สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ค่อนข้างตึงเครียดทีเดียว เมื่อยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาไม่มีเตียงโรงพยาบาลเพื่อพักรักษาตัว จึงต้องกักตัวรอเตียงอยู่ที่บ้านหรือหอพักของตัวเอง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน-ในหอเดียวกัน
แล้วถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิดที่เจอปัญหานี้ เราต้องทำอะไรบ้าง จะสามารถรักษาอาการโควิดเบื้องต้นได้อย่างไร แล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี เพื่อไม่ให้คนในครอบครัวสัมผัสเชื้อไวรัส ตามมาอ่านคำแนะนำได้เลย
ติดโควิด แต่ไม่มีเตียง ทำยังไง
หลายคนอาจสงสัยว่า กรณีที่เราติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ จะสามารถพักรักษาตัวอยู่ในบ้านได้ไหม เหมือนกับผู้ติดเชื้อในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ก็พักรักษาตัวอยู่ในบ้านจนหายกลับมาเป็นปกติ
ประเด็นนี้ต้องบอกว่า ตามข้อกำหนดเดิมคือ ทุกคนที่ติดเชื้อแม้จะไม่มีอาการจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ถึงแม้ว่าผู้ป่วยบางคนจะไม่แสดงอาการ แต่ก็อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม วันใดวันหนึ่งขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์และเจ้าหน้าที่ หากเกิดกรณีเชื้อลงปอดหรือทรุดหนักจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดระบบและส่งตัวเข้าพักในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ได้ทัน ดังนั้น หากใครมีผลตรวจยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา และยังไม่มีเตียง ให้รีบดำเนินการดังนี้
1. เตรียมเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารรับรองผลว่าติดเชื้อโควิด หากไม่มีผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือจะไม่สามารถรับตัวไปรักษาได้
2. โทร. เข้าสายด่วนเฉพาะกิจเพื่อประสานหาเตียงได้ที่
- เบอร์โทร. 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ
- เบอร์โทร. 1668 กรมการแพทย์ หรือ
- เบอร์โทร. 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ
- ใช้แอปพลิเคชันไลน์ "สบายดีบอต" (@sabaideebot)
โดยแจ้งรายละเอียดการเข้ารับการรักษาและเบอร์โทรศัพท์ของตัวเองให้หน่วยงานรับเรื่องไว้ ทั้งนี้ ถ้าโทร. ไปแล้วครั้งหนึ่ง และอยู่ระหว่างรอประสานหาเตียง ไม่จำเป็นต้องโทร. ไปสายด่วนอื่น ๆ ซ้ำนะคะ เพราะจะทำให้ข้อมูลซ้ำซ้อนกัน
3. หากทางโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลสนาม หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจต่าง ๆ มีเตียงว่างเพียงพอที่สามารถรองรับได้ ก็จะส่งรถพยาบาลมารับตัวไปเข้ารับการรักษาทันที แต่หากยังไม่มีเตียงให้รออยู่ที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะโทร. มาสอบถามอาการเป็นระยะระหว่างรอการเคลื่อนย้าย
นอกจากภาครัฐแล้ว ยังมีภาคเอกชน และเพจดัง รวมกลุ่มประสานหาเตียงและรถพยาบาลให้ผู้ป่วย อาทิ
- ไทยพีบีเอส โทร. 0-2790-2111 (ทุกวัน 09.00-16.00 น.) หรือไลน์ @RongTookThaiPBS
- เพจ เราต้องรอด ของ จ๊ะ นงผณี นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง และ ได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ หรือ Line @iwillsurvive
- เพจ Drama-addict สามารถเข้าไปกรอกข้อมูลขอความช่วยเหลือได้
- เพจหมอแล็บแพนด้า
- เพจเส้นด้าย-Zendai
- BACK HOME - กลับบ้าน : Line @backhome
- เพจไทยรัฐนิวส์โชว์หาเตียง
- เพจไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง
- เพจองค์กรทำดี โดย ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี และทีมงาน
- เพจช่วยกล้า หาเตียง ของพรรคกล้า
- IG แอร์ ภัณฑิลา
- โครงการเป็นโควิดต้องมีที่รักษา ของณวัฒน์ อิสรไกรศีล
- เพจโควิดติดล้อถึงเตียง โดย พล.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา
