ดื่มชานมเย็นทุกวันเสี่ยงนิ่วในไต แนะวิธีดื่มยังไง ไม่ให้นิ่วถามหา !

           นิ่วในไต เป็นอีกหนึ่งโรคที่คนชอบดื่มชานมเย็นมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน แล้วสงสัยไหมว่า ชานมเกี่ยวข้องกับนิ่วในไตได้อย่างไร
ชานมเย็น

          เครื่องดื่มแก้วโปรดอย่างชานมเย็น มีน้ำตาลในปริมาณที่สูงถึง 11 ช้อนชาต่อแก้ว แค่ดื่มเพลิน ๆ ก็รับไปเหนาะ ๆ 200-250 กิโลแคลอรี หรือเทียบได้กับข้าวขาว 3-4 ทัพพี หากดื่มมาก ๆ นอกจากโรคอ้วนและโรคเบาหวานจะถามหาแล้ว ยังอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคนิ่วในไตด้วย 

          ว่าแต่...ดื่มชานมเย็นจะทำให้เป็นโรคนิ่วในไตได้อย่างไร วันนี้นำข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาเตือนกัน

นิ่วในไต คืออะไร

          "นิ่วในไต" หรือที่เรียกว่า "หินในไต" หรือ "ทรายในไต" เกิดจากการตกผลึกของแร่ธาตุต่าง ๆ ในปัสสาวะ แล้วรวมตัวกันเป็นก้อนแข็ง ๆ มีขนาดตั้งแต่เม็ดทรายไปจนถึงเท่าลูกปิงปอง ซึ่งก้อนนิ่วเหล่านี้จะไปอุดตันทางเดินปัสสาวะ ทำให้อั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการปวดท้องรุนแรง ในบางรายอาจถึงขั้นไตวายได้เลย
 

นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย

ดื่มชานม ทำไมถึงเสี่ยงนิ่วในไต

ชานมเย็น

          อย่างที่ทราบว่า ในชานมนอกจากจะมีน้ำตาลในปริมาณมหาศาลแล้ว ยังมีสารอาหารบางอย่างที่เป็นตัวเร่งให้เกิดนิ่วในไต ได้แก่

น้ำตาลฟรักโทส (Fructose)
           น้ำตาลฟรักโทสจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไตทำงานหนัก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว
แคลเซียม (Calcium)
           ชานมบางชนิดมีส่วนผสมของนม ซึ่งมีแคลเซียมสูง และแคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งอาจตกผลึกเป็นนิ่วได้
ออกซาเลต (Oxalate)

          สารนี้พบได้ในใบชา โดยออกซาเลตจะจับตัวกับแคลเซียม กลายเป็นนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด

วิธีดื่มชานมเย็น ไม่ให้นิ่วถามหา

          คนที่ดื่มชานมเย็นมานานจะให้หักดิบทันทีก็อาจทำไม่ได้ ดังนั้น ทางกรมอนามัยจึงมีคำแนะนำว่า ถ้าอยากดื่มชานมเย็นจริง ๆ ควรดื่มอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดนิ่ว ดังนี้

     1. ลดหวาน สั่งชานมแบบหวานน้อย หรือไม่ใส่น้ำตาลเลยยิ่งดี   

     2. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อให้น้ำเปล่าช่วยเจือจางปัสสาวะ ลดการตกผลึกของแร่ธาตุ

     3. เลือกนมไขมันต่ำ นมพร่องมันเนย หรือนมถั่วเหลือง ช่วยลดปริมาณแคลเซียม

     4. รับประทานทานผัก-ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย มะเขือเทศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว

ชานมเย็น

ภาพจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

           อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถดื่มชานมเย็นได้ แต่ต้องดื่มอย่างพอประมาณ ไม่จำเป็นต้องดื่มทุกวัน หากจะดื่มก็เลือกแบบหวานน้อย และอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าตามเยอะ ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องกับชานม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดื่มชานมเย็นทุกวันเสี่ยงนิ่วในไต แนะวิธีดื่มยังไง ไม่ให้นิ่วถามหา ! อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2567 เวลา 11:37:23 8,818 อ่าน
TOP
x close