น้ำมันปลา หนึ่งในอาหารเสริมที่คนกำลังนิยมอย่างแพร่หลาย แต่รู้ไหมว่ากินคู่กับอาหารบางอย่างอาจได้รับประโยชน์น้อยลงก็ได้
Fish oil หรือน้ำมันปลา เป็นอาหารเสริม ที่เป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานของสมอง และลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ถ้าใครกำลังรับประทานอยู่ อยากให้ลองศึกษาดูก่อนว่า น้ำมันปลาไม่ควรกินคู่กับอะไร เพราะหากจับคู่กินพร้อมกันแล้วอาจทำให้ได้รับประโยชน์ของน้ำมันปลาลดน้อยลง หรือน้ำมันปลาอาจไปด้อยค่าอาหารที่กินคู่กันได้ ดังนั้น หากไม่อยากเสียเปล่าก็ไม่ควรมองข้ามข้อมูลต่อไปนี้
น้ำมันปลา ไม่ควรกินคู่กับอะไร
1. อาหารไขมันสูง
ถ้ารับประทานน้ำมันปลากับอาหารไขมันสูง เช่น ของทอด ชีส เนย เนื้อติดมัน ก็เท่ากับเราเติมไขมันเลวเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น น้ำมันปลาก็จะลดไตรกลีเซอไรด์ที่มีอยู่เดิมในร่างกายได้น้อยลง จึงควรลดการบริโภคอาหารไขมันสูงในระหว่างที่รับประทานน้ำมันปลา
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มโอกาสมีไขมันพอกตับ อีกทั้งยังลดไขมันดี หรือ HDL ในเลือดได้อีก ดังนั้น งดแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะดีต่อสุขภาพในทุกด้าน และทำให้อาหารเสริมที่เรากินเข้าไปมีประสิทธิภาพต่อร่างกายได้อย่างเต็มที่ด้วย
3. น้ำมันตับปลา
หากรับประทานน้ำมันปลา (Fish oil) อยู่แล้วก็ไม่แนะนำให้รับประทานน้ำมันตับปลา (Cod Liver oil) พร้อม ๆ กัน เพราะอาจเสี่ยงได้รับไขมันโอเมก้า 3 จนเกินไป และเกิดการสะสมในร่างกาย จนส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้
4. ยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด
เช่น ยาแอสไพริน หรือยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เพราะน้ำมันปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง เสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย ดังนั้น หากกินยากลุ่มนี้อยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินน้ำมันปลา
5. ยาลดความดันโลหิต
หากกินน้ำมันปลาพร้อมกับยารักษาความดันโลหิต หรือสมุนไพรที่มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต อาจเสริมฤทธิ์การลดความดันโลหิตของร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงไปอีก จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
6. ยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดบางชนิดอาจส่งผลให้น้ำมันปลามีประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้น้อยลง
7. ยาลดการดูดซึมไขมัน (Orlistat)
ยาชนิดนี้อาจลดการดูดซึมกรดไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลา จึงไม่ควรกินพร้อมกัน แต่หากจำเป็นต้องกินยาลดการดูดซึมไขมันและน้ำมันปลา ควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือปรึกษาแพทย์-เภสัชกรก่อนทุกครั้ง
น้ำมันปลากินคู่กับวิตามินซีได้ไหม
สำหรับการรับประทานอาหารเสริมน้ำมันปลาและวิตามินซีพร้อมกัน ยังไม่พบหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าจะเสริมหรือลดประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากอาหารเสริมที่กินเพิ่มเข้าไป ควรกินตามคำแนะนำบนฉลากของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด และกินให้ถูกช่วงเวลาก็จะยิ่งดี
น้ำมันปลา กินก่อนนอนได้ไหม
การกินน้ำมันปลาก่อนนอนก็ยังไม่มีหลักฐานไหนระบุว่าทำไม่ได้นะคะ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้กินตามวิธีบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เต็มที่ที่สุด
น้ำมันปลา กินตอนไหนดีสุด
แนะนำให้กินน้ำมันปลาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารภายใน 30 นาที เพื่อให้อาหารที่กินเข้าไปช่วยในการดูดซึมกรดไขมันจากน้ำมันได้ดีขึ้น อีกทั้งการกินน้ำมันปลาในเวลานี้ก็จะช่วยลดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เรอ หรือมีกลิ่นปากได้ด้วย
กินน้ำมันปลาทุกวันอันตรายไหม
โดยทั่วไปแล้วในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีควรได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ประมาณ 250-500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกินน้ำมันปลาได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งบางวันเราอาจได้รับจากอาหารที่กินอยู่เป็นประจำอย่างเพียงพอแล้ว เพราะพบกรดไขมันชนิดนี้ได้ในปลาทะเล ปลาน้ำจืดบางชนิด ปู หอย ถั่วเหลือง ถั่ววอลนัท เมล็ดเจีย เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันจากพืชบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมน้ำมันปลาทุกวันก็ได้ค่ะ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับไขมันมากเกินความต้องการ
อย่างไรก็ตาม แต่ละคนอาจต้องการไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้คำแนะนำถึงปริมาณน้ำมันปลาที่เหมาะสมก่อนรับประทาน
น้ำมันปลา ไม่เหมาะกับใคร
แม้น้ำมันปลาจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะในคนต่อไปนี้
- ผู้ที่แพ้อาหารทะเล
- ผู้ที่กินยาหรืออาหารเสริมบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันปลา
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือติดสุรา
- ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ควรงดน้ำมันปลาก่อนเข้าผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน หรือควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังรับประทานน้ำมันปลาอยู่
- ผู้ที่มีระดับความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่กินยาลดความดันโลหิต เพราะน้ำมันปลาจะเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ หญิงตั้งครรภ์ หญิงกำลังให้นมบุตร รวมไปถึงเด็ก ๆ ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องน้ำมันปลาที่แน่ชัดเท่าไร ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์จะดีกว่าว่าควรเสริมน้ำมันปลาไหม หรือควรกินน้ำมันปลาปริมาณเท่าไรถึงจะเหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปลา
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค, ชัวร์ก่อนแชร์, mayoclinic.org, medicalnewstoday.com, drugs.com