ยาเขียว คืออะไร สรรพคุณช่วยรักษาโควิดได้จริงไหม

          เราเคยได้ยินชื่อยาเขียวกันมานาน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้สรรพคุณของยาเขียวว่าดียังไง ช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้าง
          ตั้งแต่โควิดเข้ามาทำความรู้จักกับชาวโลก สูตรยาต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาและยับยั้งเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้กันอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะสมุนไพรสารพัดชนิด หรือแม้แต่ยาเขียวก็ยังเป็นกระแสเลื่องลือถึงสรรพคุณของตัวยา แต่โควิดกับยาเขียวจะเกี่ยวกันขนาดไหน วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักยาเขียวว่าคือยาอะไร และสรรพคุณยาเขียวจริง ๆ แล้วช่วยรักษาโควิดได้ไหม หรือมีดียังไงบ้าง
ยาเขียว คือยาอะไร
ยาเขียว

          ยาเขียวหรือยาขมเป็นตำรับยาไทยตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ใช้บรรเทาอาการป่วยไข้ ขับพิษร้อน ไข้ออกผื่น หรืออีสุกอีใสมาหลายทศวรรษ โดยยาเขียวจะใช้ส่วนของใบสมุนไพรต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้ยามีสีค่อนไปทางสีเขียวจึงเรียกกันว่า ยาเขียว นั่นเอง

          โดยตำรับยาเขียวมีบันทึกไว้ 3 ตำรับในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์คือ ยาเขียวมหาพรหม ยาเขียวน้อย และยาเขียวประทานพิษ ส่วนตำรับยาเขียวที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 คือ ยาเขียวหอม ซึ่งในปัจจุบันก็มียาเขียวหอมวางจำหน่ายหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นยาเขียวตราใบโพธิ์ ยาเขียวตราใบห่อ หรือยาเขียวตราดอกบัว เป็นต้น

ตำรับยาเขียว มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
ยาเขียว

          ยาเขียวมีส่วนประกอบหลักเป็นใบสมุนไพรหลากชนิดในกลุ่มตัวยา 3 ชนิด คือ ยารสเย็น ยารสขม และยารสสุขุม อันได้แก่ ใบพิมเสน , ใบผักกระโฉม, ใบหมากผู้, ใบหมากเมีย, ใบพรมมิ, ใบสันพร้าหอม, ใบบอระเพ็ด, ใบชิงช้าชาลี, ใบมะระ, ใบสะเดา, ใบน้ำเต้า, ใบหนาด, ใบกะเม็ง, ใบแคแดง, ใบทองหลางใบมน, ใบมะเฟือง, ใบนมพิจิตร, ใบแทงทวย, ใบพริกไทย, ใบน้ำเต้าขม, ใบปีบ, ใบย่านาง, ใบเท้ายายม่อม, ใบหญ้าน้ำดับไฟ, ใบระงับ, ใบตำลึงตัวผู้, ใบฟักข้าว, ใบถั่วแระ, ใบระงับพิษ, ใบเสนียด, ใบอังกาบ, ใบสะค้าน, ใบดีปลี, ใบมะตูม, ใบสมี, ใบลำพัน, ใบสหัศคุณ, ใบกระวาน, ใบผักเสี้ยนทั้ง 2, ใบเถาวัลย์เปรียง, ใบผักกาด, ใบคนทีสอ, ใบมะนาว, ใบมะคำไก่, ใบมะยม, ใบมะเฟือง, ใบสลอด, ใบขี้หนอน, ใบสมี, ใบขี้เหล็ก, ใบผักเค็ด, ใบพุมเรียงทั้งสอง
 

          ส่วนตำรับยาเขียวหอมที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 ประกอบไปด้วย

          - ตัวยารสเย็นที่เป็นใบไม้ สรรพคุณแก้ไข้ ได้แก่ ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย

          - ตัวยารสเย็นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ส่วนของใบ ได้แก่ รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี

          - ตัวยาแก้ไข้ที่มีรสขม ได้แก่ จันทน์แดง และพิษนาศน์

          - ตัวยารสสุขุม ควบคุมร่างกายไม่ให้เย็นจนเกินไป ได้แก่ จันทน์เทศ เปราะหอม ว่านร่อนทอง

          อย่างไรก็ดี ในสูตรตำรับยาเขียวหอมที่บรรจุในประกาศบัญชียาสามัญประจำบ้านฉบับล่าสุด ได้ตัดไคร้เครือออกจากตำรับ เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่า ไคร้เครือที่ใช้ และจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุล Aristolochia ซึ่งพืชในสกุลนี้มีรายงานพบสาร Aristolochic Acid ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (Nephrotoxicity) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002
ยาเขียว สรรพคุณคืออะไร

          ยาเขียวจัดเป็นยาไทยที่รักษาอาการป่วยโดยองค์รวม โดยสรรพคุณของยาเขียวในตำรับยาตั้งแต่โบราณระบุว่า ยาเขียวแก้ไข้ได้ เพราะเป็นยาที่มีรสเย็น ช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย ช่วยคงสมดุลอุณหภูมิในร่างกายจากตัวสมุนไพรรสสุขุม และช่วยปรับการทำงานของธาตุลม

