12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน

          ในสภาวะที่การรักษาโควิด 19 ต้องปรับมาเป็นการกักตัวที่บ้าน จะมีสมุนไพรตัวไหนที่ช่วยดูแลคนติดเชื้อที่อาการไม่หนักได้บ้าง

          สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้น ๆ ลง ๆ ตามการระบาดเป็นระลอก แต่ยังดีที่คนจำนวนมากฉีดวัคซีนโควิดกันแล้ว เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจึงมีอาการไม่หนักมาก สามารถกักตัวที่บ้าน หรือ Home isolation ได้ อย่างไรก็ตาม หลายคนที่รักษาตัวที่บ้านก็อาจจะอยากหาสมุนไพรมาใช้ดูแลตัวเองควบคู่กันไป ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงแนะนำยาสมุนไพรเพื่อดูแลตัวเองหากได้รับเชื้อ และต้องรักษาตัวอยู่บ้าน ดังนี้

สมุนไพรรักษาโควิด 19
มีอะไรช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง
          ปัจจุบันมีสมุนไพรหลายชนิดที่ผ่านการศึกษาวิจัยและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถใช้ดูแลสุขภาพในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 และยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้ โดยสมุนไพรที่เราสามารถใช้ดูแลอาการตนเองเบื้องต้นเมื่อติดโควิด 19 ได้แก่

1. ฟ้าทะลายโจร

สมุนไพร

          ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญที่ชื่อว่า แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งผลการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด 19 (SARS-CoV-2) ในเซลล์เนื้อเยื่อได้ อีกทั้งยังมีการศึกษาที่พบสรรพคุณฟ้าทะลายโจรด้านเสริมศักยภาพภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อโควิด 19 ออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหากได้รับยาฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่เหมาะสมภายใน 72 ชั่วโมง หลังร่างกายได้รับเชื้อจะสามารถควบคุมโรคได้ดี

          ทั้งนี้ การกินฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโควิด 19 สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป ควรใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน และควรต้องได้รับคำแนะนำและการจ่ายยาโดยบุคลากรทางการแพทย์เสมอ ไม่ควรซื้อฟ้าทะลายโจรมารับประทานเอง เนื่องจากเราอาจกะปริมาณสารสำคัญและโดสที่ควรรับประทานในแต่ละวันได้ยาก หรือไม่เหมาะสมกับอาการที่เป็นอยู่

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ผู้ป่วยที่ตับและไตไม่ดี ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน
 

วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร

2. กระชายขาว

สมุนไพร

          งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กระชายขาว มีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการต้านโคโรนาไวรัส อยู่ 2 ตัวด้วยกัน คือ Panduratin A และ Pinostrobin ซึ่งมีฤทธิ์ลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อในหลอดทดลองได้ 100% และยังสามารถยับยั้งการทำงานของเซลล์ที่เพิ่มตัวไวรัส ทำให้ไม่มีไวรัสตัวใหม่เพิ่มออกมาจากเซลล์ได้เลย แต่ทั้งนี้งานวิจัยยังอยู่ในระดับหลอดทดลอง ยังไม่ทราบผลการรักษาและขนาดสารสำคัญที่ควรใช้ในคน

          ทว่าหากจะกินกระชายขาวเพื่อช่วยดูแลร่างกายในกรณีที่ติดเชื้อโควิด 19 ดร. ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะนำว่า ปัจจุบันมีน้ำกระชายวางจำหน่ายทั่วไป แต่เพื่อการรักษาโควิดควรกินทั้งเนื้อและน้ำกระชาย เพราะสารสำคัญในกระชายไม่ละลายน้ำ ดังนั้นหากดื่มแต่น้ำกระชาย ร่างกายก็จะไม่ได้สารสกัดจากกระชายขาวที่มีสรรพคุณรักษาโควิด และการกินกระชายก็ควรระวังน้ำมันหอมระเหยของกระชายที่อาจระคายเคืองกระเพาะอาหารด้วย
 

กระชายขาวต้านโควิด 19 พร้อมสรรพคุณที่น่าสนใจ

3. ขิง

สมุนไพร

          ขิงมีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายได้ดี และมีส่วนช่วยบำรุงปอด อีกทั้งสารในขิงยังช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงได้ เช่น อาการคัดจมูก อาการไอ เนื่องจากขิงช่วยลดการอักเสบ ต้านไวรัสและการติดเชื้อต่าง ๆ โดยสามารถกินได้ทั้งน้ำขิงหรือขิงชนิดแคปซูล

ข้อควรระวัง : ขิงมีผลเสริมยาละลายลิ่มเลือด, ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี, คนที่มีไข้หรือเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้ยาขิงแคปซูล
 

ขิง สมุนไพรไทยมากประโยชน์

4. ขมิ้นชัน

สมุนไพร

          จากหลักฐานการศึกษาวิจัยหลาย ๆ ชิ้น พบว่า สารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันมีสรรพคุณต้านการอักเสบที่ปอดได้ โดยสามารถกินได้ทั้งขมิ้นชันชนิดแคปซูล หรือกินเหง้าแก่ขมิ้นชันเพื่อบำรุงดูแลร่างกายในช่วงที่ติดเชื้อโควิด
 

