วัคซีนไฟเซอร์เด็ก 5-11 ขวบ มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผลข้างเคียงเป็นยังไง ผู้ปกครองควรรู้ !

           อย. อนุมัติวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งก็จุดความสนใจใคร่รู้ในเรื่องผลข้างเคียงของไฟเซอร์ในเด็กกันทันที และวันนี้มาไขคำตอบเลยดีกว่า ว่าเด็กฉีดไฟเซอร์ดีไหมนะ
          วัคซีนโควิด 19 เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะลดความเสี่ยงเมื่อติดโควิดแล้วมีอาการหนัก หรือลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ก็ได้ฉีดวัคซีนกันแล้ว และส่วนใหญ่ก็ฉีดครบ 2 เข็มกันไปเรียบร้อย ทว่าในกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 5-11 ขวบ น้องหนูเหล่านี้ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิดกันเลยสักเข็ม เพราะจำเป็นต้องศึกษาความเสี่ยงและความคุ้มค่าของการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กให้ละเอียดดีก่อน 

          กระทั่งผลการศึกษาออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงในหลาย ๆ ประเทศ ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ขวบ เป็นกรณีฉุกเฉิน ตามด้วย อย. ไทย ที่อนุมัติการใช้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ในเด็กช่วงอายุดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คงได้ฉีดกันในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้นเพื่อไขข้อสงสัยในประเด็นฉีดไฟเซอร์ในเด็ก เราจึงพาทุกคนมาดูข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ในเด็กเล็ก เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง

ข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ขวบ
วัคซีนไฟเซอร์เด็ก

ภาพจาก Framarzo/Shutterstock

  • ชื่อวัคซีน : โคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ฝาสีส้ม คนละขวดกับของผู้ใหญ่ที่เป็นฝาสีม่วง
  • ชนิดวัคซีน : mRNA
  • บริษัทผู้ผลิต : บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ประเทศเยอรมนี
  • ปริมาณที่ฉีด : ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ปริมาณ mRNA 10 ไมโครกรัม หรือเท่ากับปริมาตรวัคซีน 0.2 มิลลิลิตร คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ฉีดในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป (ลดปริมาณลงจากขนาดที่ฉีดในผู้ใหญ่)
  • จำนวนเข็มและระยะห่าง : 3-12 สัปดาห์ หลังจากการฉีดเข็มแรก (ในประเทศไทยแนะนำ 8 สัปดาห์)
  • การเก็บรักษา : เก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้ 10 สัปดาห์ และเก็บในตู้แช่แข็งอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส ได้ 6 เดือน
  • ประสิทธิภาพ : 

          - ป้องกันอาการป่วยโควิด 19 ได้ 90.7% ในเด็กอายุ 5-11 ขวบ

          - ลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงป่วยหนัก 

          - ลดความเสี่ยงโรค MIS-C และลดอาการ Long Covid ที่เกิดขึ้นจากการติดโควิด

เด็กฉีดไฟเซอร์ พบอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง
วัคซีนไฟเซอร์เด็ก

ภาพจาก Anupong457/Shutterstock

           จากการศึกษาของต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ขวบ เป็นกรณีฉุกเฉิน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดแขน บวมแดง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยเกิดขึ้นภายใน 2 วัน หลังฉีดวัคซีน และหายไปได้เองใน 1-2 วัน และมักพบอาการในเข็ม 2 มากกว่าเข็ม 1

สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้มีดังนี้

อาการหลังฉีด เข็มที่ 1

          - อ่อนเพลีย 34%

          - ปวดศีรษะ 22% 

          - ปวดกล้ามเนื้อ 9%

          - ท้องเสีย 6%

          - หนาวสั่น 5%

          - ปวดข้อ 3%

          - มีไข้ 3%

          - อาเจียน 2%

อาการหลังฉีด เข็มที่ 2
          - อ่อนเพลีย 39%

         - ปวดศีรษะ 28% 

         - ปวดกล้ามเนื้อ 12%

         - ท้องเสีย 5%

         - หนาวสั่น 10%

         - ปวดข้อ 5%

         - มีไข้ 7%

         - อาเจียน 2%

 

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก
เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือไม่

          พ่อแม่ผู้ปกครองคงเคยได้ยินข่าวมาบ้างว่า ในกลุ่มเด็กและคนอายุน้อยที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA อาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) แม้จะพบได้ในอัตราที่น้อยมาก แต่ก็สร้างความกังวลว่าจะพบอาการดังกล่าวในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ขวบ ที่ฉีดวัคซีนโคเมอร์เนตีของไฟเซอร์ด้วยหรือไม่

          ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ขวบ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน - 5 มกราคม 2565 เป็นจำนวน 8,674,378 โดส พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 12 ราย เป็นเพศหญิง 4 ราย เพศชาย 8 ราย แต่ทุกเคสมีอาการไม่รุนแรง หายเป็นปกติดี และเมื่อดูจากสถิติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กและวัยรุ่น อายุ 5-17 ปี ที่สหรัฐอเมริกา จำนวน 37,810,998 ล้านโดส พบอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนี้

