เช็กอาการลองโควิด (Long Covid) ใครเสี่ยง มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว

          ลองโควิด อาการหลังหายจากโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้น ได้รู้แล้วจะต้องระวังกันให้มากขึ้น เพราะแม้จะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่โควิดยังอาจหลงเหลืออาการผิดปกติให้ร่างกายได้อีกหลายด้าน บอกเลยว่าไม่ติดจะดีที่สุด
          ผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาจนหาย กลับบ้านได้ ตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายแล้ว แต่อาการผิดปกติยังอาจหลงเหลือให้เห็นได้อยู่ ไม่ใช่ว่าหายจากโควิดแล้วสุขภาพจะกลับไปเป็นปกติอย่างที่เคยเป็นมา โดยจากงานวิจัยที่พบในหลาย ๆ ประเทศแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโควิดจำนวนไม่น้อยที่รักษาจนหาย อาจพบปัญหาสุขภาพ หรืออาการตกค้างหลังหายโควิด ที่เรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) ซึ่งสามารถเกิดได้ยาวนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป 
อาการหลังหายจากโควิด

อาการหลังหายจากโควิด 19 ที่อาจส่งผลระยะยาว
มีอะไรบ้าง
          จากงานวิจัยพบว่า อาการ Long Covid ที่เกิดขึ้นกับร่างกายมีได้มากกว่า 200 อาการที่แตกต่างกัน ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้

1. ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดศีรษะ อ่อนล้า

          อาการปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนล้า เพลีย คล้าย ๆ อาการหลังหายป่วยทั่วไป เป็นอาการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เจอหลังหายจากโควิด 19 โดยอาการนี้อาจกินเวลานานประมาณ 2-6 เดือนเลยทีเดียว

2. ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

          ไม่เพียงแต่ช่วงที่ป่วยโควิด 19 เท่านั้นที่จะเจอกับอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ ทว่าข้อมูลการสำรวจของทีมวิจัยจากเดนมาร์กและหมู่เกาะฟาโรห์ ก็พบว่า 53.1% ของผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ยังคงมีอาการรับกลิ่นและรสบกพร่องเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน นับจากเริ่มมีอาการโควิด 19 เป็นต้นมา ในขณะที่การสำรวจจากศูนย์สุขภาพและการแพทย์ระดับโลกแห่งชาติของญี่ปุ่น ก็พบอาการนี้ในผู้ป่วยบางส่วนที่หายจากโควิด 19 ด้วยเช่นกัน

3. หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก ใจสั่น

อาการหลังหายจากโควิด

          หนึ่งในอาการแสดงของโควิด 19 ที่ยังอาจหลงเหลืออยู่แม้จะหายป่วยโรคนี้แล้วก็คืออาการหายใจลำบากนี่ล่ะค่ะ โดยจากการสำรวจของหลาย ๆ ประเทศก็พบเคสแบบนี้เยอะพอสมควร และยังคาดเดาไม่ได้ด้วยว่าอาการนี้จะอยู่ไปอีกนานเท่าไร สาเหตุเป็นเพราะปอดรับออกซิเจนได้ไม่เท่าเดิม ทำให้หายใจไม่เต็มปอด และรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น ชนิดที่ว่าการทำกิจกรรมบางอย่างที่เคยทำได้เป็นปกติ พอหลังหายป่วยแล้วอาจทำได้ไม่เท่าเดิม เช่น ออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ หรือแค่เดินไป-มาไม่นานก็เหนื่อยแล้ว บางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่นร่วมด้วย

4. ปอดเสียหาย

อาการหลังหายจากโควิด

          อาจพบในผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เข้ารักษาตัวช้า ส่งผลให้เชื้อไวรัสเข้าทำลายปอด ทำให้เนื้อปอดบางส่วนเสียหายหรือถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้มีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก โดยอาการจะหนักหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าปอดอักเสบไปมากแค่ไหน และสามารถฟื้นฟูกลับมาได้หรือไม่

5. หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

          Emmanuele A. Jannini ศาสตราจารย์ด้านต่อมไร้ท่อและเพศวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัย Rome Tor Vergata ประเทศอิตาลี พบว่า โควิด 19 กับภาวะสมรรถภาพทางเพศมีความเกี่ยวข้องกัน โดยผู้ป่วยชายที่ติดโควิด 19 มีแนวโน้มจะเสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากขึ้น 5.66 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่ติดโควิด นอกจากนี้ผู้ชายที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศอยู่แล้วก็มีความเสี่ยงติดโควิดได้มากกว่าปกติถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

          ขณะที่มีรายงานข่าวว่า ผู้ป่วยชายรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หลังหายจากโควิดแล้ว พบอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และขนาดองคชาตหดสั้นลง 1.5 นิ้ว ซึ่งเป็นผลจากไวรัสที่สร้างความเสียหายแก่หลอดเลือด

