กัญชา กับสรรพคุณทางยาและประโยชน์ในการรักษาโรค

          กัญชา สรรพคุณทางการแพทย์ดีอย่างไร ทำไมถึงได้รับการปลดล็อกให้เป็นกัญชาเสรี แล้วกัญชาช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้างนะ มาทำความเข้าใจกัน

กัญชา

          หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กัญชา และ กัญชง จะพ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ทำให้เราสามารถนำบางส่วนของกัญชาและกัญชงไปใช้ประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ทางการแพทย์ และนำไปประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ และหลายคนคงอยากทราบสรรพคุณของกัญชา ว่ามีประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างไรแล้วใช่ไหม งั้นตามมาอ่านกัน

รู้จักกัญชา ว่าที่พืชเศรษฐกิจไทย


          กัญชาจัดเป็นพืชดอกในตระกูล Cannabaceae มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง แต่ในปัจจุบันมีการปลูกในหลายพื้นที่ หลายประเทศ โดยกัญชาภาษาอังกฤษเรียกว่า cannabis, Marijuana, Ganja, Hemp เป็นต้น

กัญชา
 
          กัญชา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subs indica เป็นพืชที่มีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกกัน โดยสารสำคัญในกัญชาคือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol-CBD) ซึ่งมีมากกว่า 100 ตัว อีกทั้งยังมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol-THC) อยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา เป็นสารสำคัญที่พบว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็มีผลกระตุ้นระบบประสาท ดังนั้น กัญชาจึงเป็นพืชที่ควรใช้อย่างระมัดระวัง

        ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ประมาณ 60% และปัจจุบันเริ่มมีบริษัทในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกสนใจใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์บ้างแล้ว จึงคาดว่าในอนาคต มูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและกระจายไปในหลายธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็นับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกกฎหมาย

ปลดล็อกกัญชาพ้นยาเสพติด = ใช้ได้ถูกกฎหมายจริงหรือ


          แม้ว่าหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กัญชาและกัญชงจะถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 จริง และมีผลให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด แต่ก็ยังยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก จะถือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่

          ทั้งนี้ การปลดล็อกดังกล่าวเพื่อให้นำกัญชาไปใช้ประโยชน์ได้ 5 เป้าหมาย คือ

          1. ปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ Health&Medical

          2. ปลูกเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพร และอาหาร รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรม Beauty/Product & Innovation

          3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง

          4. ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทั้งพืช และผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง

          5. คุ้มครองประชาชน ซึ่งอาจจะได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และป้องกันการใช้กัญชา กัญชง ในทางที่ผิด

          เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประชาชนสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ การประกอบอาหาร ได้ตามเป้าหมายข้างต้น แต่กัญชาหรือกัญชงที่นำมารับประทานหรือนำมาใช้จะต้องมีสาร THC ซึ่งเป็นสารเสพติดไม่เกิน 0.2%

          อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ต้องระวังคือ ช่อดอกกัญชา เพราะมีสาร THC สูงมาก ดังนั้นในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกมาบังคับใช้ รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชงขึ้นมากำกับดูแลเบื้องต้นว่าอะไรทำได้-ไม่ได้บ้าง เช่น ออกแนวทางการใช้ช่อดอกกัญชาที่ต้องระวัง ควบคุมการสูบ เสพ ไม่ให้สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น หรือห้ามเสพแล้วขับรถ ห้ามขายกัญชา กัญชง ให้เด็กและสตรีมีครรภ์ เป็นต้น

          ส่วนกรณีนำเข้ากัญชาในส่วนของเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง รวมไปถึงส่วนอื่น ๆ ของพืช เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ก็ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดแล้ว แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507

          ทว่า สารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศจะจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด

ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม


          เนื่องจากการใช้กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษที่อาจส่งผลกระทบต่อคนบางกลุ่ม ดังนั้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศ กำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม โดยมีข้อกำหนดสำคัญคือ

          - ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร ครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชา
          - ไม่อนุญาตให้สูบกัญชาในที่สาธารณะ
          - ไม่อนุญาตให้จำหน่ายกัญชาให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลายภาคส่วนมีความกังวลเรื่องการใช้ช่อดอกกัญชา จึงได้มีการปรับปรุงประกาศสาธารณสุขอีกครั้ง ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 โดยระบุให้เฉพาะ "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากส่วนของช่อดอกกัญชา ไม่ให้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร โดยมีสาระสำคัญคือ

          - ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 โดยผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูลต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนดด้วย ในส่วนของผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออก ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง
 
          - ผู้ที่ได้รับอนุญาตเพื่อศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า ตามมาตรา 46 อยู่ก่อนประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศฉบับใหม่
 
          - ห้ามจำหน่ายหรือแปรรูปช่อดอกของกัญชาเพื่อการค้า ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา
 
          - ห้ามจำหน่ายช่อดอกของกัญชาในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
 
          - ห้ามจำหน่ายช่อดอกของกัญชา หรือสินค้าที่แปรรูปจากช่อดอกกัญชาผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
 
          - ห้ามโฆษณาทุกช่องทางเพื่อการค้า
 
          - ห้ามจำหน่ายช่อดอกของกัญชา หรือสินค้าที่แปรรูปจากช่อดอกกัญชาในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพีธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก

ปลูกกัญชาในบ้านได้ไหม ไม่ขออนุญาตผิดกฎหมายหรือเปล่า


กัญชา
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai

          นับจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หลังจากปลดล็อกกัญชาและกัญชงแล้ว ประชาชนจะสามารถปลูกพืชกัญชา-กัญชงในครัวเรือนที่มีรั้วรอบขอบชิดได้ โดยจะปลูกกี่ต้นก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องทำการจดแจ้งผ่านทางแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”  

          ส่วนการปลูกเชิงพาณิชย์ก็ไม่ต้องขออนุญาตเช่นกัน แต่ให้จดแจ้งในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ให้เรียบร้อย และก่อนจะใช้ ก่อนแปรรูป หรือนำกัญชาไปทำผลิตภัณฑ์ใด ๆ จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารต้องทำตาม พ.ร.บ.อาหาร ยาต้องทำตาม พ.ร.บ.ยา เครื่องสำอางต้องทำตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง โดยก่อนวางจำหน่ายก็ต้องมีเลขจดแจ้งตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทั่วไปด้วย

กัญชา
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai

ลงทะเบียนปลูกกัญชา ทำอย่างไร


          หากต้องการปลูกกัญชา สามารถทำการจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ปลูกกัญ หรือที่เว็บไซต์ plookganja ได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยมี 3 ขั้นตอนตามนี้

กัญชา
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai

กัญชา รักษาโรคอะไรได้บ้าง


          สารสกัดกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

1. กลุ่มที่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนชัดเจนว่าได้ประโยชน์ในการรักษา ได้แก่

         * ลดอาการคลื่นไส้-อาเจียน ในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัด

          ภญ. ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ประโยชน์ของกัญชามีฤทธิ์ต้านอาเจียน ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

          ทั้งนี้ ยังมีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วคลื่นไส้-อาเจียน

         * รักษาโรคลมชัก

          มีงานวิจัยที่ระบุว่า กัญชามีสรรพคุณรักษาโรคลมชักในเด็กที่รักษายาก หรือในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ

         * รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

          ในงานวิจัยมีการระบุสรรพคุณของกัญชาที่ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือโรคเอ็มเอส

         * ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล

          โดยผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล มีงานวิจัยที่ระบุว่า สารสกัดจากกัญชาอาจช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยได้ ซึ่งข้อมูลจากวารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ระบุว่า สาร THC ในกัญชามีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ และยาต้านออกซิเดชั่น

         * ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีน้ำหนักน้อย

         * การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต



2. กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล ได้แก่

          * โรคพาร์กินสัน
          * โรคอัลไซเมอร์
          * โรควิตกกังวล ซึ่งพบว่าในตำรับยาแพทย์แผนไทยมีการนำกัญชามาเป็นยาอยู่หลายตำรับ โดยเฉพาะยานอนหลับที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
          * โรคปลอกประสาทอักเสบ
          * ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง
          * ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
          * โรคอื่น ๆ ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการว่าน่าจะได้ประโยชน์


3. กลุ่มที่อาจมีประโยชน์ทางการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลงานวิจัยชัดเจน ซึ่งต้องศึกษาวิจัยต่อไป ได้แก่ การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
 
          เช่น กรณีที่สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า สารสกัดกัญชาอาจช่วยรักษามะเร็งปอดได้ เพราะงานวิจัยพบว่า สารในกัญชาส่งผลให้ก้อนมะเร็งปอดในตัวหนูทดลองเล็กลงได้ โดยในการศึกษาได้นำสาร THC และสาร CBN ซึ่งเป็นสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา ฉีดลงไปที่เซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลองทุกวัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ กระทั่งพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสาร THC และสาร CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กลง จึงสรุปได้ว่า สารทั้ง 2 ตัวมีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง (อ่านข่าว ม.รังสิต แถลงผลวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ พบสารในกัญชา ช่วยให้ก้อนมะเร็งปอดลดลง)

          อย่างไรก็ตาม สรรพคุณของกัญชายังจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงฤทธิ์ของกัญชาเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และเลี่ยงผลข้างเคียงของกัญชาที่อาจเกิดขึ้นได้ 

กัญชา

กัญชา ในตำรับยาแพทย์แผนไทย


          จากข้อมูลในตำราพระโอสถพระนารายณ์ และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พบข้อมูลตำรับยาไทยที่เข้ากัญชาอยู่หลายตำรับ ซึ่งรวบรวมมาจากพระคัมภีร์หลายฉบับ แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กัญชาประกอบเป็นตัวยาเพื่อบำบัดรักษาอาการป่วยต่าง ๆ มานานหลายร้อยปีแล้ว

          ทั้งนี้ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้ยกตัวอย่างสรรพคุณตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เช่น

          - ตำรับศุขไสยาศน์ มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย แก้ปวด เจริญอาหาร ซึ่งนำมาใช้ทดแทนหรือเสริมกับยาแผนปัจจุบันในกลุ่มยานอนหลับ ยาคลายเครียด

          - ตำรับทำลายพระสุเมรุ มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการแข็งเกร็งจากอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

          - ตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ ช่วยเรื่องท้องมาน ท้องบวม คลายลมในท้อง ท้องอืดจากโรคมะเร็งตับ ใช้ทาบริเวณท้อง

          - ตำรับทัพยาธิคุณ ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน ลดน้ำตาล
        
          นอกจากนี้ยังมีตำรับยาแพทย์แผนไทยอีกหลายชนิดที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

สรรพคุณกัญชา

          อีกทั้งทาง สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้ขยายสิทธิประโยชน์บัตรทองให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายยาแผนไทยที่มีส่วนผสมกัญชา 3 รายการ คือ ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ เพื่อบรรเทาอาการป่วย และเพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น


น้ำมันกัญชาที่ได้รับการรับรองแล้ว มีอะไรบ้าง


         สำหรับน้ำมันกัญชา หรือตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสม และได้รับการรับรองแล้ว อาทิ

         1. น้ำมันกัญชา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยมีหลายตำรับ เช่น น้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น, น้ำมันกัญชาทั้ง 5 (สูตรรับประทาน) อภัยภูเบศร, ศุขไสยาศน์ (แคปซูล) กัญชา เป็นต้น

         2. น้ำมันกัญชา อ.เดชา หรือน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เป็นตำรับยาพื้นบ้านที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศภายใต้การรักษาโรค กรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย

คลินิกกัญชาทางการแพทย์ มีที่ไหนบ้าง


          ปัจจุบันมีหลายที่ที่ให้บริการคลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนปัจจุบัน คลินิกให้คำปรึกษา โดยสามารถค้นหาคลินิกกัญชาทางการแพทย์ได้ ที่นี่ หรือ คลิก แล้วเลือกแท็บ “ค้นหารายชื่อสถานพยาบาลที่เปิดบริการคลินิคกัญชา”

อาการข้างเคียงที่พบจากการใช้สารสกัดกัญชา


          1. หากพบอาการเหล่านี้ควรลดขนาดการใช้ : มึน/เวียนศีรษะ, ร่างกายเสียความสมดุล, หัวใจเต้นเร็วขึ้น/ช้าลง, ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ

          2. หากพบอาการเหล่านี้ควรหยุดใช้ : สับสน, กระวนกระวาย, วิตกกังวล, ประสาทหลอน, โรคจิต

ใครไม่ควรใช้กัญชา


          - เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะกัญชามีผลต่อสมอง
          - หญิงกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบสาร Cannabinoids ในน้ำนมแม่ได้
          - ผู้มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตัวเอง
          - ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตจากสารเสพติด โรคจิตเภท หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน โรควิตกกังวล เพราะสาร THC จะออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท
          - ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
          - ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต ที่มีอาการรุนแรง
          - มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่น ๆ และ/หรือสารที่เป็นตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด

ใช้กัญชารักษาโรคเองได้หรือไม่


          ไม่ควรใช้กัญชารักษาโรคเอง เพราะไม่สามารถกำหนดความเข้มข้นของปริมาณสารกัญชาที่ใช้ได้ เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ มองเห็นสีผิดปกติ คลื่นไส้ ความจำลดลง ความดันโลหิตต่ำ ปากแห้ง เกิดความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาตลอดนั้นห้ามหยุดยา แล้วหันมาใช้ยากัญชาในการรักษา เพราะจะทำให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิต

โทษของกัญชากับเรื่องสุขภาพที่ควรระวัง


          กัญชาถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมาย เนื่องจากกัญชาถือเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาท ในกรณีที่ใช้เกินกำหนดและไม่ถูกวิธี เพราะสาร THC ในกัญชาสามารถออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท โดยสารดังกล่าวจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมองอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดโทษและอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ทำให้ผู้เสพรู้สึกตื่นเต้น ช่างพูด กระสับกระส่าย และหัวเราะตลอดเวลา ก่อนจะกดประสาททำให้มีอาการซึมเศร้า ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปากแห้ง ตอบสนองช้าลง หากเสพเข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะหลอนประสาท ทำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้
        
          นอกจากนี้ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้เผยผลการสำรวจที่พบว่า ผู้ป่วยเสพติดกัญชามีการเกิดโรคจิตเวชสูงถึงร้อยละ 72.3 รวมไปถึงความเสี่ยงโรคจิต อารมณ์แปรปรวน และโรควิตกกังวล สูงขึ้นด้วย

กัญชา

          สรุปได้ว่า แม้จะมีการปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 แล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนบางข้อกำหนดที่ยังคงถูกควบคุมตามกฎหมาย ดังนั้นควรศึกษาเงื่อนไขและข้อกฎหมายดี ๆ หรือถ้าจะปลูกในบ้านก็อย่าลืมโหลดแอปฯ แล้วลงทะเบียนจดแจ้งด้วยนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับกัญชา



ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก FDA Thai
ขอบคุณข้อมูลจาก : ราชกิจจานุเบกษา,ราชกิจจานุเบกษา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, voice tv, ไทยพีบีเอส, คมชัดลึก, ไทยโพสต์, วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน, องค์การเภสัชกรรม, เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์, คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์, กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงาน ป.ป.ส., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) (1), (2), (3), สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพธุรกิจ, bbc.com, ฐานเศรษฐกิจ, ราชกิจจานุเบกษา, hfocus.org  


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กัญชา กับสรรพคุณทางยาและประโยชน์ในการรักษาโรค อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11:18:07 356,167 อ่าน
TOP
x close