     ส่วนสรรพคุณของตำรับยาเขียวหอม ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2556 มีดังนี้

     1. บรรเทาอาการไข้ที่ไม่รุนแรง

     2. แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

     3. บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส

          อย่างไรก็ตาม สรรพคุณยาเขียวด้านบรรเทาไข้จากโรคหัดและอีสุกอีใส กล่าวคือ ยาเขียวจะช่วยลดการอักเสบ เพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือต้านการออกซิเดชั่น เพื่อให้อาการไข้บรรเทาลง แต่ยาเขียวไม่มีผลกำจัดเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอันก่อโรคหัดหรืออีสุกอีใสนะคะ ยืนยันจากผลการศึกษาในปี 2548 ที่ศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวที่มีในท้องตลาด 3 ชนิด เลย

ยาเขียวกินยังไง ใช้ทาถูในกรณีไหน
ยาเขียว

          ตำรับยาเขียวหอมมีข้อบ่งใช้ตามหลักการแพทย์แผนไทย ดังนี้

ยาเขียวชนิดผง

          * ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1 ช้อนชา

          * เด็ก กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา ละลายน้ำสะอาด 2-4 ช้อนโต๊ะ

ยาเขียวชนิดเม็ด

          * ผู้ใหญ่ รับประทานยาเขียวชนิดเม็ดครั้งละ 1 กรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ  

          * เด็ก อายุ 6 ขวบ-12 ปี รับประทานยาเขียวชนิดเม็ดครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

กรณีใช้ยาเขียวชโลมตัว

          กรณีใช้ชโลมตามตัวหรือบริเวณตุ่มใส ให้ใช้ยาเขียวชนิดผงละลายน้ำในสัดส่วน 1 ต่อ 3 แล้วชโลม (ประพรม) ตามตัวหรือบริเวณที่ตุ่มใสยังไม่แตก
ยาเขียว รักษาโควิดได้จริงไหม

          ต่อเนื่องมาจากคำอธิบายว่ายาเขียวไม่มีผลกำจัดไวรัสก่อโรค ดังนั้นกับโควิด 19 เอง ยาเขียวก็ไม่มีส่วนในการจัดการโคโรนาไวรัสในร่างกายแต่อย่างใด โดยประเด็นนี้ทางห้างขายยาตราใบห่อก็ออกมาย้ำข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กทางการเองเลยว่า ยาขม ยาเขียวไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือการรักษา

          สอดคล้องกับที่ ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า ยาเขียวไม่มีผลโดยตรงต่อตัวไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิดเลย เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการบางประการตามสรรพคุณที่ได้อนุมัติตามทะเบียนบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้เรารู้สึกสบายตัวขึ้นบ้าง เพราะยาเขียวเป็นยาเย็น ช่วยบรรเทาอาการไข้ได้แต่ไม่มีผลทางการรักษา

          ทั้งนี้ทาง อย. ก็แนะนำว่า ยาเขียวอาจลดไข้ได้ไม่ครอบคลุมเท่าการใช้ยาพาราเซตามอล ทว่าการใช้ยาเขียวลดไข้ก็จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยาพาราเซตามอล ในกรณีที่ต้องกินยาติดต่อกัน 5 วัน โดยเฉพาะกับอวัยวะอย่างตับ แต่อย่างไรก็ตาม ยาเขียวก็มีข้อควรระวังในการใช้ที่อยากให้ทุกคนรู้ไว้ด้วย

ยาเขียว กับข้อควรระวังในการใช้
ยาเขียว

          เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ยาเขียวแบบผิด ๆ และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเขียว เราจึงมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังในการใช้ยาเขียวมาเตือนกันไว้ ดังนี้

          1. ไม่แนะนำให้ใช้ยาเขียวในผู้ป่วยต้องสงสัยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากฤทธิ์ยาเขียวอาจบดบังอาการแสดงของไข้เลือดออกจนแพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาดได้

          2. ควรระวังในการใช้ยาเขียวในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ เนื่องจากยาเขียวมีส่วนประกอบของละอองเรณูผสมอยู่

          3. หากใช้ยาเขียวเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไข้ยังไม่ดีขึ้น ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์

          4. กรณีแก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส ห้ามใช้ยานานเกิน 15 วัน

          ยาเขียวเป็นตำรับยาแผนไทยที่ใช้กันมายาวนาน และการที่ยังมีให้ใช้จนถึงปัจจุบันก็หมายความว่ายาเขียวมีสรรพคุณและประโยชน์ที่ใช้ได้อย่างน่าพอใจ เพียงแต่ควรใช้ยาเขียวอย่างถูกวิธีเท่านั้นเอง

 

บทความที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาเขียว คืออะไร สรรพคุณช่วยรักษาโควิดได้จริงไหม อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2564 เวลา 18:02:52 129,845 อ่าน
TOP
x close