6. ผมร่วง

          ศูนย์สุขภาพและการแพทย์ระดับโลกแห่งชาติของญี่ปุ่น สำรวจผู้ป่วยโควิด 19 ที่หายแล้วประมาณ 63 คน และพบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการผมร่วงเป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่มีอาการโควิด 19 ซึ่งอาจเป็นเพราะโควิดทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องและตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ส่งผลให้อวัยวะที่แข็งแรงดีได้รับผลกระทบจนเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวได้

          ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ก็ระบุเช่นกันว่า อาการผมร่วงหลังป่วยโควิดไม่ได้เกิดขึ้นจากไวรัสโดยตรง แต่เป็นผลพวงจากการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกายจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้สูง ความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นอาการที่พบได้จากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องวิตกกังวลอะไร เพราะอาการดังกล่าวจะหายเองได้หลังจากผ่านไป 6-9 เดือน

7. มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล

          หลายคนมีภาวะซึมเศร้า หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งฮิราฮิตะ คลินิก ในประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วประมาณ 700 คนทั่วประเทศ พบว่า 80% มีอาการซึมเศร้าและมีความสามารถด้านการคิดลดลง 

8. มึนงง จำอะไรไม่ค่อยได้ สมาธิสั้น

อาการหลังหายจากโควิด

          ผู้ป่วยโควิดบางรายหลังหายจากโรคแล้วกลับพบปัญหาเรื่องความจำถดถอยลง สมองเบลอ สมองล้า มึนงง ตลอดจนสมาธิสั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะเชื้อไวรัสสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติของระบบประสาทและสมองด้วยเหมือนกัน ทั้งยังทำให้นอนหลับยากขึ้นด้วย

9. ภาวะ MIS-C ที่คล้ายโรคคาวาซากิ

           เคสผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิดในต่างประเทศ พบว่า หลังจากเด็ก ๆ หายจากโควิด 19 แล้ว อาจมีภาวะ MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children) คือ มีอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย คล้ายกับโรคคาวาซากิ ซึ่งหากรักษาไม่ทันก็อาจทำให้อาการโคม่า เสี่ยงเสียชีวิตสูง

เพจดังเตือน อาการเด็กหลังป่วยโควิด 19 อาจป่วย MIS-C เสี่ยงถึงตาย !

10. โรคประจำตัวที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงมากขึ้น

           แม้จะรักษาโรค COVID-19 จนหายดีแล้ว แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับระบบอวัยวะอื่น ๆ และภาวะสมองเสื่อม อาจมีอาการของโรคนั้นรุนแรงมากขึ้น

11. เพิ่มความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคสมองขาดเลือด

          รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลการศึกษาในสวีเดนที่ได้ติดตามผู้ป่วยโควิด 86,000 กว่าคน พบอัตราเสี่ยงอุบัติการณ์เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคสมองขาดเลือด 3-7 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไปภายในช่วง 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หรือวันที่เริ่มมีอาการ แล้วจึงลดลงเหลือประมาณ 2 เท่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ถัดมา

          นั่นแสดงว่า โควิด 19 นอกจากทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานปกป้องตัวเองมากเกินแล้ว ยังทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างของเซลล์ผนังหลอดเลือด

12. ไตเสื่อมลง

          พล.อ.ท. นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ผู้ที่หายป่วยจากโควิดติดตามการทำงานของไตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลวิจัยของต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยโควิดมีอัตราการกรองของไตลดลงกว่า 50% รวมทั้งบางคนมีอาการไตบาดเจ็บเฉียบพลัน, โรคไตระยะสุดท้าย และมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สำคัญต่อไต

13. เสี่ยงป่วยโรคเบาหวาน

          ในงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า ผู้ที่เคยป่วยโควิด 19 มีความเสี่ยงต่อการป่วยโรคเบาหวาน ภายใน 1 ปี หลังจากป่วยโควิด โดยในทุก ๆ 100 คนที่ติดโควิด เมื่อหายป่วยแล้วจะมีถึง 2 คนที่เป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี และอาการนี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเกิดกับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักเพียงเท่านั้น แม้แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็สามารถเป็นเบาหวานหลังจากติดโควิดได้

14. เสี่ยงโรคกระดูกพรุน

          นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินดีแอนา พบว่า หนูทดลองที่หายจากโควิดแล้วมีอัตราการสร้างมวลกระดูกลดลงมากกว่าปกติ ซึ่งมวลกระดูกที่ลดลงนี้จะทำให้กระดูกเปราะ หักง่าย และเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ รวมทั้งยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก

 

          ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้อีก เช่น รู้สึกเหมือนมีไข้ตลอดเวลา, รู้สึกจี๊ด ๆ ตามเนื้อตัว หรือปลายมือปลายเท้า, คันตามผิวหนัง, ปวดท้อง, อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้ อาเจียน, กล้ามเนื้อลีบ, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ขาไม่มีแรง เป็นตะคริว ขากระตุก, นอนไม่หลับ, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
long covid

ภาพจาก : กรมการแพทย์

สาเหตุของอาการ Long Covid

     เรื่องนี้ยังไม่มีการรายงานแน่ชัด แต่จากผลการศึกษาหลายแห่งคาดว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพในการต่อสู้เชื้อโรคลดลง เนื่องจากยังทำงานได้ไม่เต็มที่หลังหายป่วย
  • อวัยวะเสียหายจากการติดเชื้อ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหลังจากได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน
  • การกำเริบของโรคที่อยู่ในตัว หรือเกิดการติดเชื้อซ้ำ
  • มีภาวะแทรกซ้อนของการอักเสบหลายอวัยวะ (MIS)
  • ผลข้างเคียงที่ได้รับจากยาที่จำเป็นต้องใช้รักษา
  • ได้รับผลกระทบจากการนอนพักรักษาตัวมานาน ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะในคนที่มีอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือนอนในห้องไอซียู
  • ความเครียดจากการรักษาตัวระหว่างเจ็บป่วย หรือภาวะเครียดหลังเจอเรื่องร้ายแรง (Post-Traumatic Stress)
  • เป็นอาการของโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่เคยเป็นก่อนป่วยโควิด 19 เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
ใครเสี่ยงลองโควิด
          มีผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 15-30% ที่เกิดอาการลองโควิดขึ้นมาภายหลัง ไม่ว่าจะติดเชื้อสายพันธุ์ใดก็ตาม ซึ่งมีอาการมาก-น้อยแตกต่างกันไป และพบว่ามีคนบางกลุ่มที่เสี่ยงอาการลองโควิดได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น
  • ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
  • คนที่มีโรคประจำตัว 
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
  • ผู้ที่ป่วยโควิด 19 แล้วมีอาการรุนแรง เช่น มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • เพศหญิงจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย
  • คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีอุบัติการณ์เกิดอาการลองโควิดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด
  • คนกรุ๊ปเลือดโอ โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยจากประเทศสเปน ที่พบว่า ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ปโอจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหา Long COVID มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น ๆ ประมาณ  6 เท่า อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยนี้ทำการศึกษาในจำนวนกลุ่มประชากรไม่มากนัก จึงต้องติดตามว่าจะมีการศึกษาในกลุ่มประชากรจำนวนมากขึ้นในอนาคต และให้ผลพิสูจน์ที่สอดคล้องกันหรือไม่
วิธีรักษาอาการ Long Covid

          อาการเหล่านี้เกิดจากร่างกายยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ แต่ส่วนใหญ่หายเองได้หากเราดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารที่ทำร้ายสุขภาพ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และหากพบความผิดปกติใดสามารถรักษาตามอาการ แต่ถ้าอาการ Long Covid กระทบกับสุขภาพมาก ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ค่ะ

          ในส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงในช่วงที่ป่วยโควิด หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ควรเข้าตรวจสุขภาพโดยเฉพาะการเช็กความผิดปกติที่ปอด เพราะหากพบปอดผิดปกติจะได้รักษาต่อไป

ตำรับยาไทยรักษาอาการลองโควิด

          ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เตรียมนำตำรับยาไทยมาใช้รักษาอาการลองโควิดในผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้ว เช่น 

  • ตำรับยาธาตุบรรจบ ใช้บำรุงและฟื้นฟูธาตุในร่างกายให้กลับมาปกติ เนื่องจากอาการลองโควิดทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดการอักเสบ
  • ตำรับยานวโกฐ ใช้รักษาอาการที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งยาตัวนี้จะช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตได้ดี
  • น้ำมันกัญชา ตำรับอาจารย์เดชา ใช้แก้อาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ

          อย่างไรก็ตาม แต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกันจึงต้องใช้ตำรับยาที่ต่างกัน และจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 3 เดือนขึ้นไป

           นาทีนี้ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากติดโควิดกันแน่ ๆ เพราะแม้จะหายป่วยจากโควิด แต่ยังมีโอกาสป่วยด้วยอาการ Long Covid ที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายระบบในระยะยาว ดังนั้น ป้องกันตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยจากโควิดจะดีที่สุด

          บทความเกี่ยวข้องกับโควิด 19
          - เช็ก...13 กลุ่มเสี่ยงอาการหนักหากติดโควิด 19 รักษาช้าอาจถึงตาย !
          - โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ
          - อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง สัญญาณไหนต้องรีบรักษา
          - เปิดคลิปฝึกหายใจฟื้นฟูปอด-ขับเสมหะ เพิ่มความสตรองสู้โควิด
          - วิธีกินฟ้าทะลายโจรเสริมภูมิคุ้มกันในช่วงโควิด 19 คนป่วย-ไม่ป่วย กินได้แค่ไหน
 

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 29 สิงหาคม 2565


ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, เฟซบุ๊ก Pleasehealth Books, TNN, กรุงเทพธุรกิจ (1), (2), (3)สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, WebMD, โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลพญาไทนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุลโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม, เฟซบุ๊ก Ch3ThailandNewsเฟซบุ๊ก Anutra Chittinandanacdc.govverywellhealth.com, กรมการแพทย์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana, กรุงเทพธุรกิจ, โรงพยาบาลรามคำแหง, โรงพยาบาลเปาโลเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat           

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กอาการลองโควิด (Long Covid) ใครเสี่ยง มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2565 เวลา 11:36:50 110,151 อ่าน
TOP
x close