อาการโอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นยังไง ลงปอดเหมือนเดลตาจริงไหม อันตรายแค่ไหนกัน
ทั้งนี้ BA.4 และ BA.5 มีลักษณะเด่นที่ต่างไปจาก BA.2 ดังนี้
-
มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พบการกลายพันธ์ในสายพันธุ์เดลตา
-
มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วกว่า
-
ดื้อต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์มากขึ้น
-
ดื้อต่อยารักษาโรคมากขึ้น
อาการโอมิครอน BA.4 และ BA.5 จากข้อมูลปัจจุบันยังไม่ต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ มากนัก หลัก ๆ คือ มักมีไข้ เจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล ฯลฯ
ทั้งนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ได้เผยข้อมูลอาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.1, BA.4 และ BA.5 ที่เก็บข้อมูลโดยหน่วยงานสาธารณสุขของฝรั่งเศส พบว่า โดยรวมแล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 มีอาการชัดกว่าผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนรุ่นแรก ซึ่งอาการที่พบมากกว่า 50% เรียงตามลำดับ คือ
-
อ่อนเพลีย เมื่อยล้า
-
ไอ
-
เป็นไข้
-
ปวดศีรษะ
-
น้ำมูกไหล
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มอาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจถี่ และหายใจลำบาก รวมไปถึงกลุ่มอาการทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ในผู้ป่วยกลุ่ม BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม
จะรุนแรงไหม ลงปอดหรือเปล่า
อย่างที่ทราบว่าสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี อีกทั้งกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตา จึงทำให้คนหวั่นวิตกอยู่บ้างว่าหากติดเชื้อขึ้นมาจะมีอาการรุนแรง หรือเชื้อลงปอดเหมือนกับเดลตาหรือไม่
เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีข้อมูลจากหลายฝ่ายที่เห็นตรงกันว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 มีการแบ่งตัวเร็วกว่า และเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 จึงอาจติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปอดได้มากขึ้น และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น
สอดคล้องกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขที่ได้เปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อในระหว่างวันที่ 2-22 กรกฎาคม 2565 โดยพบว่า ผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง คือปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 มากกว่า BA.2 จึงอนุมานได้ว่าถ้าติดเชื้อ BA.4/BA.5 น่าจะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ BA.2 แต่จะรุนแรงมากกว่าแค่ไหนยังต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
ขณะที่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก หรืออังกฤษยังไม่ได้สรุปถึงความรุนแรงของโรค มีเพียงข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นที่พบว่า BA.4/BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันและแพร่กระจายเร็วในเซลล์ปอดของมนุษย์มากกว่า BA.2 เพราะจากผลการทดลองในหนู พบว่า BA.4/BA.5 ทำให้หนูทดลองป่วยหนักกว่า BA.2
-
นพ. ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.5 มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน หรือดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่ารุ่นพี่อย่าง BA.1 ราว 3 เท่า และอาจจะมีความสามารถในการเพิ่มจำนวนสูงกว่าทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มติดเชื้อในเซลล์ปอดได้มากขึ้น โดยมีกลไกการเข้าสู่เซลล์คล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลตา สะท้อนแนวโน้มที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้นคล้ายกับสายพันธุ์เดลตา ดังนั้นจึงทำให้มีอัตราการเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
-
ด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Center for Medical Genomics) ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา โอมิครอน BA.5 มีอัตราการแพร่ระบาดมากกว่า BA.2 ขณะที่ประเทศอังกฤษ BA.5 มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 35.14% และเชื่อว่า ประเทศไทยน่าจะมีการทยอยระบาดของ BA.5 มาแทนที่ทุกสายพันธุ์ เพราะสามารถระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2 แต่ความรุนแรงและอาการทางคลินิกน่าจะไม่แตกต่างจาก BA.2
- ขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่า ควรต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุถึงไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ว่าสามารถแพร่ได้เร็วกว่าโควิดสายพันธุ์เดิมทุกสายพันธุ์ และเชื้อไวรัสโรคอื่น ๆ ทุกชนิดในโลก โดยเมื่อเทียบกับไวรัสชนิดอื่นจะพบว่า
- คนติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่น 1 คน แพร่เชื้อต่อให้อีก 3.3 คน
- คนติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา 1 คน แพร่เชื้อต่อให้อีก 5.1 คน
- คนติดเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 หนึ่งคน แพร่เชื้อต่อให้อีก 9.5 คน
- คนติดเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 หนึ่งคน แพร่เชื้อต่อให้อีก 18.6 คน
- คนติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส 1 คน แพร่เชื้อต่อให้อีก 12 คน
- คนติดเชื้อไวรัสหัด 1 คน แพร่เชื้อต่อให้อีก 18 คน
ดังนั้น โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ในขณะนี้จึงแพร่กระจายได้เร็วแซงหน้าไวรัสทุกชนิดในโลก แต่ก็ต้องติดตามเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ เช่น BA.2.75 ที่เพิ่งพบในประเทศอินเดีย เพราะอาจจะแพร่ได้เร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.5 ก็เป็นได้
ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า อัตราการแพร่ระบาดของ BA.5 ใน 83 ประเทศ จากเดิม 37% เพิ่มขึ้นเป็น 52% ในสัปดาห์ถัดมา ส่วน BA.4 อัตราการแพร่ระบาดจากเดิม 11% เพิ่มเป็น 12% แสดงว่า BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วไม่เท่ากัน แต่ BA.5 แพร่ได้เร็วขึ้นและเร็วกว่าแน่นอน
คนที่ติดโควิด 19 มาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟา เดลตา โอมิครอน BA.1 BA.2 แม้จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่ก็ยังติดโควิด BA.4 และ BA.5 ได้อีกนะคะ เพราะสายพันธุ์นี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย และหลบภูมิได้เก่ง ภูมิที่มีอยู่เดิมจึงอาจไม่เพียงพอจะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ โดยเฉพาะในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ก็จะเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อได้ง่ายหรือมีโอกาสเป็นโควิดซ้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนครบ
ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเป็นเข็มที่ 4 เพราะมีข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า ผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถ้าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีอาการน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด เท่ากับว่าวัคซีนยังได้ผลในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต
สอดคล้องกับข้อมูลจากทาง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ลักษณะของโควิด 19 มีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีการกลายพันธุ์หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เรื่อย ๆ ทำให้เราต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิกันทุกปี
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการโควิด 19
◆ สังเกตให้ไว ! อาการโอมิครอน ติดเชื้อแล้วกี่วันถึงแสดงอาการป่วยโควิด
◆ อาการโอมิครอน VS ภูมิแพ้อากาศ ต่างกันยังไง รีบเช็กป่วยอะไรกันแน่
◆ อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา
◆ เชื้อโควิดอยู่ในร่างกายได้กี่วัน ถ้าหายป่วยแล้วจะยังแพร่เชื้อได้อีกไหม
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 26 กรกฎาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (2), (3), สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (1), (2), เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (2), เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana, blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย, เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics, กรุงเทพธุรกิจ, เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC, hfocus.org