x close

เปิดสรรพคุณกระท่อมตามตำรับยาหมอพื้นบ้าน รักษาโรคอะไรได้บ้าง

          ในตำรับยาหมอพื้นบ้านใช้กระท่อมกันอย่างไร แล้วสรรพคุณของกระท่อมรักษาโรคอะไรได้บ้างตามฉบับภูมิปัญญาชาวบ้าน มาลองไขข้อสงสัยในเรื่องใบกระท่อมกัน
          กระท่อม เป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย แม้แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ได้นำกระท่อมมาใช้รักษาโรคอย่างจริง ๆ จัง ๆ แต่สำหรับหมอพื้นบ้านได้นำกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาโรคอยู่หลายสูตรตั้งแต่ในอดีต ลองมาดูกันว่าในตำรับยาฉบับภูมิปัญญาไทยใช้กระท่อมรักษาโรคอะไรได้บ้างนะ
กระท่อมกับสรรพคุณตามภูมิปัญญาชาวบ้าน
กระท่อม

          ในอดีตกระท่อมเป็นพืชที่ใช้รักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วยมานานนับร้อยปี และใช้กันอย่างแพร่หลายในแถบภาคใต้ โดยพันธุ์กระท่อมที่ใช้ก็มีทั้งกระท่อมก้านแดง กระท่อมก้านเขียว (แตงกวา) ซึ่งตามภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้กระท่อมในช่วงกลางวัน เพื่อช่วยให้มีเรี่ยวแรงในการทำงาน เพิ่มความอึดในการทนแดด ทนความร้อน ได้ตลอดทั้งวัน

          โดยวิธีการบริโภคกระท่อมของชาวบ้านตำรับดั้งเดิมจะนำใบกระท่อมสด 1-3 ใบ ลอกก้านใบออก แล้วเคี้ยวเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อใบพอให้จืด แล้วจึงคายกากใบทิ้ง กินวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แต่นอกจากนี้ในตำรับยาพื้นบ้านยังพบว่าใช้ใบกระท่อมบรรเทาอาการไม่สบายได้หลายอย่างด้วย

ใบกระท่อมรักษาโรคอะไรได้บ้าง
ตามตำรับยาหมอพื้นบ้าน
กระท่อม

          โดยตามตำรับยาหมอพื้นบ้านภาคใต้ จะนำใบกระท่อมมาใช้ในการรักษาโรคอยู่ 5 โรคหลัก ๆ ดังนี้

1. โรคท้องร่วง ปวดท้อง

          โดยมี 4 สูตรตามนี้

    1. เคี้ยวใบกระท่อมให้ละเอียดแล้วดื่มน้ำตาม

    2. นำใบกระท่อมมาต้มกับน้ำ เติมเกลือและน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วดื่มเป็นชาแก้ปวดท้อง

    3. นำเปลือกต้นกระท่อม เปลือกต้นสะเดา เปลือกต้นมะขาม อย่างละ 50 กรัม และหัวขมิ้นชัน (แก่) หัวกระทือ (แก่) อย่างละ 1 หัว เผาไฟพอสุก แล้วนำทุกอย่างมาต้มกับน้ำปูนใส ผสมน้ำสะอาดอย่างละเท่า ๆ กัน จากนั้นช้อนแต่น้ำมารับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนแกง จนกว่าอาการจะหาย

    4. นำใบกระท่อม 10 ใบ มาต้มกับน้ำดื่ม 3 ช้อนแกง แล้วดื่มเช้า-เย็น จนกว่าอาการจะหาย

2. โรคเบาหวาน

          ตามตำรับยาหมอพื้นบ้านจะใช้ใบกระท่อมร่วมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดชนิดอื่น ๆ เช่น อินทนิลน้ำ หรือใช้ร่วมกับเครื่องยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น หญ้าหนวดแมว โดยมีสูตรยาตามนี้