ขมิ้นชัน สมุนไพรชั้นเลิส ช่วยดูแลสุขภาพ

5. มะขามป้อม

สมุนไพร

          มะขามป้อมเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์แก้ไอ และช่วยขับเสมหะ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเสมหะติดในลำคอ ซึ่งในช่วงแรกอาจมีอาการไอไม่มาก แต่หากมีเสมหะติดในคอมากจะทำให้อาการไอรุนแรงขึ้น ดังนั้นสามารถกินยาแก้ไอมะขามป้อม หรือดื่มน้ำมะขามป้อมอุ่น ๆ เพื่อขับเสมหะและบรรเทาอาการไอได้

ข้อควรระวัง : ยาอาจทำให้ท้องเสีย, ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ควรกินในรูปแบบชาชงมะขามป้อม (ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล)
 

มะขามป้อม ผลไม้วิตามินซีสูงปรี๊ด ประโยชน์จี๊ดกว่าแก้ไอ

6. ประสะมะแว้ง

          ประสะมะแว้งเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในรูปแคปซูลสมุนไพร สามารถแกะแคปซูลเอาตัวสมุนไพรออกมา ผสมกับเกลือ และมะนาว จากนั้นนำมากวาดคอเพื่อกำจัดเสมหะ และบรรเทาอาการไอ

7. ยาธาตุบรรจบ

          สมุนไพรตำรับที่มีส่วนผสมของขมิ้นชัน ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ โดยจากสถิติพบว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการท้องเสีย เมื่อใช้ยาธาตุบรรจบรักษาจะช่วยบรรเทาอาการได้ดี

8. ยาปราบชมพูทวีป

          ตำรับยาสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น สามารถใช้ได้ในระยะที่มีการติดเชื้อร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐาน ในกรณีที่มีอาการคัดจมูก หายใจลำบาก และสามารถใช้หลังติดเชื้อเพื่อดูแลระบบทางเดินหายใจได้ โดยรับประทานครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ในขณะที่มีไข้ ตัวร้อน และควรระวังการใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน เนื่องจากยามีรสร้อน รวมไปถึงไม่ควรใช้ในผู้มีความผิดปกติของตับและไต ผู้ที่กินยาวาร์ฟาริน หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร 

9. ยาตรีผลา

สมุนไพร

          ยาตรีผลามีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส โดยจากการศึกษาพบว่า ตรีผลาสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันในคนได้ทั้งภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate immune) และภูมิคุ้มกันจำเพาะ (Adaptive immune) โดยทำให้ T cells, B cells และ NK cells (เซลล์ภูมิคุ้มกัน/เม็ดเลือดขาว) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวช่วยจัดการกับไวรัส อีกทั้งยังช่วยลดการอักเสบ แก้ไอ ละลายเสมหะได้ด้วย ทั้งนี้ การกินตรีผลาแนะนำให้กินครั้งละ 300-600 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการไอ

ข้อควรระวัง : การใช้ยาตรีผลาอาจทำให้มีอาการท้องเสียได้

10. ยาสุมจากสมุนไพรเครื่องเทศ

สมุนไพร

          เช่น หอมแดง ตะไคร้ กะเพรา ใบมะกรูด ขิง สะระแหน่ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่กะละมัง แล้วเติมน้ำร้อนจนท่วม เติมพิมเสนหรือการบูรเล็กน้อย (ถ้ามี) แล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะ โดยคลุมให้ครอบกะละมังสมุนไพรแบบปิดสนิท เพื่อให้ไอระเหยจากไอน้ำลอยขึ้นมาให้เราสูดหายใจ แก้คัดจมูก ขับเสมหะ ไล่น้ำมูกจากทางเดินหายใจ โดยสุมยาได้ครั้งละ 3-5 นาที วันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ข้อควรระวัง : หากมีไข้ ตัวร้อน วิงเวียนศีรษะ ไม่ควรสุมยานะคะ เพราะอาจหน้ามืด เป็นลมได้

11. ยาอภัยสาลี หรืออไภยสาลี

          ตำรับยาสมุนไพรบำบัดโรคลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง และช่วยกระจายลม โดยจากการศึกษาของโรงพยาบาลเทิง พบว่า การใช้ตำรับยาอภัยสาลีรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้ผลดี มีความปลอดภัย และการรับประทานยาอภัยสาลีร่วมกับการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผลเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ลดความเหนื่อย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว ส่วนการรับประทานยาอภัยสาลีให้ใช้ครั้งละ 1.5-2 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้ และควรระวังการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)

12. ตำรับยาบำรุงปอด

          ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยฟื้นฟูปอด ขยายหลอดลม และแก้หอบหืด โดยวิธีใช้คือ ใส่น้ำท่วมตัวยา แล้วนำไปต้มให้เดือด 15 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้วชา วันละ 1-3 ครั้ง ก่อนอาหาร กินได้นาน 3 เดือน หรือตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทย

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่คุมอาการไม่ได้ ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน

          อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรหรือสมุนไพรรักษาโรคไม่ว่าจะชนิดใด ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนไทยหรือเภสัชกร หรือจะโทร. ปรึกษาเรื่องสมุนไพรแบบออนไลน์ที่เบอร์ 0-3721-1289 สายด่วนให้คำปรึกษาการใช้สมุนไพรช่วงโควิด 19 จากสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ซึ่งให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ก็ได้ หรือสอบถามทางเฟซบุ๊กสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2565 เวลา 15:02:27 46,002 อ่าน
TOP
x close