กัญชง ต่างกับกัญชาอย่างไร รู้จักพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีประโยชน์ทางยา

          กัญชา กัญชง ต่างกันยังไง สรรพคุณทางยาต่างกันตรงไหน แล้วการปลูกกัญชงอย่างถูกกฎหมาย ใครปลูกได้บ้าง
          กัญชง ถูกปลดล็อกให้ประชาชนนำไปปลูกและใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อได้ยินชื่อกัญชงในข่าว หลายคนก็สงสัยว่าเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกับกัญชาไหม หรือมีสรรพคุณต่างกันอย่างไร ใครปลูกกัญชงได้บ้าง เอาเป็นว่าเรามาไขความกระจ่างกันเลยดีกว่า
กัญชง คืออะไร
กัญชง

          กัญชง คือ พืชชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยา โดยกัญชงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า เฮมพ์ (Hemp) ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์ของกัญชง คือ Cannabis sativa L.subsp. sativa อยู่ในวงศ์ Cannabaceae วงศ์เดียวกับกัญชา แต่เป็นสายพันธุ์ย่อย โดยกัญชงเป็นพืชดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย และสันนิษฐานว่ามีการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างอยู่ทางตอนกลางของทวีป ตั้งแต่ทะเลสาบแคสเปียนไปจนถึงทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัยและทางตะวันตกของไซบีเรีย ก่อนจะกระจายไปในที่ต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่สูงในประเทศไทย

         ทั้งนี้ ลักษณะกัญชงจะเป็นต้นสูงเรียว ใบกัญชงเป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ลักษณะใบกัญชงเหมือนรูปฝ่ามือ ใบเป็นแฉกมีประมาณ 7-11 แฉก ต่อ 1 ใบ ขอบใบเหมือนใบเลื่อย ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ดอกกัญชงจะออกดอกตามซอกใบ ปลายยอดออกดอกเป็นช่อมีสีขาวขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนผลกัญชงมีลักษณะเป็นรูปไข่กลมรี ผิวเรียบมันมีลายสีน้ำตาล ผลเป็นเมล็ดแห้งสีเทา ภายในเมล็ดมีสารอาหารจำพวกแป้งและไขมันจำนวนมาก

กัญชง เป็นสารเสพติดหรือไม่

          เดิมทีกัญชงถูกจัดให้เป็นพืชที่อยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เนื่องจากกัญชงเป็นพืชสายพันธุ์ย่อยของกัญชาที่มีสารเสพติดออกฤทธิ์สำคัญที่ชื่อว่า เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือแม้แต่เสพ จะมีโทษทางอาญา

          แต่หลังจากที่กัญชงถูกปลดล็อกตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป กัญชงไม่ถือเป็นสารเสพติดแล้ว ยกเว้นส่วนของสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ยังคงถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ ดังนั้นการปลูกกัญชงและใช้กัญชงก็ควรระวังข้อกฎหมายในส่วนนี้ด้วย

กัญชา กัญชง ต่างกันยังไง
          กัญชงอาจมีลักษณะภายนอกค่อนข้างคล้ายกับกัญชา เพราะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกัน อยู่ในวงศ์เดียวกัน ทว่าต่างสายพันธุ์กัน และถ้าสังเกตให้ดี ๆ ลักษณะกัญชงและกัญชาก็มีความแตกต่างกัน

ใบ

          ใบกัญชงจะเรียว เรียงตัวห่างกว่าใบกัญชา เป็นแฉกมากกว่า โดยใบกัญชงมีประมาณ 7-11 แฉก มีสีเขียวอ่อน ขณะที่กัญชาจะมีใบหนากว้าง เรียงตัวชิดกัน มีแฉกประมาณ 5-7 แฉก และมีสีเขียวเข้ม
กัญชง

กัญชง

กัญชา

กัญชา

ลำต้น

          ลำต้นของกัญชงสูงเรียวมากกว่า 2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาน้อย ลำต้นเป็นปล้องหรือข้อยาว เปลือกเหนียวลอกง่าย จึงให้เส้นใยที่ยาวและมีคุณภาพสูง

          ส่วนต้นกัญชาจะมีลักษณะเป็นพุ่ม ค่อนข้างเตี้ย มักสูงไม่เกิน 2 เมตร ลำต้นเป็นปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมาก เปลือกลอกยาก ให้เส้นใยที่ยาวแต่มีคุณภาพต่ำกว่ากัญชา

เมล็ด

          เมล็ดกัญชงจะมีขนาดใหญ่ ผิวเมล็ดเรียบ และมีลายบ้าง ส่วนเมล็ดกัญชาจะมีขนาดเล็กกว่า ผิวมีลักษณะมันวาว

ปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol)

          นอกจากนี้ความแตกต่างอีกอย่างระหว่างกัญชงกับกัญชา จะดูกันที่ปริมาณสาร THC หรือสารเมา ตามกฎหมายไทย ถ้ามีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 1 ของใบหรือช่อดอกแห้ง จะเป็นกัญชง (ในอเมริกากำหนดให้ THC ต้องไม่เกินร้อยละ 0.3) แต่หากมีสาร THC เกินร้อยละ 1 จะเป็นกัญชา กรณีอยู่ในรูปของสารสกัด กัญชงต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 2 จึงจะไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

          ทั้งนี้ ปริมาณสาร THC ในกัญชง ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการปลูกด้วยเช่นกัน หากปลูกกัญชงในสภาวะที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิร้อนเกินไป อาจทำให้มีสาร THC สูงและเข้าข่ายเป็นกัญชาได้

ปริมาณสาร CBD (Cannabidiol)

          สาร CBD หรือแคนนาบินอยด์ เป็นสารที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น ช่วยลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ รักษาอาการลมชัก ฯลฯ แต่ไม่ทำให้เมา และไม่ทำให้เกิดการเสพติดเหมือนกับสาร THC ซึ่งในกัญชงจะมีสัดส่วนสาร CBD ต่อ THC สูงกว่ากัญชา โดยพบสาร CBD ในกัญชงประมาณ 2% ขึ้นไป ขณะที่ในกัญชามีสารชนิดนี้อยู่น้อยมาก ไม่ถึง 2%

          ทั้งนี้ เนื่องจากกัญชงมีสารเมาน้อย จึงมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทน้อย ดังนั้น กัญชงจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ มากกว่าใช้เป็นสารเสพติดอย่างที่กัญชาเป็น

กัญชง กับสรรพคุณทางยา
กัญชง

          อย่างที่ทราบว่า กัญชง มีสารสำคัญคือ CBD และมีสาร THC ในปริมาณน้อย หากนำมาทำเป็นสารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลัก และมี THC ไม่เกิน 0.2% ก็สามารถนำไปผลิตเป็นยาหรือยาสมุนไพรได้ โดยสรรพคุณทางยาของกัญชงที่มีการศึกษาวิจัยพบ มีดังนี้

          1. ช่วยผ่อนคลาย เพิ่มความสดชื่น

          2. แก้นอนไม่หลับ

          3. ลดอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน

          4. บำรุงโลหิต

          5. เมล็ดกัญชงมีกรดไขมันดีอย่างโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

          6. ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด

          7. กระตุ้นความอยากอาหาร

          8. ต้านการอักเสบ

          9. ต้านเชื้อจุลชีพและเชื้อรา

          10. รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด

          11. ต้านอาการโรคลมชัก

          12. รักษาโรคทางด้านประสาทต่าง ๆ

ประโยชน์ของกัญชง ที่กำลังถูกชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

กัญชง

          นอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว กัญชงยังมีประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมด้วย คือ

เปลือกและต้นกัญชง

          มีเส้นใยคุณภาพสูง ยืดหยุ่น ทนทาน แข็งแรง สามารถใช้เป็นวัตถุดิบเสื้อผ้า เสื้อเกราะ กันกระสุน เชือกต่าง ๆ โดยปัจจุบันตลาดเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับที่ผลิตจากเส้นใยกัญชงกำลังได้รับความนิยม เนื่องจากเส้นใยแข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน อบอุ่นกว่าลินิน จึงมีความเบา สวมใส่สบาย ขณะที่งานวิจัยของสถาบันฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์แห่งชาติประเทศจีน ยังพบว่า ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงเพียงครึ่งหนึ่งก็สามารถช่วยป้องกันรังสี UV ได้สูงถึง 95% ต่างกับเสื้อผ้าที่ทอด้วยผ้าประเภทอื่นจะป้องกันรังสี UV ได้เพียง 30-50% เท่านั้น

เนื้อต้นกัญชง

          ใช้ทำเยื่อกระดาษ ซึ่งมีข้อดีตรงที่ปลูกง่ายและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าพืชที่ใช้ทำกระดาษประเภทอื่น ๆ เช่น สน ยูคาลิปตัส อีกทั้งสามารถปลูกกัญชงซ้ำในพื้นที่เดิมได้ต่อเนื่องและใช้ทุนน้อย ต่างจากต้นสน ยูคาลิปตัส ที่ปลูกซ้ำได้ไม่กี่ครั้ง