          * นำใบกระท่อม อินทนิลน้ำ กระเทียมต้น กระเทียมเถา มาต้มกับน้ำดื่ม แล้วดื่มเป็นชา

          แต่ทั้งนี้ การรักษาโรคเบาหวานควรต้องทราบถึงชนิดเบาหวานที่เป็น และสาเหตุที่เกิดก่อน นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเชิงคลินิกของพืชกระท่อมให้มากกว่านี้ เพื่อการใช้กระท่อมอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย

3. แก้ปวดเมื่อย

          โดยสูตรยาที่ใช้จะมีใบกระท่อม 2 ส่วน เถาวัลย์เปรียง มะคำไก่ มะแว้งต้น มะแว้งเครือ เถาโคคลาน เถาสังวาล พระอินทร์ หญ้าหนู ต้นผักเสี้ยนผี แก่นขี้เหล็ก ใบมะกา อย่างละ 1 ส่วน เนื้อในฝักราชพฤกษ์ 5 ฝัก เถากำแพงเจ็ดชั้น 3 ส่วน นำทุกอย่างมาต้มรวมกัน แล้วกินก่อนอาหารเช้า-เย็น ครั้งละครึ่งถ้วย ถึง 1 ถ้วยกาแฟ

          อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าต้องใช้สมุนไพรอื่น ๆ มาช่วยเสริมสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยด้วย เช่น เถาวัลย์เปรียง หรือเถากำแพงเจ็ดชั้น ดังนั้นใบกระท่อมจึงเป็นเพียงตัวยารองในตำรับยานี้เท่านั้น

4. แก้ไอ

          ตามตำรับยาหมอพื้นบ้าน ใช้ใบกระท่อมสด 1-2 ใบ ต้มกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มแก้ไอ หรือเคี้ยวใบสด 1-2 ใบ คายกากทิ้ง แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ กินแทนยาแก้ไอได้เลย

5. ขับพยาธิ

          ตำรับยากระท่อมขับพยาธิที่หมอพื้นบ้านใช้กันมานานก็แค่นำใบกระท่อมสดมาขยี้กับปูนแดง (ปูนที่กินกับหมาก) แล้วนำมาทาท้องเท่านั้น

          อย่างไรก็ดี ในตำรับยาหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่จะใช้ใบกระท่อมร่วมกับสมุนไพรที่มีสรรพคุณระบายท้อง เช่น ชุมเห็ดเทศ เนื่องจากการเคี้ยวใบกระท่อมอาจนำมาซึ่งอาการท้องผูกได้ จึงต้องใช้สมุนไพรตัวอื่นมาช่วยแก้ปัญหานี้ พร้อมแนะนำให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังเคี้ยวใบกระท่อมด้วย

          ที่สำคัญการกินใบกระท่อมต้องเอาก้านใบออก และควรคายกากทุกครั้ง เพราะก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ อาจตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ยากต่อการขับถ่าย จนทำให้เกิดถุงท่อมในลำไส้ จากพังผืดหุ้มรัดรอบ ๆ ก้อนกากกระท่อมจนเป็นก้อนถุงขึ้นมา ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงลำไส้อุดตันได้ด้วย

          สำหรับสูตรกระท่อมรักษาโรคของหมอพื้นบ้านอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละท้องที่ นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านยังต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ในการใช้ยาจากกระท่อมด้วย เช่น อายุของผู้ป่วย อาการหนัก-เบาของโรค ระยะเวลาที่ป่วยเฉียบพลันหรือเรื้อรัง รวมทั้งฤดูกาลที่เกิดโรค ทำให้สูตรยาของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นคนที่ไม่มีความรู้จึงไม่ควรปรุงยาเองเพื่อหวังผลในการรักษา

บทความที่เกี่ยวกับกระท่อม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดสรรพคุณกระท่อมตามตำรับยาหมอพื้นบ้าน รักษาโรคอะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2566 เวลา 11:01:23 61,754 อ่าน
TOP