ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ทำไงดี นี่เราติดโควิดชัวร์แล้วหรือยัง ?

ภาพจาก : BaLL LunLa/Shutterstock
หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ให้ปฏิบัติตัวตามนี้ทันที
1. กักตัวที่บ้าน 10 วัน ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
2. ในกรณีอยู่ร่วมกับผู้อื่น ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา
3. แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ
4. แยกตัวเองออกจากบุคคลในบ้าน แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่าง รวมถึงแยกถุงขยะ
5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง (กรณีเลี้ยงสัตว์)
6. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ
7. สังเกตอาการตัวเอง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำดังนี้
- กรณีไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ให้กินยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ดื่มน้ำมาก ๆ
- กรณีผู้ป่วยเด็ก ให้ติดตามอาการไข้สูง หากมีไข้ควรเช็ดตัวให้ไข้ลดลง ส่วนในเด็กเล็กให้ระวังอาการน้ำมูกอุดตัน โดยอาจต้องใช้น้ำเกลือล้างจมูกช่วย หรือใช้ไม้พันสําลี (คอตตอนบัด) เช็ดให้หายใจโล่งขึ้น
- ถ้าประเมินแล้วมีความเสี่ยงต่อภาวะรุนแรง แนะนําไปสถานพยาบาลตามสิทธิใกล้บ้าน

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ในกรณีที่ตรวจเจอเชื้อเป็นบวก แต่มีอาการไม่รุนแรง คือ เป็นผู้ป่วยสีเขียว ให้เลือกดำเนินการข้อใดข้อหนึ่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา
1. แจ้งสายด่วน
โดยเช็กเบอร์โทร. สายด่วน กทม. ประจำแต่ละเขต ที่นี่ หรือแจ้งสายด่วนประจำจังหวัดหรืออำเภอที่ตนอยู่ (ในกรณีอยู่ต่างจังหวัด)
2. หากไม่สะดวกโทร. หรือติดขัดประการใด ให้โทร. สายด่วน สปสช. 1330 ดังนี้
- สายด่วน 1330 กด 18 ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาโดยเฉพาะ ทั้งกลุ่ม 608, เด็ก 0-5 ขวบ, คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง สปสช. จะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ให้ก่อน พร้อมประสานหาเตียงเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล
- สายด่วน 1330 กด 14 สำหรับผู้ติดเชื้อทุกสิทธิการรักษาที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำการรักษาตามอาการ และให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดย สปสช. จะลงทะเบียนให้ หรือเลือกเข้าระบบการรักษาอื่น ๆ
- หรือติดต่อผ่าน เว็บไซต์ สปสช. หรือทางไลน์ สปสช. @nhso ได้เช่นกัน
3. ลงทะเบียน Home Isolation กับคลินิกหรือโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ
ปัจจุบันมีคลินิกในชุมชนหลายแห่ง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยสีเขียวที่ใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับยาที่โรงพยาบาลได้เลย หรือเช็กรายละเอียดต่าง ๆ ได้จากเฟซบุ๊กของคลินิก/โรงพยาบาลนั้น ๆ
นอกจากนี้ยังสามารถไปรับยาได้จากร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ (คลิกดูรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ)
4. รับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ
โดยสามารถเดินทางไปรับยาเหมือนกับอาการป่วยทั่วไป (เจอ แจก จบ) และกลับมากักตัวที่บ้าน ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ ดังนี้
- ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม : ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม หรือร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ
- ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง : รับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ หรือสถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียว กับ สปสช.
- ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ : รักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียว กับ สปสช.
เช็กชื่อโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวเข้ารักษาได้ แม้อยู่นอกสิทธิ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ช่องทางอื่น ๆ
* ผู้ติดเชื้อใน กทม. สามารถโทร. เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต หรือโทร. สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือ คลิก
* ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด สามารถโทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด)
* กรมควบคุมโรค สายด่วน 1422
* กรมการแพทย์ สายด่วน 1668
* เพจ เส้นด้าย หรือโทร. 08-1591-9714, 08-0660-9998
* เพจ เราต้องรอด หรือโทร. 0-2027-8808
* เพจ องค์กรทำดี หรือโทร. 08-6431-5579
* เพจมูลนิธิกระจกเงา หรือโทร. 06-1909-1840

สำหรับคนที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก แล้วเกิดความสงสัย ลองไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR แต่กลับไม่พบว่าติดเชื้อ อาจเป็นเพราะผลบวกปลอมจาก ATK ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
* มีการปนเปื้อนเชื้อโรคจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบ หรือจากมือที่ปนเปื้อนเชื้อของเราเอง
* การติดเชื้อไวรัสจุลชีพอื่น ๆ
* ตรวจ ATK ไม่ถูกวิธี เช่น อ่านผลเกินเวลาที่กำหนด
* สภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม
* ชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน โดยสามารถเช็กรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจาก อย. ได้ ที่นี่
หากผลตรวจ ATK เป็นลบ ทั้งที่ตัวเองรู้สึกไม่สบาย เช่น เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก เป็นหวัด มีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เหงื่อออกตอนกลางคืน ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิดแม้จะไม่มีอาการป่วย อาจเกิดได้จากกรณี เช่น
* เพิ่งติดเชื้อระยะแรก ๆ ร่างกายจึงมีปริมาณเชื้อต่ำ
* อาจตรวจ ATK ผิดวิธี แหย่จมูกไม่ถูกต้อง
* ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด ปริมาณตัวอย่างที่หยดไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ควรทำอย่างไร

ภาพจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
สำหรับแนวทางล่าสุดของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน และตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ พร้อมข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
- ไปทำงานได้ โดยแยกพื้นที่กับผู้อื่น
- ปฏิบัติตามมาตรการ "การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)" ซึ่งก็คือการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา แม้จะไม่พบความเสี่ยง ก็ให้คิดเสมอว่าเราอาจติดโควิด 19 โดยไม่รู้ตัวและไม่มีอาการ
- งดไปสถานที่สาธารณะ
- งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
- งดใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น
- งดการอยู่ใกล้ชิดกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก อย่างน้อย 10 วัน
- ตรวจ ATK ในวันที่ 5 และ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หรือเมื่อมีอาการป่วย หากพบเชื้อให้เข้ารับการรักษาต่อไป

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ณ ปัจจุบันหากติดเชื้อโควิดสามารถเข้ารับการรักษาฟรีตามสิทธิที่ตัวเองมีนะคะ ดังนั้นหากตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ก็สามารถติดต่อตามช่องทางเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัวต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด 19
- เช็กลิสต์ยาที่ควรมีช่วงโควิด ติดบ้านไว้ใช้ดูแลตัวเอง-รักษาอาการเบื้องต้น
- โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ
- วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร
- วิธีกินฟ้าทะลายโจรเสริมภูมิคุ้มกันในช่วงโควิด 19 คนป่วย-ไม่ป่วย กินได้แค่ไหน
- ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กินคู่กันได้ไหม ไขข้อสงสัยเรื่องสมุนไพรรักษาโควิด
- 12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน Home isolation
- อาหารสำหรับผู้ป่วยโควิด กินอะไรช่วยบรรเทาและไม่ซ้ำเติมอาการให้ยิ่งหนัก
- อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา
- ยาเขียว คืออะไร สรรพคุณช่วยรักษาโควิดได้จริงไหม
- 12 สูตรทำน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด 19 ไว้ทำความสะอาดบ้านกำจัดไวรัสร้าย
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก สปสช. (1), (2), สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, เฟซบุ๊กสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (1), (2), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย