โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ

          โควิดหายเองได้ไหม ติดโควิดแล้วต้องดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าหายแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่ มาทำความเข้าใจกัน
          สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ยังคงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้คนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่าผู้ป่วยเกินครึ่งสามารถรักษาหายได้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ถ้าติดโควิดแล้วจะหายเองได้หรือไม่ เหมือนกับไข้หวัดทั่วไปที่เมื่อได้กินยาและนอนหลับพักผ่อนหน่อยอาการก็ดีขึ้น รวมถึงจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อหายดีแล้ว มาคลายความสงสัยกันค่ะ
โควิดหายเองได้ไหม
โควิดหายเองได้ไหม

          โรคโควิด 19 เป็นโรคที่ควบคุมยาก เพราะเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ และอาการป่วยส่วนใหญ่ของโรคนี้ไม่แสดงออกรุนแรง หรือหนักจนถึงขนาดทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้ออยู่ ส่งผลให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายไปเรื่อย ๆ จนมีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงขึ้น

          อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบว่าถ้าโลกนี้มีผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 100 คน จะมีผู้ป่วย 80 คน ที่มีอาการน้อยและหายเองได้ นั่นหมายถึง 80% ของผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ไอ จาม ปวดหัว คล้ายกับการเป็นไข้หวัดธรรมดา หากภูมิคุ้มกันดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เมื่อได้นอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ กินยารักษาตามอาการเหมือนกับไข้หวัด ก็จะสามารถหายจากโรคนี้เองได้

          ส่วนอีก 20% ที่เหลือจะมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะปอดอักเสบ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งต้องให้ยารักษาโดยเฉพาะ และในจำนวน 20% นี้ จะมีราว ๆ 5% ที่มีอาการหนัก อาจต้องเข้า ICU อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ โรคไต หรือมะเร็ง ที่มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนปกติทั่วไป

          แต่สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในปี 2565 พบว่าผู้ป่วย 90% มีอาการไม่ค่อยรุนแรงหรือไม่มีอาการ เนื่องจากเชื้อไม่ลงปอดเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา ประกอบกับมีคนจำนวนไม่น้อยได้รับวัคซีนแล้ว อาการที่พบจึงคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป สามารถรักษาตามอาการให้หายเองได้ นอกจากจะมีบางส่วนที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด อาจมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ป่วยโควิดจำเป็นต้องอยู่ใน รพ. ไหม

          เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดในปี 2565 มีความรุนแรงของโรคลดลง เพราะผู้ป่วย 90% ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาเพื่อให้สอดคล้องกับโรค 

          ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยและไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก (เจอ แจก จบ) เหมือนกับผู้ป่วยนอกโรคทั่วไป คือเข้าพบแพทย์ตามสิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการตามที่ตัวเองมี โดยแพทย์จะจ่ายยาตามอาการให้เรากลับไปรักษาตัวที่บ้าน และเมื่อครบ 48 ชั่วโมง จะมีแพทย์โทรศัพท์ไปติดตามอาการ  

          นอกจากรูปแบบเจอ แจก จบ แล้ว ผู้ติดเชื้ออาจเลือกใช้วิธีรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) รักษาตัวใน Hospitel หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม ซึ่งการ Home Isolation จะต่างกับผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ตรงที่ผู้ป่วย Home Isolation จะได้รับอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องตรวจวัดค่าออกซิเจน ฯลฯ รวมทั้งอาหาร แต่หากเป็นผู้ป่วยนอกจะไม่ได้รับส่วนนี้ 

         โดยผู้ที่ต้องการรักษาตัวแบบ Home Isolation ให้โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หรือสำหรับผู้ประกันตนประกันสังคม ติดต่อได้ที่ สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 กด 6 จะมีเจ้าหน้าที่ประสานและจับคู่กับสถานพยาบาล เพื่อให้คำแนะนำและให้การรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านต่อไป

        กรณีอยู่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเกี่ยวกับโควิด 19 ประจำอำเภอหรือจังหวัด ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด
          กรณีผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แทนการรักษาตัวที่บ้าน 
โควิด19

ภาพจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน หากมีภาวะหายใจลำบาก หอบเหนื่อย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเชื้อลงปอด หรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ ให้รีบแจ้งแพทย์ เพราะจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล คือ
           1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
           2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่
           3. Oxygen Saturation ต่ำกว่า 94%
           4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
           5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง
โควิดหายได้ภายในกี่วัน
โควิดหายเองได้ไหม

          อาการของผู้ป่วยโควิด 19 มีอยู่หลายระดับ และมีระยะเวลาในการรักษาตัวที่แตกต่างกัน ดังนี้

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเลยหรือมีอาการเล็กน้อย

           โดยแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วันแล้วยังมีอาการ ควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

          กรณีมีอาการป่วยจะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ปวดหัวก็ให้ยาแก้ปวด นอนพัก ดื่มน้ำเยอะ ๆ 


ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

          จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น เช่น กรณีต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอาจต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า 2 เดือน

วิธีดูแลตัวเองเมื่อติดโควิด
โควิดหายเองได้ไหม

          เมื่อตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด 19 แน่ ๆ ให้รีบแจ้งกับทางโรงพยาบาลที่ไปตรวจหรือโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ส่วนกรณีที่รักษาตัวที่บ้านควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ผู้ป่วยโควิด 19 ต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว แยกตัวเองออกจากผู้อื่นอย่างน้อย 10 วัน
     
  • งดออกจากบ้านหรือที่อยู่อาศัย
     
  • ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัว และงดการออกจากบ้านในระหว่างแยกตัว
     
  • อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อุดอู้  
     
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากยังมีอาการไอ จาม ต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้ขณะที่อยู่ในห้องส่วนตัว โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้ใช้หน้ากากผ้า
     
  • ไม่พูดคุยหรือใกล้ชิดกับผู้อื่น แต่หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หากไอ จาม ไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่น หรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร และหันหน้าไปยังทิศทางตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
     
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดอาหารมาให้ โดยวางไว้ที่จุดรับ-ส่งอาหาร 
     
  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ และก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น ฯลฯ
     
  • แยกข้าวของเครื่องใช้ ไม่ใช้ปะปนกับผู้อื่น และหมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้ออยู่เสมอ
     
  • แยกห้องน้ำ หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ และหมั่นทำความสะอาดสุขภัณฑ์เพื่อฆ่าเชื้อ
     
  • คัดแยกขยะของตัวเอง เก็บทิ้งไม่ให้ปะปนกับของผู้อื่น มัดปากถุงให้แน่นสนิททุกครั้ง และทำความสะอาดมือทันที
     
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารปรุงสุกที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียด
     
  • มารดาสามารถให้นมบุตรได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร
     
  • หมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ โดยวัดไข้และวัดค่าออกซิเจนทุกวัน หากมีไข้ ให้กินยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการ หรือหากมีอาการทรุดหนัก เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% ควรรีบติดต่อแพทย์หรือสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยทันที
โควิด

          สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว ก็มีวิธีการปฏิบัติตัวดังนี้

  • ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวที่เตรียมมาเอง เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว และเสื้อผ้า 
  • หมั่นวัดอุณหภูมิและความดันอยู่เสมอ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ไข้สูง ไอมากขึ้น ความดันสูงกว่าปกติ เหนื่อยง่าย ให้รีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทันที
  • รักษาความสะอาดส่วนตัว เช่น อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน รวมถึงรักษาความสะอาดบริเวณที่พักด้วย
  • งดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด
  • ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อพักฟื้นร่างกาย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
รักษาโควิดหายแล้ว สามารถแพร่เชื้อได้อีกไหม
          กรณีรักษาตัวที่โรงพยาบาลและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ นั่นหมายถึง ผู้ป่วยคนนั้นหายดีแล้ว ไม่มีอาการป่วย และมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะไปแพร่เชื้อได้อีก เพราะในระหว่างการรักษานั้นแพทย์จะดูแลรักษาผู้ป่วยจนหายดี ไม่มีอาการ รวมถึงตรวจสอบอาการอย่างใกล้ชิด ถึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้
หายป่วยโควิดแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำได้หรือไม่

          ปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อโรค เมื่อมีการติดเชื้อและรักษาจนหายดี ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะเชื้อนั้นขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อนั้นซ้ำอีก

          อย่างไรก็ตาม สำหรับโรค COVID-19 มีการตรวจพบว่าผู้ป่วยบางรายที่รักษาจนหายดีแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำอีก โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งสาเหตุที่มีการติดเชื้อซ้ำนี้น่าจะเป็นเพราะร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงและแข็งแรงพอจะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ รวมถึงภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลงเมื่อเวลาผ่านไปด้วย

          สอดคล้องกับที่ ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคที่เมื่อรักษาหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 แล้วนั้นจะลดลงหลังติดเชื้อ และโรคโควิด 19 เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวสั้น ทำให้ร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ขึ้นมาต้านทานได้ทัน แต่หากติดเชื้อซ้ำ อาการที่เป็นก็จะลดน้อยลง

          นอกจากนี้โควิดยังเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จากอัลฟา เดลตา ล่าสุดคือโอมิครอน ซึ่งแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม และทำให้ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นแม้จะหายป่วยแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อีก
วิธีปฏิบัติตัวหลังหายป่วย
โควิดหายเองได้ไหม

          สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจนหายดี แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ควรหมั่นดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อซ้ำอีก โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ออกจากโรงพยาบาล ดังต่อไปนี้

     1. กรณีอยู่โรงพยาบาลครบจำนวนวัน และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว หรือแพทย์ให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน เมื่อครบจำนวนวันที่กำหนดแล้ว สามารถไปทำงานได้ตามปกติ แต่ยังต้องปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตใหม่
     2. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่ออยู่ร่วมกัน หรือเมื่อออกจากบ้าน
     3. ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก หรือปาก เพราะอาจรับเชื้อจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายได้
     4. หมั่นล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ รวมถึงทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องหยิบจับอยู่เสมอ
     5. รักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือสัมผัสตัวผู้อื่น
     6. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ จาน ชาม รวมทั้งการดื่มน้ำหรือใช้หลอดดูดน้ำจากแก้วเดียวกัน
     7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
     8. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
     9. นอนหลับให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
     10. หากไม่สบายให้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ไปเรียน หรือทำงาน และงดใช้รถสาธารณะ
     11. สังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ กรณีที่ตัวเองหรือสมาชิกในบ้านมีไข้ หรืออาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ ควรเข้าพบแพทย์

          การดูแลตัวเองให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด 19 ได้ เมื่อติดเชื้อขึ้นมาก็ย่อมมีโอกาสที่โรคจะหายได้เอง ดังนั้นอย่าลืมรักษาสุขภาพอยู่เสมอ บวกกับการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว และการรักษาระยะห่างระหว่างกัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ อัปเดตล่าสุด 7 มีนาคม 2565 เวลา 14:50:05 131,183 อ่าน
TOP
x close