ยาหม่องไม่ช่วยแก้ฟกช้ำ มาจำใหม่และใช้อย่างถูกต้อง

           เรื่องน่ารู้ของยาหม่องที่คนเข้าใจผิดมาตลอดว่าใช้รักษาแผลฟกช้ำได้ ทั้งที่จริงแล้วการใช้ยาหม่องแบบนี้มีอันตรายแฝงอยู่
          การใช้ยาหม่องอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวและดูไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอะไร ทว่าเอาเข้าจริง ๆ เราอาจใช้ยาหม่องอย่างไม่ถูกไม่ควรกันอยู่ก็เป็นได้ อย่างบางคนมีวิธีรักษารอยช้ำด้วยการใช้ยาหม่องแก้ฟกช้ำ ทาแผลสด หรือใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งการใช้ยาหม่องแบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าจะช่วยรักษา ดังนั้นตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป รีเซตความรู้ใหม่ แล้วมาดูวิธีใช้ยาหม่องที่ถูกต้องกันเถอะ

ยาหม่อง มีตัวยาอะไรบ้าง

ยาหม่อง

          ยาหม่อง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Balm จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในยุคนั้นจะเรียกกันว่า ขี้ผึ้งทาแก้ปวดบวม ซึ่งส่วนประกอบหลัก ๆ ของยาหม่องก็จะมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Substance) และสารสกัดจากสมุนไพรเป็นตัวยาสำคัญ เช่น เมนทอล การบูร พิมเสน พาราฟิน น้ำมันกานพลู น้ำมันระกำ น้ำมันอบเชย น้ำมันยูคาลิปตัส หรือบางสูตรก็จะผสมสารเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเพิ่มเข้าไปด้วย

          ทั้งนี้ ยาหม่องในปัจจุบันมีทั้งชนิดขี้ผึ้ง และยาหม่องน้ำ อีกทั้งยังมีการจำแนกประเภทเป็นยาหม่องสำหรับทาถู และยาหม่องสำหรับสูดดมด้วย

สรรพคุณของยาหม่อง แก้อะไรได้บ้าง

           สรรพคุณของยาหม่อง ทำให้เกิดความร้อนในบริเวณที่ทา กระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว จึงช่วยบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ อันเนื่องมาจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และหากเป็นยาหม่องสำหรับสูดดม ก็สามารถใช้สูดดมแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลมได้

ยาหม่องทาแผลสดได้ไหม

          บางคนใช้ยาหม่องทาแผลสด เช่น แผลแมวข่วน แผลสุนัขกัด หรือแผลรองเท้ากัด ซึ่งไม่ควรใช้ยาหม่องทาแผลสดเหล่านี้นะคะ เพราะยาหม่องมีฤทธิ์ร้อน อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทาเกิดอาการระคายเคือง แสบ แดง คัน แพ้ รวมไปถึงสรรพคุณขยายหลอดเลือดของยาหม่องอาจกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และอาจทำให้แผลยิ่งหายช้ากว่าปกติ

ใช้ยาหม่องแก้ฟกช้ำได้ไหม

ยาหม่อง

          อาการฟกช้ำเกิดจากหลอดเลือดใต้ผิวหนังแตกและขยายตัว ทำให้เลือดคั่งใต้ผิวหนังจนเราเห็นเป็นรอยจ้ำสีเขียวหรือสีม่วง ซึ่งหากทายาหม่องแก้ฟกช้ำ ความร้อนของยาหม่องอาจกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัวยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้เลือดมารวมตัวกันมากขึ้น ทำให้อาการฟกช้ำแย่ลงได้ ดังนั้นไม่ควรใช้ยาหม่องทาแก้ฟกช้ำดำเขียว แต่ควรประคบเย็นที่รอยช้ำใน 48 ชั่วโมงแรก เพื่อให้หลอดเลือดฝอยหดตัว จากนั้นจึงประคบร้อนต่อใน 48 ชั่วโมงให้หลัง เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ

วิธีใช้ยาหม่องที่ถูกต้อง

การใช้ยาหม่องที่ถูกต้อง มีข้อปฏิบัติดังนี้

          1. เลือกใช้ยาหม่องให้ถูกชนิด เช่น หากใช้ทาควรเลือกแบบทาถู หรือใช้แก้เป็นลมควรเลือกยาหม่องแบบสูดดม

          2. ทายาหม่องสูตรทาถูเมื่อมีอาการปวดเมื่อย หรือมีแมลงสัตว์กัดต่อยที่ไม่มีอาการแพ้ บวม แดง ร้อน ในปริมาณที่เหมาะสม

          3. สำหรับยาหม่องสูตรสูดดม ควรดมเฉพาะตอนมีอาการวิงเวียน หน้ามืด คล้ายจะเป็นลมเท่านั้น

          4. ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ในกรณีที่ใช้ยาหม่องเป็นครั้งแรก

          5. ควรล้างมือก่อนและหลังทายาหม่องทุกครั้ง

          6. หากมีอาการแพ้ยาหม่อง เช่น ผิวหนังเป็นรอยแดง แสบร้อนที่ผิว ผื่นขึ้น ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดโดยทันที และหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์

          7. เก็บยาหม่องในอุณหภูมิห้อง ที่ไม่โดนแสงแดด และปิดฝายาหม่องให้สนิททุกครั้งหลังใช้

ข้อควรระวังในการใช้ยาหม่อง

          แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่ยาหม่องก็มีข้อควรระวังในการใช้เพื่อความปลอดภัย ดังนี้

          1. ควรใช้ยาหม่องในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรโปะยาหม่องมากเกินไป

          2. ไม่ควรใช้ยาหม่องกับเด็กทารก หรือทายาหม่องบริเวณผิวที่บอบบาง

          3. ในกรณีที่แมลงสัตว์กัดต่อยแล้วมีอาการแพ้ ปวดแสบปวดร้อน บวมแดง อักเสบ ไม่ควรทายาหม่องลดปวด เพราะอาจกระตุ้นให้อาการแพ้รุนแรงได้

          4. ไม่ควรใช้ยาหม่องทาแผลเพื่อลดอาการคัน เพราะจะทำให้ผิวหนังแสบ บอบช้ำและเกิดอาการแพ้ได้

          5. หลีกเลี่ยงการทายาหม่องบริเวณตา หรือบริเวณจมูก

          6. ไม่ควรสูดดมยาหม่องบ่อย ๆ

          7. ไม่ควรนำยาหม่องที่ใช้ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยมาสูดดม เพราะจะมีตัวยาที่อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองทางเดินหายใจ

          8. ใช้ยาหม่องกับผิวภายนอกเท่านั้น ห้ามกินยาหม่องเด็ดขาด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อใช้ยาหม่องผิดวิธี

ยาหม่อง

          ขอเตือนตรงนี้เลยว่าอย่าใช้ยาหม่องผิดวิธี เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงตามนี้ได้เลยนะ

          * อาจมีอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง หรือผิวไหม้ได้ หากใช้ยาหม่องในปริมาณมาก หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

          * อาจเกิดอาการแพ้ หากใช้ยาหม่องกับเด็กทารก หรือทายาหม่องบริเวณผิวที่บอบบาง

          * เกิดอาการระคายเคือง แสบ คัน หรือหวิดตาบอดหากใช้ยาหม่องทาที่ตา หรือถ้าทาจมูกก็อาจแสบร้อนบริเวณจมูก

          * หากสูดดมยาหม่องบ่อย ๆ โดยเฉพาะยาหม่องที่มีส่วนผสมของสารเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) เป็นส่วนประกอบหลัก อาจเกิดอาการระคายเคืองต่อทางเดินระบบหายใจและเยื่อบุจมูกได้ นอกจากนี้การสูดดมเมนทอลในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้มีอาการมึนงง สับสน มองเห็นภาพซ้อน หรือร้ายแรงถึงขั้นกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้เลย
 

ติดยาดม อันตรายไหม อยากใช้อย่างสบายใจเรื่องแบบนี้ต้องรู้

กินยาหม่อง อันตรายไหม

          ย้ำกันอีกทีว่ายาหม่องเป็นยาที่ใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน เพราะเคยมีรายงานว่า เด็กทารกที่เผลอกินสารประกอบการบูรเข้าไป มีอาการชัก ดังนั้น ยาหม่องที่มีสารระเหยการบูร สารอื่น ๆ และตัวยาที่หลากหลาย ก็ไม่ควรรับประทานไม่ว่ากรณีใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเรา หรือหากบังเอิญกินยาหม่องเข้าไปก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ยาหม่องเข้าตา ปฐมพยาบาลอย่างไรดี

          หากยาหม่องเข้าตา ควรปฐมพยาบาลตามนี้

          1. ใช้น้ำสะอาดล้างตาให้เร็วที่สุด และล้างน้ำให้มากที่สุด

          2. หากล้างตาแล้วยังมีอาการเคืองตาอยู่ หรือมีอาการรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ พร้อมนำยาหม่องไปให้แพทย์ดูด้วย

          อย่างไรก็ตาม การทายาหม่องที่ผิวอาจรู้สึกร้อน ๆ เย็น ๆ บ้างเล็กน้อย แต่สักพักอาการจะกลับไปเป็นปกติ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่น่ากังวลใจ แต่หากมีอาการแพ้ บวม แดง หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ด้วยนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สำนักคณะกรรมการอาหารและยา
กองยา อย.
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตู้ยาโรงเรียน
siamchemi
คู่มือสุขภาพตาดี
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาหม่องไม่ช่วยแก้ฟกช้ำ มาจำใหม่และใช้อย่างถูกต้อง อัปเดตล่าสุด 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:36:12 73,413 อ่าน
TOP
x close