ผมร่วงหลังฉีดวัคซีนโควิด อาการเป็นอย่างไร
- มีผมหลุดร่วงเป็นหย่อม อาจเป็นได้ทั้งหย่อมเดี่ยว หรือหลาย ๆ หย่อม ลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร มีขอบเขตชัดเจน
- อาจมีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น คิ้ว เครา หนวด จอน หรือขนตามร่างกาย
- หากเป็นมากอาจมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะหรือขนตามร่างกายร่วงจนหมด
ผมร่วงหลังฉีดวัคซีนโควิด เกิดจากอะไร
สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วมีภาวะผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เกิดขึ้น ถือเป็นอาการที่พบได้น้อยมาก และก็ยังไม่ทราบสาเหตุว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เกิดจากอะไรจึงต้องมีการศึกษามากกว่านี้
แต่จากข้อมูลทางวิชาการคาดว่า เกิดจากวัคซีนมีกระบวนการเลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง จึงเกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณต่อมผมและทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม เช่น
- กรรมพันธุ์ โดยผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย
- การเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การติดเชื้อ หรือได้รับยา-วัคซีนบางชนิด ซึ่งเคยมีรายงานพบโรคผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังฉีดวัคซีนงูสวัด, วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี
- ความเครียดจากภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทที่บริเวณต่อมผม ส่งผลต่อการสร้างผมผิดปกติและวงจรชีวิตของผมเปลี่ยนจากระยะเจริญเติบโตเป็นระยะหลุดร่วงได้เร็วขึ้น
- การเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้, โรคไทรอยด์, โรคลูปัส, ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก, ภาวะการขาดวิตามินดี
ผมร่วงเป็นหย่อมหลังฉีดวัคซีนโควิด รักษาได้ไหม
หากมีผมร่วงเป็นหย่อมเพียงเล็กน้อย อาการจะหายไปได้เอง แต่ถ้าอาการผมร่วงไม่ดีขึ้น หรือมีผมร่วงทั่วศีรษะหรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยารักษา คือ
1. ยาทาสเตียรอยด์ ไมน็อกซิดิล 2-5% โดยใช้วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่
2. ฉีดยาสเตียรอยด์ที่ศีรษะร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิล
3. ยารับประทานในกลุ่มปรับระดับภูมิคุ้มกัน เพื่อบรรเทาอาการผมร่วง
ผมร่วงหลังป่วยโควิด อาการเป็นแบบไหน
การที่มีผมร่วงเยอะมากหลังติดเชื้อโควิด ส่วนใหญ่เป็นอาการของโรคผมผลัด คือ ในช่วง 2-3 เดือนหลังหายป่วย จะมีผมร่วงทั่วศีรษะมากผิดปกติมากกว่า 100 เส้นต่อวัน และอาจร่วงได้ถึงวันละ 300 เส้น แต่ไม่มากเกิน 50% ของผมทั้งศีรษะ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจพบอาการดังกล่าวมาตั้งแต่หลังหายป่วยไปแล้ว 1 เดือนครึ่ง
ขณะเดียวกัน คนที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 ก็อาจมีภาวะผมร่วงเป็นหย่อม ได้เช่นเดียวกับที่พบในผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 บางราย
ผมร่วงหลังป่วยโควิด สาเหตุเกิดจากอะไร
จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่ามีผู้ป่วยโควิดประมาณ 25% ที่เกิดโรคผมผลัด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการติดเชื้อโควิด 19 ที่ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานภายในร่างกาย ส่งผลให้วงจรชีวิตของเส้นผมเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ เส้นผมจึงหลุดร่วงมากกว่าปกติ รวมทั้งภาวะความเครียด ความวิตกกังวลจากการติดเชื้อก็กระตุ้นให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อมได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้ผมหลุดร่วง เช่น การขาดสารอาหาร เป็นโรคไทรอยด์ หรือรับประทานยาบางอย่าง ซึ่งถ้ามีประวัติเหล่านี้ แพทย์อาจทำการตรวจผมและตรวจเลือดร่วมด้วย เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
ผมร่วงหลังป่วยโควิด หายเองได้ไหม ต้องรักษาหรือเปล่า
สำหรับคนที่มีผมร่วงเพราะติดเชื้อโควิด และไม่มีภาวะเจ็บป่วยหรือปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้น อาการนี้จะสามารถหายได้เองภายในเวลาประมาณ 2-4 เดือน หลังจากสาเหตุที่กระตุ้นให้ผมร่วงหมดไป และผมจะค่อย ๆ งอกขึ้นมาใหม่ แต่หากอาการผมร่วงยังไม่ดีขึ้น หรือเป็นมากขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจจะให้ยาไมน็อกซิดิล 2-5% มาทาศีรษะ เพื่อกระตุ้นให้ผมขึ้นใหม่
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีอาการก็ไม่ควรรับประทานยาที่อาจมีส่วนทำให้ผมร่วง เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด Beta blockers, ยารับประทานวิตามินเอและยากันเลือดแข็งตัว แต่กรณีที่ต้องรับประทานยาเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่
บทความที่เกี่ยวกับผมร่วงและอาการป่วยหลังหายโควิด
- เช็กอาการหลังหายจากโควิด 19 มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว (Long Covid)
- ผมร่วงเยอะมาก บอกโรคอะไร เช็กอาการที่ส่อว่าอาจป่วย
- ผมร่วงมากผิดปกติ เกิดจากสาเหตุอะไรนะ ?
- อาหารฟื้นฟูร่างกายหลังหายป่วยโควิด กินอะไรช่วยบำรุง พร้อมวิธีฟื้นฟูร่างกาย
- เช็กแพ็กเกจตรวจสุขภาพปอด หลังหายป่วยโควิด โรงพยาบาลไหนรับตรวจบ้าง
- พยาบาลสาวเปิดใจ ผมร่วงหนักหลังฉีดเข็ม 3 หมอไม่ระบุเป็นเพราะวัคซีน
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมการแพทย์ (1), (2)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล