พยาธิปอดหนู กินเมนูไหนเสี่ยงพลาดท่าพยาธิไชตา ทำตาบอดได้ !

          ไม่อยากตาดับสนิทต้องเลี่ยงพยาธิปอดหนูให้ไกล ว่าแต่เมนูไหนเสี่ยงพยาธิไชตาบ้าง แล้วถ้าเป็นมีวิธีรักษาให้หายไหม

          เมนูอร่อย ๆ บางทีก็แฝงมาพร้อมอันตรายที่ใครก็ไม่อยากเจอ อย่างที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แถลงข่าวพบคนไข้เป็นพยาธิปอดหนูขึ้นตาจนตาบอด เนื่องจากชอบกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ (อ่านข่าว : พิษกุ้งแช่น้ำปลา กินสุก ๆ ดิบ ๆ จนหนอนไชขึ้นตา หมอเผยตาบอด 1 ข้าง) ซึ่งถือเป็นคนไข้รายที่ 19 ของประเทศไทยในรอบ 50 ปี และจากข่าวนี้ก็ทำให้คนสนใจใคร่รู้จักพยาธิปอดหนูกันมากขึ้น งั้นก็อย่ารอช้า มาดูกันเลยดีกว่าว่าพยาธิปอดหนูคืออะไร มาจากไหน เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร และมีอันตรายยังไงบ้าง

พยาธิปอดหนู คืออะไร
พยาธิปอดหนู

          พยาธิปอดหนู หรืออีกชื่อคือพยาธิหอยโข่ง เป็นพยาธิตัวกลมที่มีชื่อเต็ม ๆ ในภาษาอังกฤษว่า Angiostrongylus cantonensis แต่ที่เรียกว่าพยาธิปอดหนูก็เพราะเป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู ตัวเต็มวัยมีลักษณะรูปร่างเรียว ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ตัวเมียจะมีลายเป็นเกลียวขาวสลับดำอยู่ในตัว ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าและที่หางจะมีแผ่นบาง ๆ เล็ก ๆ แผ่ออกมา

         โดยพยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 เวลาหนูถ่ายก็จะปะปนออกมากับมูลหนู แล้วไชเข้าหอยทาก หรือ หอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด หรือปลาน้ำจืดเพื่อหาที่อยู่ใหม่ และจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งก่อโรคในมนุษย์ได้

          พยาธิชนิดนี้พบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ที่มักพบผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง

พยาธิปอดหนู เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
พยาธิปอดหนู

          หลายคนสงสัยว่าเรารับพยาธิปอดหนูเข้าสู่ร่างกายจากทางไหน ก็ต้องบอกว่า จากการกินอาหารที่มีพยาธิปอดหนูปะปนอยู่นี่แหละค่ะ โดยเฉพาะคนที่ชอบรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งนอกจากพยาธิปอดหนูก็ยังเสี่ยงรับพยาธิอื่น ๆ เข้าสู่ร่างกายด้วย เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ พยาธิตัวจี๊ด โดยเมนูเสี่ยงพยาธิ ได้แก่

  • กุ้งแช่น้ำปลา 
  • ก้อย ลาบ ลู่ ดิบ 
  • พล่า ยำ น้ำตก อ่อม หมก 
  • กุ้งดอง ทะเลดอง หอยลวก 
  • หมึกชอต
  • ปลาดิบ เช่น แซลมอนดิบ มีพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex)
  • เมนูสัตว์น้ำจืดที่ไม่ปรุงจนสุกอื่น ๆ 
  • เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวที่อาจมีพยาธิปะปนอยู่
  • ผัก-ผลไม้สดที่ไม่ล้างให้สะอาด 

          และเมื่อพยาธิเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะชอนไชไปตามระบบประสาทต่าง ๆ เช่น ขึ้นตา ไขสันหลัง หรือขึ้นสมองได้

พยาธิปอดหนู อาการเป็นอย่างไร
           โดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และตำแหน่งที่พยาธิชอนไชเข้าไปด้วย เช่น หากพยาธิปอดหนูขึ้นตา จะมีอาการตามัวเฉียบพลัน โดยไม่ปวดหรือเคืองตา แต่จะชอนเข้าสู่เยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาฉีกขาด มีเลือดออก และตาบอดได้
พยาธิปอดหนู

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก PR Medicine NU คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร

           ส่วนในกรณีที่พยาธิปอดหนูขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง หลังแข็ง ชัก หมดสติ หรือพบอาการอัมพาตแขน ขา หรือใบหน้าบางส่วน
พยาธิปอดหนู รักษาอย่างไร

          การรักษาโรคพยาธิปอดหนูจะใช้ยาฆ่าพยาธิ และรักษาตามอาการ เช่น ในคนที่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง แพทย์จะให้ยาแก้ปวด หรือเจาะน้ำไขสันหลังเป็นระยะ ๆ เพื่อลดความดันของน้ำไขสันหลังร่วมด้วย แต่หากพยาธิปอดหนูขึ้นตา แพทย์จะรีบทำการผ่าตัดนำพยาธิออกจากดวงตาโดยเร็วที่สุด

          ทั้งนี้ส่วนใหญ่หลังการผ่าตัดผู้ป่วยก็มักจะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ดังนั้นจึงควรป้องกันตัวเองจากพยาธิปอดหนูให้ดี ๆ

พยาธิปอดหนู ป้องกันอย่างไร

การป้องกันพยาธิปอดหนูทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะจำพวกปลาน้ำจืด และหอยน้ำจืดต่าง ๆ 

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ปรุงร้อน สดใหม่ เท่านั้น

  • ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง

  • หากต้องดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ควรต้มน้ำให้สุกจนเดือดจัดก่อนนำมาดื่ม

  • ดูแลสุขอนามัยของตนเองให้ดี 

  • ควบคุมและกำจัดหนูและหอยน้ำจืดที่เป็นพาหะ

            พยาธิปอดหนูอันตรายถึงพิการหรือตายได้เลย ดังนั้นใครที่ชอบกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งหลาย อยากให้พักก่อนนะคะ เพราะนอกจากจะพาตัวเองไปเสี่ยงกับพยาธิปอดหนูหรือชนิดพยาธิอื่น ๆ แล้ว ยังอาจเสี่ยงกับอาการท้องเสีย ท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับพยาธิ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พยาธิปอดหนู กินเมนูไหนเสี่ยงพลาดท่าพยาธิไชตา ทำตาบอดได้ ! อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09:43:57 11,572 อ่าน
TOP
x close