- เพจใครติดสะกิดมาร์ท ของคุณอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย
- พรรคประชาธิปัตย์ โดย ดร.พนาสิน จึงสวนันทน์ : Line @peakpanasin
- เว็บไซต์ Thai care
- มูลนิธิกระจกเงา โทร. 0-6190-9184-0
- เพจ ต้องรอด Up for Thai
- เพจ ปันปัน
- เพจ อีจัน
- เว็บไซต์ WE HELP MED รวมเบอร์ติดต่อหน่วยงานประสานหาเตียง
- เมื่อตรวจพบว่ามีเชื้อ โดยหลักการแล้วตรวจที่ไหน โรงพยาบาลนั้นจะหาเตียงให้ก่อน
- หากโรงพยาบาลไม่มีเตียงก็จะหาเตียงในโรงพยาบาลเครือข่าย
- ถ้าโรงพยาบาลเครือข่ายไม่มีเตียง ก็หานอกเครือข่ายผ่านศูนย์ประสานจัดหาเตียง
ทั้งนี้ ยังต้องแบ่งตามอาการป่วย ณ ขณะนั้นด้วย ดังนี้
1. กลุ่มสีเขียว : ส่วนใหญ่ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หรือ Home isolation
- เป็นผู้ป่วยไม่มีอาการ
- มีไข้ หรือวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
- ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง ผื่น
- ถ่ายเหลว
- ไม่มีอาการหายใจเร็ว
- ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย
- ไม่มีอาการหายใจลำบาก
- ไม่มีปอดอักเสบ
- ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง / โรคร่วมสำคัญ
2. กลุ่มสีเหลือง : เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
1. อายุมากกว่า 60 ปี
2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (รวมโรคปอดอื่น ๆ)
3. โรคไตเรื้อรัง
4. โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด)
5. โรคหลอดเลือดสมอง
6. เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
7. ภาวะอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม
8. ตับแข็ง
9. ภูมิคุ้มกันต่ำ (เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 1,000 cell/mms)
3. กลุ่มสีแดง : เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก
- ซึม เรียกไม่รู้ตัว ตอบสนองช้า
- เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง หรือมีภาวะปอดบวม (ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือความอิ่มตัวของเลือดลดลงมากกว่า 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกหลังออกแรง (Exercise - induced Hypoxemia)
ใครสามารถรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้บ้าง
- ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- เป็นผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ม.2 หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.)
- ไม่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
- ผู้ป่วยต้องยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด
แนวทางปฏิบัติ Home Isolation
- โรงพยาบาลจะแจกปรอทวัดไข้ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด ให้วัดผลวันละ 2 ครั้ง และรายงานผลให้แพทย์ทราบ
- หากแพทย์สงสัยสามารถสั่งให้ผู้ป่วยวัดใหม่ได้ เช่น สั่งให้ออกกำลังกายก่อนวัดปริมาณออกซิเจน ถ้าลดลงอาจจะส่งผลต่อการทำงานของปอด หรือมีอาการอื่นที่น่าสงสัยอาจจะสั่งให้รถพยาบาลมารับไปเอกซเรย์ปอดเพิ่มเติม
- แพทย์ติดต่อสอบถามอาการจากผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง ผ่านโทรศัพท์หรือวิดีโอคอล
- หากไม่มีอาการและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้กินที่บ้าน และให้ยาพื้นฐานอื่น ๆ
- สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแต่เริ่มแสดงอาการ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กินที่บ้าน
- โรงพยาบาลจะจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยถึงบ้านครบ 3 มื้อ
- ถ้ามีอาการทรุดลง โรงพยาบาลจะรีบประสานหาเตียงและส่งรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวโดยเร็ว
ผู้ป่วยควรวัดอุณหภูมิร่างกาย และวัดระดับออกซิเจนของตัวเองทุกวัน และถ้ามีอาการอื่น ๆ ที่ไม่รุนแรงร่วมด้วยก็สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้
หากมีไข้ขึ้นสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- รับประทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือกินตามน้ำหนัก โดยสามารถกินได้ 10-15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง แต่ถ้าแพ้ยาพาราเซตามอลให้เช็ดตัวแทน
- ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยากลุ่ม NSAID อื่น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออาการโควิด 19
- เช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อลดไข้
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 1.5-2 ลิตรต่อวัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น
หากมีอาการไอ เจ็บคอ
- รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ
- จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น
- ควรนอนตะแคง หรือนอนหมอนสูง
หากมีอาการหวัด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก
- ทุบหอมแดงใส่ผ้าวางไว้บนหน้าอกขณะนอนแล้วสูดดม ไอระเหยของหอมแดงจะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้ แต่ไม่ควรวางทิ้งไว้ทั้งคืน เพราะน้ำจากหอมแดงอาจไหลลงมาที่บริเวณหน้าอก ทำให้เกิดการระคายเคืองและแสบร้อน
- หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ทางจมูกและปาก เหมือนกำลังจะเป่าเทียน
- นั่งตัวตรง ไม่นั่งหลังค่อม ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่
- เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง และหายใจลึก ๆ ยาว ๆ
หากมีอาการท้องเสีย อาเจียน
- งดอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ผลไม้สด และอาหารย่อยยาก
- ชงเกลือแร่ ORS จิบเรื่อย ๆ ทั้งวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ (กรณีมีปัญหาโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
- ถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ ให้พยายามรับประทานน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
หากสงสัยว่าโควิดลงปอดหรือยัง ?
ให้เช็กตัวเองดังนี้
- ทำกิจกรรมตามปกติแล้วรู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าเดิม หรือมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจลำบากมากขึ้น
- ใช้เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หากมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% จะแสดงถึงความผิดปกติที่ปอด
- ทดลองเดินเร็ว ๆ เป็นเวลา 6 นาที หากมีภาวะปอดอักเสบ จะรู้สึกเหนื่อยง่าย รวมทั้งระดับออกซิเจนในเลือดอาจลดต่ำลงเหลือน้อยกว่า 96%
- ทดสอบด้วยการออกกำลังกายด้วยการลุก-นั่ง 1 นาที แล้วลองวัดออกซิเจน ถ้าตกลงเกิน 3% หรือถ้าวัดชีพจรแล้วเกิน 120 ครั้ง/นาที หรือคนไข้หายใจหอบเหนื่อยมาก พูดเป็นคำไม่ได้ แสดงว่าน่าจะมีปัญหาในปอด ทำให้ออกซิเจนไม่พอ
- ถ้ามีอาการดังกล่าว ให้นอนคว่ำ เพื่อให้เนื้อปอดส่วนหลังที่ถูกหัวใจกดทับขยายได้ดีขึ้น การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดดีขึ้น ระบายเสมหะได้ดีขึ้น ถ้านอนคว่ำไม่ได้ เช่น มีภาวะอ้วนหรือตั้งครรภ์ ให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง
- ถ้าอยู่ในท่านอนนาน ๆ ให้ขยับขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- สำหรับคนติดเชื้อโควิดที่มีอาการไข้ หวัด เจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว และไอ สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรได้ โดยรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน และไม่เกินนี้
- ในเด็กโตอาจพิจารณาให้ใช้ฟ้าทะลายโจร ขนาด 3-3.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้กินวันละ 3-4 ครั้ง และเด็กที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ใช้ขนาดเท่ากับผู้ใหญ่
- ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีความดันต่ำ ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร คนที่มีปัญหาเรื่องตับ เป็นต้น
