เปิด 3 ตำรับยาแผนไทยผสมกัญชา ที่คนมีสิทธิบัตรทองก็เบิกได้

          ส่องสรรพคุณและการใช้ยาแผนไทยผสมกัญชา 3 รายการ ที่ สปสช. ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเบิกได้แล้ว
ยาแผนไทยผสมกัญชา

          ทราบไหมคะว่านับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้ที่มีสิทธิบัตรทองในการรักษาจะสามารถเบิกค่ายาแผนไทยที่มีส่วนผสมกัญชา 3 รายการ คือ ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ มาบรรเทาอาการป่วยได้ ในกรณีที่แพทย์เป็นคนสั่งจ่ายให้ เนื่องจากทาง สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ขยายสิทธิประโยชน์บัตรทองหลังประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

          ดังนั้นเพื่อทำความรู้จักยาแผนไทยผสมกัญชา 3 ตำรับดังที่ว่าให้มากขึ้น เรามาเปิดสรรพคุณกันดีกว่าว่าแต่ละตำรับยามีประโยชน์ในการรักษาโรคด้านไหนกันบ้าง

เจาะสรรพคุณ 3 ตำรับยาแผนไทยผสมกัญชา

1. ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น

ยาแผนไทยผสมกัญชา

ภาพจาก : คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์

สรรพคุณยา :

          เป็นยาแผนไทยจากตำรับยาเวชศาสตร์วัณ์ณณา เล่ม 5 ที่ผลิตมาในรูปแบบยาผง ยาแคปซูล สำหรับแก้ลมในเส้น บรรเทาอาการมือ เท้า ชา อ่อนแรง โดยมีตัวยา 7 ชนิด รวมน้ำหนัก 75 ส่วน ได้แก่ เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนข้าวเปลือก, ขิง, เจตมูลเพลิงแดง, ใบกัญชา และพริกไทย

ขนาดและวิธีใช้ :

          รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น โดยสามารถผสม (น้ำกระสายยา) ด้วยน้ำผึ้งรวง น้ำส้มซ่า หรือใช้น้ำสุกแทนได้

ข้อห้ามใช้ :

  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร 
  • ห้ามใช้ในผู้มีไข้ 
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ข้อควรระวัง :

  • ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยา Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง
  • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุ

2. ตำรับยาศุขไสยาศน์

ยาแผนไทยผสมกัญชา

ภาพจาก : คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์

สรรพคุณยา :

          ยาศุขไสยาศน์เป็นยาแผนไทยในตำรับยาคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ประกอบไปด้วยตัวยาสมุนไพร 12 ชนิด รวมน้ำหนัก 78 ส่วน ได้แก่ การบูร, ใบสะเดา, หัสคุณเทศ, สมุลแว้ง, เทียนดำ, โกฐกระดูก, ลูกจันทน์, ดอกบุนนาค, พริกไทย, ขิงแห้ง, ดีปลี และใบกัญชา มีสรรพคุณแก้ลมเปลี่ยวดำ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร

ขนาดและวิธีใช้ :

          รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน โดยสามารถผสม (น้ำกระสายยา) ด้วยน้ำผึ้งรวง หรือใช้น้ำสุกแทนได้

ข้อห้ามใช้ :

  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร 
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีไข้ 
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ และยาต้านการชัก รวมทั้งแอลกอฮอล์ หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่

ข้อควรระวัง :

  • ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยา Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
  • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
  • ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล เพราะยานี้อาจทำให้ง่วงซึมได้

3. ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ

ยาแผนไทยผสมกัญชา

ภาพจาก : คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์

สรรพคุณยา :

          เป็นยาแผนไทยในตำรับคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 2 ในรูปแบบยาผง ยาแคปซูล มีสรรพคุณแก้ลมจุกเสียด เมื่อยขบตามร่างกาย แก้ปวดกล้ามเนื้อ คลายกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งจากโรคลมอัมพฤกษ์ อัมพาต แก้โรคผิวหนัง ลมชัก ปากเบี้ยว ตาแหก แก้ริดสีดวงทวาร และแก้โรคเสมหะโลหิตเรื้อรัง โดยมีตัวยา 23 ชนิด รวมน้ำหนัก 1,338.75 กรัม ได้แก่ ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, กระวาน, กานพลู, เกลือสินเธาว์, ดีปลี, ว่านน้ำ, โกฐสอ, โกฐเขมา, เทียนดำ, เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนตาตั๊กแตน, เทียนข้าวเปลือก, ขิงแห้ง, กัญชา, เจตมูลเพลิง, บุกรอ, สมอไทย, สมอเทศ, การบูร, หัสคุณเทศ และพริกไทยล่อน

ขนาดและวิธีใช้ :

          รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น โดยสามารถผสม (น้ำกระสายยา) ด้วยน้ำอ้อยแดง น้ำนมโค หรือใช้น้ำสุกแทนได้

ข้อห้ามใช้ :

  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร 
  • ห้ามใช้ในผู้มีไข้ 
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ข้อควรระวัง :

  • ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยา Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง
  • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุ
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
          เชื่อว่าในอนาคตเราคงจะได้ใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมกันมากกว่านี้แน่ ๆ เพราะจริง ๆ แล้วกัญชาก็เป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลากหลาย ในกรณีที่ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และใช้อย่างถูกปริมาณและถูกวิธีนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับกัญชา

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (1), (2), (3), สปสช.
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด 3 ตำรับยาแผนไทยผสมกัญชา ที่คนมีสิทธิบัตรทองก็เบิกได้ อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 15:10:47 28,899 อ่าน
TOP
x close