เมล็ดกัญชง

          มีโปรตีนที่มีคุณภาพสูงกว่าโปรตีนถั่วเหลือง และมีไฟเบอร์สูง ราคาถูก จึงนำมาใช้เป็นอาหารทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง รวมทั้งนำเมล็ดกัญชงมาผลิตแป้งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารได้อีก ในอนาคตอาจใช้เป็นทางเลือกในการบริโภคแทนถั่วหลือง ซึ่งเป็นพืช GMOs (พืชดัดแปลงพันธุกรรม) ก็เป็นได้
น้ำมันกัญชง

น้ำมันจากเมล็ดกัญชง

          มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว น้ำมันจากเมล็ดกัญชงยังถูกนำไปผลิตเป็นสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ครีมน้ำมันเพื่อรักษาโรคผิวหนัง หรือแม้กระทั่งน้ำมันเชื้อเพลิง

          ขณะที่แกนต้นยังนำไปทำพลังงานชีวมวลได้ด้วย โดยรวมจะเห็นว่ากัญชงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบทางด้านอุตสาหกรรม และคาดว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศต่อไปในอนาคต

โทษของกัญชง ใช้ผิด ๆ ก็อันตราย

          แม้กัญชงจะมีสารเมาในปริมาณน้อย แต่หากใช้เสพด้วยการสูบอาจได้ฤทธิ์เมาที่แรงและรวดเร็วกว่าการรับประทานกัญชงเป็นอาหาร และหากเสพมาก ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หวาดระแวง กังวล และเสี่ยงซึมเศร้า เช่นเดียวกับการเสพกัญชา

กัญชง ผิดกฎหมายไหม ปลูกได้หรือเปล่า
กัญชง

          ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทุกคนสามารถปลูกกัญชงในครัวเรือนอย่างถูกกฎหมายได้ และใช้ประกอบอาหาร หรือบำรุงสุขภาพได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงคนที่จะปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ เพื่อการค้า เพียงดาวน์โหลดแอปฯ "ปลูกกัญ" แล้วจดแจ้งการปลูกกัญชงก่อนลงแปลงปลูก
อย. ปลดล็อก กัญชา กัญชง ทุกคนปลูกได้

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai

          ทว่าในกรณีที่จะจัดจำหน่ายสินค้ากัญชง ต้องยื่นขอเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์ประเภทนั้น ๆ จาก อย. ก่อนนะคะ
การนำส่วนของกัญชา กัญชง มาใช้ในอาหาร

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai

          ทั้งนี้ การปลดล็อกกัญชาและกัญชงก็เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์รับรอง ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม เพื่อนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ทั้งยา อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

          อย่างไรก็ตาม กรณีสูบหรือเสพกัญชงแล้วสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น หากมีการพบเห็นหรือร้องเรียน เจ้าหน้าที่สามารถเอาผิดได้ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ในเรื่องของกลิ่นและควันก่อความเดือดร้อนและเป็นเหตุรำคาญ

มีกัญชงไว้ในครอบครองผิดกฎหมายไหม
          การมีพืชกัญชงไว้ในครอบครองไม่มีความผิด แต่ถ้ามีสารสกัดจากที่มีปริมาณสาร THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสารสกัดนั้นมาจากนอกประเทศไทย ยังถือว่ามีความผิด
ผลิตสินค้าจากกัญชงขายเองได้ไหม

          สามารถนำกัญชงมาแปรรูป หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายได้ แต่ต้องขอเลข อย. ก่อนขาย หรือหากจะส่งออกต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศปลายทางด้วย

          พอได้รู้สรรพคุณและประโยชน์ของกัญชงไปแล้ว เชื่อว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้จะถูกนำมาทำผลิตภัณฑ์ดี ๆ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกเยอะพอสมควร แต่อย่างไรก็ดี ควรเลือกใช้กัญชงอย่างถูกต้องเหมาะสมนะคะ เพราะอย่าลืมว่าในกัญชงก็มีสารเสพติดที่อาจทำลายสุขภาพได้เหมือนกันหากใช้อย่างไม่ระวัง

บทความเรื่องกัญชง และกัญชา

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2565
 

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai (1), (2)

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Fda Thai, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2), กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงาน ป.ป.ส. (1), (2), (3), เรื่องเล่าเช้านี้, เฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศร, สถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์, ฐานข้อมูลสมุนไพรกัญชง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ราชกิจจานุเบกษา, สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรุงเทพธุรกิจ, เฟซบุ๊ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กัญชง ต่างกับกัญชาอย่างไร รู้จักพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีประโยชน์ทางยา อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2565 เวลา 14:57:43 73,526 อ่าน
TOP
x close