- รับประทานอาหารให้เพียงพอ ถ้าสามารถรับประทานได้
- ถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ ให้ดื่มน้ำให้มาก ๆ หรือดื่มน้ำเกลือแร่ ถ้าไม่มีให้ผสมเกลือ 1 ช้อนชา กับน้ำตาล ลงในน้ำแล้วดื่มได้
- ห้ามขาดยารักษาโรคประจำตัวเด็ดขาด
- หากมีอาการเหนื่อยมาก ไม่ควรเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่ายและลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ ควรหากระโถนมาใช้ข้างเตียง
- คนที่มีค่าออกซิเจนต่ำ หากท้องผูกควรกินยาระบายและดื่มน้ำมาก ๆ ไม่ควรเบ่งถ่าย ซึ่งจะทำให้หน้ามืดได้
- เมื่อจะเข้าห้องน้ำไม่ควรล็อกประตู และควรบอกให้คนในครอบครัวทราบด้วย
- หมั่นติดต่อกับครอบครัว ญาติ เพื่อน ๆ เพื่อแจ้งอาการสม่ำเสมอ
1. งดออกจากบ้านหรือที่อยู่อาศัย และห้ามคนมาเยี่ยมบ้าน
2. สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือเป็นประจำ
3. รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือใกล้ชิดกับผู้อื่น
ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง หรือในกรณีที่จำเป็น ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร รวมทั้งไม่อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
4. แยกรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยควรแยกรับประทานอาหารโดยตักแบ่งมารับประทานในห้องส่วนตัว หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
กรณีมีคนจัดหาอาหารให้ หรือสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ให้กำหนดจุดรับอาหารโดยเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือสัมผัสโดยตรง
5. แยกเครื่องใช้ส่วนตัว
ถ้าเป็นไปได้ ในมื้ออาหาร ควรจะเลือกภาชนะแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่นำมาใช้ซ้ำ และทิ้งในถังขยะแยกเอาไว้
6. แยกห้องนอน
7. แยกซักเสื้อผ้า แยกห้องน้ำ
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก แล้วตากแดด
- แยกห้องน้ำ หรือในกรณีที่แยกไม่ได้ ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น ควรเข้าเป็นคนสุดท้าย และเมื่อทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ควรทำความสะอาดสุขภัณฑ์หลังใช้งานทุกครั้งด้วยน้ำยาฟอกขาวหรือผงซักฟอก และควรปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำเสมอ
- หมั่นทำความสะอาดที่พักด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% หรือเช็ดผิวสัมผัสด้วยแอลกอฮอล์ 70%
8. หมั่นทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์
9. เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
10. กินอาหารปรุงสุกที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
11. จัดการขยะของตัวเอง
คัดแยกขยะของตัวเองไม่ให้ปะปนกับขยะของสมาชิกคนอื่นภายในบ้าน ดังนี้
- ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก หรือภาชนะสำหรับใส่อาหารใช้แล้วทิ้ง ให้ทิ้งลงในถังขยะส่วนตัว ปิดปากถุงให้สนิททุกครั้ง
- ขยะติดเชื้อ ซึ่งเป็นขยะที่มีการปนเปื้อนของสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมใส่ถุงพลาสติก 2 ชั้น และเทน้ำยาฟอกขาว 2 ฝา เพื่อฆ่าเชื้อ มัดปากถุงให้แน่น จากนั้นก็นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไปของตัวเองได้ แล้วล้างมือให้สะอาด
12. กรณีอยู่หอพักและจำเป็นต้องใช้ลิฟต์
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 สิงหาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19
เฟซบุ๊กกรมอนามัย (1), (2)
เฟซบุ๊กกดดู รู้โรค
ไทยพีบีเอส
กระทรวงสาธารณสุข
เฟซบุ๊ก เราต้องรอด
ชัวร์ก่อนแชร์
Rajavithi Hospital Channel
กรมการแพทย์
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เรื่องเล่าเช้านี้
นพ.ธนีย์ ธนียวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ประเทศสหรัฐอเมริกา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก