ฝีดาษลิง หรือ Mpox สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B) แพร่ง่าย อยู่บ้านเดียวกัน 4 ชั่วโมง ก็เสี่ยงติดเชื้อได้

          ฝีดาษลิง หรือโรค Mpox สายพันธุ์เคลด 1 บี กำลังแพร่ระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ เพราะติดต่อง่ายกว่าเดิม แล้วสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร มาเช็กข้อมูลล่าสุดกัน
ฝีดาษลิง

          โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรคเอ็มพอกซ์ (Mpox : Monkeypox) กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 หลังมีข่าวการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเริ่มกระจายไปในหลายพื้นที่ของทวีปแอฟริกา โดยพบว่าเชื้อที่ระบาดในรอบนี้เป็นสายพันธุ์ เคลด 1 บี (CladeIB หรือ Clade 1B) ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วกว่าเชื้อที่เคยระบาดในปีก่อน รวมทั้งมีรายงานว่าได้ลุกลามไปยังประเทศที่ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยมาก่อน เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศยกระดับให้เชื้อเอ็มพอกซ์ (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันฝีดาษลิง ระบาดไปสู่ทวีปอื่น ๆ 

          วันนี้จึงอยากชวนมาทำความรู้จักโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ เคลด 1 บี รวมถึงติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรอบใหม่เหมือนในทวีปแอฟริกาหรือไม่

ฝีดาษลิง เกิดจากอะไร

          ฝีดาษลิง เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยมีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นพาหะนำโรค และยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โรคนี้มักพบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ก่อนจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
 
  • สายพันธุ์แอฟริกากลาง หรือเคลด 1 (Clade 1) ที่มีความรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10%
  • สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก หรือเคลด 2 (Clade 2) แบ่งเป็น Clade 2A และ Clade 2B สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคืออยู่ที่ประมาณ 1% ส่วนใหญ่ติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย  

ฝีดาษลิง Clade 1B คืออะไร

ฝีดาษลิง Clade1B

          สำหรับฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B) นั้น เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ปรับตัวมาจากสายพันธุ์แอฟริกากลาง (Clade 1) โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า สายพันธุ์เคลด 1 บี แม้จะมีอัตราการเสียชีวิต 1% น้อยกว่าเคลด 1 แต่ก็ติดต่อง่ายกว่าปี 2565 ที่เป็นการระบาดของสายพันธุ์เคลด 2 บี โดยจะเห็นได้จากการแพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีผู้ติดเชื้อเคลด 1 บี ประมาณ 18,000 คน เสียชีวิต 500 กว่าคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 70% แสดงว่าสามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้นผ่านการไอ จาม

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า หากอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด 1 บี ประมาณ 4 ชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง การขยี้ตา การไอ จาม ไม่จำเป็นว่าต้องติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์เหมือนสายพันธุ์เดิม แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์นที่มีการแพร่กระจายในอากาศ

ฝีดาษลิง Clade 1B 
ติดต่อได้อย่างไร

          จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1B สามารถติดต่อกันได้ ดังนี้

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย สัมผัสของใช้ของผู้ป่วย 
  • การสัมผัสผู้ป่วยที่มีผื่น ตุ่ม หนอง หรือแผล
  • ละอองฝอยจากทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • ถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกในครรภ์
  • การสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง Clade 1B 
อาการเป็นอย่างไร

ฝีดาษลิง อาการ

          โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 5 วัน ไปจนถึง 21 วัน ดังนั้น หากใครเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาหรือประเทศที่มีข่าวการแพร่ระบาดให้ลองสังเกตอาการตัวเอง ดังนี้  

  • มีไข้ 
  • บางรายมีอาการเจ็บคอ ไอ คล้ายไข้หวัด
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ
  • มีผื่น มีตุ่มใส ตุ่มหนองขึ้นบนผิวหนังรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มตกสะเก็ด

สถานการณ์ฝีดาษลิงในประเทศไทย ล่าสุด

ฝีดาษลิง ในไทยล่าสุด

          ในส่วนของประเทศไทย ยังไม่เคยพบการระบาดของสายพันธุ์เคลด 1 แต่อย่างใด โดยสายพันธุ์ที่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567 มีเพียงสายพันธุ์เคลด 2 ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบสายพันธุ์เคลด 2 อยู่ 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1 

          ทั้งนี้ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในไทยเป็นสายพันธุ์ย่อย C.1 คิดเป็นสัดส่วน 85.34% ซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาดที่เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2 บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเพื่อปรับตัวตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อย C.1 ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น โดยมีลักษณะการแพร่เชื้อที่ไม่รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 1% ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ 

          ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - 10 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด 2 จำนวน 140 คน เสียชีวิต 3 คน โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรทั้ง 2 สายพันธุ์ และจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มมาตรการและเข้มงวดการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดอย่างเคร่งครัด

          ทว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 กรมควบคุมโรค แถลงข่าวพบผู้ป่วยชาวยุโรปที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาเข้ามาในประเทศไทย ต้องสงสัยป่วยโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1 บี แต่จะมีการตรวจหาสายพันธุ์เพื่อยืนยันความชัดเจนอีกครั้ง หากใช่ จะถือเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์เคลด 1 บี รายแรกที่พบในไทย

ฝีดาษลิง การรักษาเป็นอย่างไร

          การรักษาโรคฝีดาษลิงขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย 

  • ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่รุนแรง จะรักษาตามอาการประมาณ 21 วัน หรือจนกว่าผื่น ตุ่ม จะตกสะเก็ดและหลุดลอกออกหมด โดยอาจให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือแยกกักตัวที่บ้าน ส่วนมากจะหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์
     
  • ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรครุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน จะได้รับการติดตามและรักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะให้ยาเทคโควิริแมท (Tecovirimat) เพื่อลดความผิดปกติรุนแรง หรือลดอาการแทรกซ้อนที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
ฝีดาษลิง การรักษา

ภาพจาก : สคร.5 ราชบุรี กรมควบคุมโรค

วิธีป้องกันฝีดาษลิง 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดหรือคนพลุกพล่าน
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  • ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของไวรัส เช่น หนู ลิง กระรอก กระต่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของฝีดาษลิง 
  • ไม่คลุกคลี หรือสัมผัสตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือซากสัตว์ป่า 
  • บริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก 
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด
  • หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาหรือพื้นที่เสี่ยง สามารถฉีดวัคซีนโรคฝีดาษลิงได้ ซึ่งสามารถป้องกันความรุนแรงได้ 68-80% 

วัคซีนฝีดาษลิง ฉีดได้ที่ไหน 

          ปัจจุบันทางคลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้เปิดบริการฉีดวัคซีน JYNNEOS เพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ในราคาเข็มละ 8,500 บาท โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน  
วัคซีนฝีดาษลิง

ภาพจาก : ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

วัคซีนฝีดาษลิง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สภากาชาดไทย Thai Red Cross Society

          โรคฝีดาษลิง เข้าใกล้มากกว่าที่คิด เราจึงควรป้องกันตัวเองอย่างดีและติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับโรคที่พร้อมระบาดได้ทุกเมื่อ สำหรับคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หากมีอาการต้องสงสัยสามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หรือติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค

บทความที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝีดาษลิง หรือ Mpox สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B) แพร่ง่าย อยู่บ้านเดียวกัน 4 ชั่วโมง ก็เสี่ยงติดเชื้อได้ อัปเดตล่าสุด 22 สิงหาคม 2567 เวลา 06:55:41 27,160 อ่าน
TOP
x close