  • เด็กผู้ชายอายุ 5-11 ขวบ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็ม 2 อยู่ที่ 4.3 ต่อ 1 ล้านโดส
  • เด็กผู้หญิงอายุ 5-11 ขวบ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็ม 2 อยู่ที่ 2.0 ต่อ 1 ล้านโดส
  • เด็กผู้ชายอายุ 12-15 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็ม 1 อยู่ที่ 4.8 ต่อ 1 ล้านโดส และหลังฉีดเข็ม 2 อัตรา 45.7 ล้านโดส
  • เด็กผู้หญิงอายุ 12-15 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็ม 1 อยู่ที่ 1.0 ต่อ 1 ล้านโดส และหลังฉีดเข็ม 2 อัตรา 3.8 ล้านโดส
  • ผู้ชายอายุ 16-17 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็ม 1 อยู่ที่ 6.1 ต่อ 1 ล้านโดส และหลังฉีดเข็ม 2 อัตรา 70.2 ล้านโดส
  • ผู้หญิงอายุ 16-17 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็ม 2 อยู่ที่ 7.6 ล้านโดส และไม่มีรายงานภาวะดังกล่าวในการฉีดเข็มที่ 1

          จากข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า วัคซีนไฟเซอร์ยังค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ เนื่องจากมีอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยกว่าวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี

คำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

          ทางด้านราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับเด็กและวัยรุ่น ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 โดยสรุปเนื้อหาที่กล่าวถึงการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก ดังนี้

  • แนะนำให้เด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม แถบส้ม) ขนาด 10 ไมโครกรัม เข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง แต่ละเข็มห่างกัน 8 สัปดาห์
     
  • สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ปี สามารถเลือกฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นทางเลือกได้ โดยฉีดวัคซีนซิโนแวค 3 ไมโครกรัม หรือซิโนฟาร์ม 4 ไมโครกรัม เป็นเข็มที่ 1 ส่วนเข็มที่ 2 ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม 10 ไมโครกรัม โดยมีระยะห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
     
  • สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ที่เคยติดโควิด 19 มาแล้ว และยังไม่เคยได้วัคซีน แนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ (โดยฉีดวัคซีนโควิด นับจากวันที่มีอาการป่วยโควิดหรือนับจากวันที่ตรวจพบเชื้ออย่างน้อย 12 สัปดาห์)
     
  • สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ที่เคยฉีดวัคซีน 1 เข็ม แล้วติดโควิด 19 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 1 เข็ม นับจากวันที่มีอาการป่วยโควิดหรือนับจากวันที่ตรวจผลเชื้ออย่างน้อย 12 สัปดาห์
     
  • สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ที่เคยฉีดวัคซีน 2 เข็ม แล้วติดโควิด 19 ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพิ่ม
     
  • สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ที่ฉีดวัคซีนสูตรเด็กเข็มที่ 1 ไปแล้ว และมีอายุครบ 12 ปี หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ สูตรเด็ก ฝาสีส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัม อย่างไรก็ตาม หากได้รับเข็มที่ 2 เป็นสูตรสำหรับผู้ใหญ่และวัยรุ่น (ขนาด 30 ไมโครกรัม) ไปแล้ว ก็ถือว่าได้รับวัคซีนเช่นกัน
     
  • สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เคยฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบแล้ว 2 เข็ม แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับการรับรองตามช่วงอายุอีก 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ภายหลังการฉีดเข็มที่ 2
     
  • เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตหากติดโควิด 19 จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทุกราย

          แม้เด็กอายุ 5-11 ขวบ จะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิดแล้วจะมีอาการหนัก หรือเสี่ยงเสียชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กที่ติดโควิดจะมีอาการ Long Covid ซึ่งกระทบกับสุขภาพในระยะยาว อีกทั้งยังมีรายงานพบภาวะ MIS-C หรือภาวะที่เกิดการอักเสบหลายระบบในร่างกายของเด็ก ซึ่งก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย 

          ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่า อัตราผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโอมิครอนกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าการระบาดในสายพันธุ์ที่ผ่านมา เนื่องจากโอมิครอนแพร่กระจายได้เร็วกว่า และเด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นผู้ปกครองลองพิจารณาความเสี่ยงจากการติดโควิด 19 และการฉีดวัคซีนโควิดในบุตรหลานกันดูนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนไฟเซอร์

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565

ขอบคุณข้อมูลจาก
fda.gov (1), (2)
cdc.gov (1), (2) 
businessinsider.com (1), (2)
usnews
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (1), (2)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนไฟเซอร์เด็ก 5-11 ขวบ มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผลข้างเคียงเป็นยังไง ผู้ปกครองควรรู้ ! อัปเดตล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14:00:11 29,818 อ่าน
TOP
x close