำลังกายค่าชีพจรไม่ควรเกินตัวเลขนี้

     * อย่าหยุดวิ่งกะทันหัน !

          หากออกกำลังกายหนัก ๆ แล้วหยุดกะทันหัน เช่น วิ่งระยะไกลมาสักพัก แล้วจู่ ๆ ก็หยุดซะดื้อ ๆ แบบนี้อันตรายมาก อาจถึงขั้นหัวใจวายตายได้เลยนะคะ เพราะการหยุดวิ่งทันทีอาจทำให้ระบบไหลเวียนเลือดจากกล้ามเนื้อกลับมาที่หัวใจทำงานได้ลดน้อยลง และเลือดอาจคั่งอยู่ตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และอาจทำให้หมดสติ หรือบางรายอาจเกิดอาการหัวใจวายและเสียชีวิตได้ทันที
 

วิ่งแล้วหยุดกะทันหัน เตือนดัง ๆ ว่าอย่าทำ อันตรายถึงชีวิต !

     * ลดพฤติกรรมเสี่ยงหัวใจวาย

          เช่น ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง ปล่อยให้อ้วน ออกกำลังกายหนักเกินไปหรือไม่ออกกำลังกายเลย ติดคาเฟอีน สูบบุหรี่ เป็นต้น
 

10 พฤติกรรมเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน ทราบแล้วเปลี่ยนให้ทันก่อนหมดลมหายใจ

     * ตรวจสอบการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของงานวิ่งที่จะไป

          หากอยากไปงานวิ่งจริง ๆ ควรเช็กให้ดีว่างานวิ่งนั้น ๆ มีการจัดเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินอย่างไร มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเตรียมพร้อมไหม มีหน่วยบริการทางการแพทย์ ณ จุดไหนของงานบ้าง เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน มีนักวิ่งหมดสติขึ้นมาก็จะได้ขอความช่วยเหลือได้ทันที
 

          การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ควรออกกำลังกายภายใต้ความปลอดภัยของร่างกาย ดังนั้นก็อย่าลืมดูแลตัวเองให้ดี เตรียมความพร้อมให้ชัวร์ และตรวจสุขภาพก่อนไปทำกิจกรรมหนัก ๆ ด้วย
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
รามาแชนแนล
โรงพยาบาลพญาไท
โรงพยาบาลพญาไท
โรงพยาบาลบางปะกอก 9
สสส

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวใจวายขณะวิ่ง เกิดจากอะไร ไม่อยากถึงตายต้องลดความเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 1 ธันวาคม 2563 เวลา 16:41:04 29,896 อ่าน
TOP
x close