อาการโอมิครอน VS ภูมิแพ้อากาศ ต่างกันยังไง รีบเช็กป่วยอะไรกันแน่

          เพราะอาการโอมิครอนแสดงออกคล้ายโรคทางเดินระบบหายใจส่วนบน จึงมีอาการคล้ายหวัดธรรมดา ที่บางทีก็ไปคาบเกี่ยวกับอาการภูมิแพ้อากาศจนหลายคนสับสน
          เลิ่กลั่กกันไม่ไหวแล้วกับแค่อาการเจ็บคอเล็กน้อย ไอ จาม และคัดจมูก เพราะสถานการณ์ตอนนี้มีโควิด สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ระบาดหนัก แถมอาการโอมิครอนยังคล้ายไข้หวัด และบ้างก็ไม่แสดงอาการหนักเลย แต่มีอาการคาบเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อากาศไปซะอย่างนั้น เอาเป็นว่าเพื่อความไม่แพนิกไปกันใหญ่ เรามาเช็กความต่างของอาการโอมิครอนกับภูมิแพ้อากาศกันดีกว่า
สาเหตุของโรค
อาการโอมิครอน

          โควิด 19 : เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SAR-CoV-2 ซึ่งสายพันธุ์ล่าสุดที่พบคือ โอมิครอน (Omicron) ที่ส่วนใหญ่เชื้อจะสะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ค่อยลงไปที่ปอดเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา จึงมักไม่แสดงอาการป่วยที่สังเกตเห็นได้ชัด จนอาจคิดว่าเป็นหวัด เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ จึงยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้การแพร่ระบาดกระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยมีมา

          ภูมิแพ้อากาศ : เกิดจากการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อในจมูก โดยปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการคือ ไรฝุ่น หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ รวมไปถึงอุณหภูมิของอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการป่วยทันทีเมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นเหล่านี้

อาการป่วย

ไอ

     - โอมิครอน : มีอาการไอ โดยจะเป็นอาการไอแห้ง ๆ 

     - ภูมิแพ้อากาศ : มีอาการจามเป็นส่วนใหญ่ โดยมักจะจามติด ๆ กันหลายครั้ง หรือบางคนจามไม่หยุด แต่ก็อาจพบอาการไอบ้าง ทั้งไอแห้ง และไอแบบมีเสมหะ และบางคนไอเรื้อรังเหมือนมีอะไรติดอยู่ที่ลำคอ

เจ็บคอ

     - โอมิครอน : มักมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย 

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่มีอาการเจ็บคอ

คัดจมูก

     - โอมิครอน : ไม่ค่อยพบอาการคัดจมูก

     - ภูมิแพ้อากาศ : มีอาการคัดจมูกเด่นชัด

มีน้ำมูก

     - โอมิครอน : มีน้ำมูก โดยพบได้ในบางคน 

     - ภูมิแพ้อากาศ : มักพบอาการน้ำมูกไหลได้บ่อย เพราะเป็นหนึ่งในอาการแพ้อากาศที่เด่นชัด

มีไข้

     - โอมิครอน : ไม่ใช่อาการเด่นของโอมิครอน โดยพบได้ในบางคน แต่หลายคนแทบไม่มีอาการไข้เลย 

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่มีอาการไข้

จมูกได้กลิ่นน้อยลง หรือไม่ได้กลิ่น

     - โอมิครอน : อาการได้กลิ่นลดลงพบในผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้น้อย ต่างจากสายพันธุ์อัลฟา ที่จะมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นชัดเจนกว่า 

     - ภูมิแพ้อากาศ : อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศบางคน

ลิ้นไม่รับรส

     - โอมิครอน : ไม่ค่อยมีอาการลิ้นไม่รับรส

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่พบอาการลิ้นไม่รับรส

คันตา ตาบวม น้ำตาไหล

     - โอมิครอน : ไม่มีอาการคันตา ตาบวม น้ำตาไหล

     - ภูมิแพ้อากาศ : มีอาการคันตา ตาบวม น้ำตาไหล เป็นอาการเด่น เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้กระตุ้นให้เกิดอาการ

ปวดศีรษะ

     - โอมิครอน : พบอาการปวดศีรษะได้บ้าง

     - ภูมิแพ้อากาศ : พบได้บ้างในบางคน

ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

     - โอมิครอน : พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

อ่อนเพลีย

     - โอมิครอน : ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า 

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่พบอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า

เหงื่อออกตอนกลางคืน

     - โอมิครอน : อาจมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนในเวลานอน ในลักษณะเหงื่อออกชุ่มหลังจนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า 

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

ปวดหลัง

     - โอมิครอน : พบว่าผู้ป่วยบางคนมีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง

     - ภูมิแพ้อากาศ : ไม่พบอาการปวดหลัง

หายใจลำบาก

     - โอมิครอน : กรณีเชื้อลงไปที่ปอด อาจทำให้มีอาการหายใจเหนื่อย หายใจลำบาก แต่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ที่เชื้อมักจะลงปอดได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

     - ภูมิแพ้อากาศ : อาจพบอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่คล่องได้ในผู้ป่วยบางราย

การรักษา
อาการโอมิครอน

          โควิด 19 : ตามประกาศเรื่องแนวทางการรักษาโควิด 19 ฉบับปรับปรุง วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จากกรมการแพทย์ ระบุว่า

          1. ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ให้ดูแลตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยจะจัดให้รักษาแบบ Home Isolation ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะให้ยาฟ้าทะลายโจร แต่ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาได้

          2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ และเชื้อยังไม่ลงปอด พิจารณาให้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มยาให้เร็วที่สุด แต่หากพบเชื้อเกิน 7 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการแทรกซ้อน หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะน่าจะหายได้เอง

          3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือมีปอดอักเสบเล็กน้อย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะได้รับการรักษาโดยให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด จ่ายยาเป็นเวลา 5 วัน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ และอาจให้ยา Corticosteroid ร่วมกับฟาวิพิราเวียร์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการและผลเอกซเรย์ปอดแย่ลง

          4. ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดบวม ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 96% ผลเอกซเรย์ปอดแย่ จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน และอาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส Remdesivir ในกรณีที่ปอดอักเสบรุนแรง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 95%

          ภูมิแพ้อากาศ : ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ยาต้านการอักเสบ ที่ช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ยาต้านฤทธิ์สารก่ออาการอักเสบ และยาต้านฮิสตามีน ช่วยลดอาการจาม น้ำมูกไหล คันจมูก และคันตา จากอาการแพ้อากาศ

          โดยตัวยาที่นิยมใช้รักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) หรือยาแก้แพ้ ที่จะช่วยลดอาการจาม น้ำมูกไหล คันตา, ยาหดหลอดเลือด (Decongestant), ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ทั้งชนิดกิน (Oral steroids) และยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Intranasal steroids), ยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug) เช่น Ipratropium bromide, ยาต้านลิวโคไตรอีน (Anti-leukotrienes) ช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุจมูก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

          โควิด 19 : หากอาการรุนแรง อาจมีภาวะปอดอักเสบ ปอดล้มเหลว ไตวาย ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หัวใจวาย และเสียชีวิต

         ภูมิแพ้อากาศ : ภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ ผนังคออักเสบเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากการใช้ยาหดหลอดเลือดนานเกินไป นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และอาการที่ควรระวังมากที่สุดคือหอบหืด

          อาการโควิดโอมิครอนค่อนข้างน่าสับสนกับโรคภูมิแพ้อากาศพอสมควร ดังนั้นหากมีอาการขึ้นมาไม่ว่าจะสัญญาณไหน ลองตรวจ ATK เพื่อคัดกรองความเสี่ยงด้วยตัวเองก่อนก็ได้ ถ้าไม่ติดก็จะได้สบายใจ หรือถ้าติดก็จะได้รีบรักษา
 

ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ทำไงดี นี่เราติดโควิดชัวร์แล้วหรือยัง ?

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการโอมิครอน VS ภูมิแพ้อากาศ ต่างกันยังไง รีบเช็กป่วยอะไรกันแน่ อัปเดตล่าสุด 12 มกราคม 2565 เวลา 22:55:48 32,424 อ่าน
TOP
x close